'Produce 101' กลายเป็นต้นแบบรายการแข่งขันไอดอลอีกหลายรายการที่จะสร้างออกมาในภายหลัง
2017-08-04 11:29:07
Advertisement
คลิก!!!

จากความสำเร็จของ Mnet 'Produce 101' Season 1,2 ส่งผลให้ Wanna One, NU'EST ความนิยมพุ่ง…
ช่องเคเบิล, บริษัทยักษ์ใหญ่เดินเครื่องการผลิต
หากระดับความเป็นที่รู้จักสูงก่อนการเดบิวท์ ก็จะมีแฟนคลับมากขึ้น ลดภาระของบริษัท

จุดสนใจมากที่สุดในวงการเพลงช่วงครึ่งปีหลังก็คือ 'Wanna One' วงไอดอลชายที่มีสมาชิก 11 คน และจะเดบิวท์ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ถึงแม้ว่าไอดอลวงนี้จะประกอบไปด้วยเด็กฝึกจากบริษัทเล็กๆ และยังเป็นเด็กหน้าใหม่ แต่ก็มียอดสั่งจองอัลบั้มเดบิวท์ล่วงหน้ามากกว่า 500,000 ชุด ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีแต่ไอดอลระดับสูงอย่าง EXO หรือ BTS เท่านั้นที่สามารถทำได้ Wanna One จะจัดงานคอนเสิร์ตที่ Gocheok Dome ที่รองรับผู้ชม 20,000 ที่นั่ง พร้อมๆ กับการเดบิวท์ ซึ่งบัตรคอนเสิร์ตก็จำหน่ายหมดเกลี้ยงภายในเวลา 1 นาที หลังจากเปิดขาย จนทำให้ราคาบัตรผีพุ่งสูงถึง 8 ล้านวอน

'NU'EST' วงไอดอลที่เหมือนกับไม่มีชื่อเสียงหลังจากเดบิวท์ในปี 2012 ก็ได้เปิดตัวเพลงใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ และขึ้นครองอันดับ 10 ในชาร์ตเพลงดิจิตอลต่างๆ เช่น Melon ส่วน Loen บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีไอยูเป็นศิลปินในสังกัด ก็โดดมาร่วมปั้นวงไอดอลที่ชื่อว่า 'JBJ' ที่รวมตัวเหล่าเด็กฝึกจากบริษัทเล็กๆ ซึ่งจุดร่วมหนึ่งเดียวของทั้งสองวงก็คือสมาชิกวงเป็นผู้เข้าร่วมรายการ 'Produce 101' Season 2 รายการแข่งขันของ Mnet นั่นเอง 'Model 101' จึงกำลังโดดเด่นเป็นตัวเลือกในวงการเพลงและ K-Pop ที่หยุดชะงักอยู่ในขณะนี้

? บริษัทยักษ์ใหญ่กับ Benchmarking 'Model 101'

'Produce 101' ที่ออกอากาศถึง Season ที่ 2 ในปีนี้ เป็นรายการแข่งขันที่รวบรวมเด็กฝึกไอดอลจากบริษัท 101 คน มาคัดเลือกเพียง 11 คน เพื่อเดบิวท์ โดยการตัดสินเดบิวท์ขึ้นอยู่กับอันดับจากการโหวตของผู้ชมแบบ 100% ไม่มีกรรมการตัดสินเหมือน Superstar K ซึ่งคิมเซจองที่เข้าร่วมรายการใน Season 1 และได้อันดับที่ 2 ก็ได้เดบิวท์เป็นนักร้อง และยังได้รับบทนำในละครช่องเคเบิลภายใน 1 ปีด้วย ในขณะที่จอนโซมีที่ได้อันดับที่ 1 ก็กำลังไปออกรายการวาไรตี้ต่างๆ เป็นผู้ร่วมรายการประจำอยู่เช่นกัน ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ก็กำลังทำผลงานที่ดี โดยได้ทำกิจกรรมเดี่ยวหรือทำกิจกรรมในวงไอดอลวงอื่นอยู่ในขณะนี้

เมื่อเห็นสัญญาณความฮอตของ Produce จนถึง Season 2 สถานีโทรทัศน์ช่องเคเบิลและบริษัทใหญ่จึงเข้าสู่ Benchmarking โดย YG Entertainment เตรียมผลิตรายการแข่งขันระหว่างเด็กฝึกในสังกัดของบริษัท ซึ่ง PD ฮันดงชอลที่เคยทำ 'Produce 101' Season 1 ได้ย้ายมาอยู่ YG และรับหน้าที่ควบคุมรายการนี้ KBS ก็จับมือกับบริษัท Entertainment เตรียมทำรายการแข่งขันที่รวบรวมไอดอลที่เดบิวท์แล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ MBC ก็กำลังวางแผนรายการแข่งขันไอดอลในคอนเซ็ปต์คล้ายคลึงกันอยู่ แม้กระทั่ง Mnet ก็เปิดตัว 'Idol School' รายการแข่งขันอีกรายการหนึ่งที่ก็อปปี้ตัวเองออกมา ซึ่งหลังจากที่ Superstar K ประสบความสำเร็จ ก็มีรายการคล้ายคลึงกันออกมามากมาย และในครั้งนี้ก็เป็นคิวของ 'Produce 101' ที่เป็นต้นแบบของรายการคล้ายคลึงกันที่จะออกมาในภายหลัง

? การผลิตไอดอลที่เป็นธุรกิจเสี่ยงจะฝ่าฟันอุปสรรคได้หรือไม่

การทำตามรายการโทรทัศน์เคเบิลที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การที่เหล่าบริษัท Entertainment ต่างก็ตอบสนองด้วย นับเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยรายการแข่งขันไอดอลนั้น ผู้ร่วมรายการส่วนใหญ่เป็นเด็กฝึกในสังกัดบริษัทหรือเป็นนักร้อง ซึ่งหากไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัท ก็จะไม่สามารถจัดทำรายการได้ ซึ่ง 'Produce 101' Season 1 ก็เคยประสบความลำบากจากการที่บริษัทบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือในการจัดทำ แต่เมื่อรายการประสบความสำเร็จ บริษัทก็เปลี่ยนท่าทีทันที และต่างก็หันมาทำรายการแข่งขันไอดอลด้วย

ในวงการเพลง 'Model 101' มีจุดแข็งใหญ่ๆ อยู่ 2 เรื่อง นั่นก็คือ การการันตีความสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อเข้าร่วมรายการ ก็จะเพิ่มระดับความเป็นที่รู้จักโดยอัตโนมัติ และการแข่งขันที่เป็นรูปแบบการโหวตของผู้ชมด้วยแล้ว ก็มีประโยชน์ในการช่วยรวบรวมแฟนคลับได้ด้วย

จุดแข็งที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ สามารถประหยัดงบการจัดทำและหากำไรได้ เมื่อการแข่งขันในตลาดไอดอลรุนแรง ก็อาจจะมีกรณีที่ต้องใช้เงินลงทุนในการสร้างไอดอลหนึ่งวงมากกว่า 1 พันล้านวอน ยิ่งถ้าออกอัลบั้มและทำกิจกรรมโปรโมทด้วย ก็อาจจะต้องใช้เงินต่อเดือนถึง 100-200 ล้านวอน และวงที่ประสบความสำเร็จมีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น การสร้างวงไอดอลจึงกลายเป็นเหมือนธุรกิจเสี่ยง ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ หากรวบรวมเด็กฝึกในสังกัดจากหลายๆ บริษัทมาแข่งขันกันแบบ 'Produce 101' และสร้างทีมที่คัดเลือก ในสถานการณ์ของบริษัทก็เท่ากับเป็นการลงทุนใน 'กิจการร่วมทุน' ชนิดหนึ่ง ซึ่งทีมที่มีเด็กฝึกจากหลายๆ บริษัทมาร่วมกันอย่าง Wanna One หรือ JBJ ก็จะบริหารร่วมกัน หรือบริหารด้วยวิธีการฝากหน้าที่ไว้กับเอาท์ซอร์ส เมื่อมีกำไรก็แชร์กัน

ผู้เกี่ยวข้องจากบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งได้กล่าวว่า "การถือหุ้นใน 'ต้นไม้ที่มีแวว' แบบ Wanna One แล้วได้กำไร มีความมั่นคงมากกว่าการสูญเงินหลายร้อยล้านวอนในการสร้างไอดอลที่ไม่ชัวร์ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่"

ที่มา : Chosun
แปลโดย : http://www.popcornfor2.com

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X