ถูกจังตังค์ไม่หมดเป๋า! เที่ยว 5 จุดสุดประหยัดต้อนรับวันแรงงานไทย ฟรุ้งฟริ้งโดนใจ
2015-04-30 14:45:58
Advertisement
คลิก!!!

สวัสดีวันแรงงานแห่งชาติ หลายคนได้หยุดยาวกันอีกแล้ว โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศก็ได้มีโอกาสหยุดพักผ่อนกันอย่างเต็มอิ่ม

หยุดยาวอีกระลอกแบบนี้ก็ได้เวลาแพลนทริปท่องเที่ยวกันอีกครั้งน่ะสิ แต่บางคนแอบบ่นว่า ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเที่ยวจัดเต็มไปหน่อย จะแพลนทริปต่างจังหวัดอีกกระเป๋าคงฉีกแน่ ไม่ต้องเป็นกังวลไป วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ ขอเสนอ 5 แหล่งท่องเที่ยวสุดประหยัดใกล้ๆ ในกรุงเทพมหานครนี่เอง รับรองไม่เปลืองค่าน้ำมันมหาโหด แถมได้ชิลเต็มที่ไปกับวันหยุดพักผ่อนของคุณได้ด้วย

ว่าแต่จะมีที่ไหนกันบ้าง ตามมาดูทางนี้เลย

1. พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ภายในพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ไหนๆ ก็เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ขอเกาะกระแสพาไปเที่ยวชม พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกันสักหน่อย ที่นี่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีนิทรรศการถาวร บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แรงงานไทยในแต่ละยุคสมัย ภายในออกแบบเป็นห้องจัดแสดงและให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แรงงาน 7 ห้อง ได้แก่

- ห้องแรงงานบังคับไพร่ทาส ในสังคมไทยโบราณ แสดงถึงสังคมไทยยุคโบราณที่มีการปกครองในระบอบศักดินา มีแรงงาน ไพร่-ทาส ซึ่งเป็นแรงงานบังคับ เป็นกลุ่มคนที่ทำทั้งการเกษตร การก่อสร้างวัดวา เวียงวัง ถนนหนทาง ตลอดจนเป็นทหารป้องกันประเทศ

ห้องจัดแสดงแรงงานยุคกุลีจีน

- ห้องกุลีจีน แรงงานรับจ้างรุ่นแรก ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมศักดินาสู่ระบบทุนนิยม ชาวสยามยังเป็นแรงงานบังคับในระบบไพร่ ไม่มีอิสระที่จะไปรับจ้าง จึงมีการใช้แรงงานจีน หรือ กุลีจีน ซึ่งเป็นแรงงานต่างชาติ แรงงานจีนถือเป็นแรงงานรับจ้างรุ่นแรกๆ ในการทำงานบุกเบิกสังคมไทย โดยต้องมีการผูกปี้ครั่งที่ข้อมือเป็นสัญลักษณ์การเสียภาษีให้รัฐไทยราวปีละ 2 บาท

- ห้องแรงงานสมัย ร.5 ในสมัย ร.5 ถือเป็นยุคแห่งการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในหลายๆ ด้าน มีการปฏิรูประบบสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน สร้างสะพาน ถนนหนทาง เส้นทางรถไฟ การประปา ไฟฟ้า ไปรษณีย์ โทรเลข และโทรศัพท์ มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากมายทุ่มเททำงานและพลีชีพเพื่อความสำเร็จของโครงการปฏิรูป เป็นการปูพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศในยุคต่อๆ มา

โซนหนึ่งในพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

นอกจากนี้ ยังมีห้องกรรมกรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475, ห้องสงครามโลกสู่สงครามเย็น, ห้องศิลปวัฒนธรรมกรรมกร จิตร ภูมิศักดิ์ และห้อง 14 ตุลาฯ ถึงวิกฤติเศรษฐกิจ ก็มีเรื่องราวความเป็นมาของผู้ใช้แรงงานในแต่ละยุคที่น่าสนใจเช่นกัน ใครสนใจไปเที่ยวที่นี่ สามารถเดินทางไปได้ที่ ถนนมักกะสัน แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เปิดทำการทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 10.00 - 17.00 น. เข้าชมได้ฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2251 3173

2. งานวันแรงงานแห่งชาติ สนามหลวง

ริ้วขบวนวันแรงงานแห่งชาติ

อีกหนึ่งงานที่ไม่ควรพลาดสำหรับชาวแรงงานทุกคน นั่นคืองาน 'วันแรงงานแห่งชาติ' ที่จะจัดขึ้น ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าและท้องสนามหลวงเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ทางภาครัฐได้มีกำหนดจัดงานพิธีสงฆ์ช่วงเช้า ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นจะมีการเดินริ้วขบวนวันแรงงานแห่งชาติไปยังท้องสนามหลวง และมีพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ณ ท้องสนามหลวง โดยจะเรียนเชิญนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเปิดวันแรงงานแห่งชาติ พร้อมทั้งเรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์
            
ในงานนี้ ชาวแรงงานจะได้พูดคุย แลกเปลี่ยน และสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับการว่าจ้าง ค่าแรง ความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน มีการอบรมแรงงานสัมพันธ์ชั้นสูง มีสภาความร่วมมือนายจ้างลูกจ้างแก้ปัญหาความขัดแย้ง การช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ เป็นต้น ส่วนใครที่อยากเข้าไปเที่ยวในงานนี้ก็ได้เช่นกัน นอกจากได้เดินเที่ยวหรือปั่นจักรยานเที่ยวรอบๆ สนามหลวงแล้ว ยังเข้าไปชมกิจกรรมต่างๆ ในงานได้ฟรีๆ เช่น การให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงาน การตอบปัญหาชิงรางวัล การปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ พร้อมกิจกรรมสนุกสนานอื่นๆ อีกมากมาย

3. พิพิธบางลำพู

ด้านหน้าเคาน์เตอร์ติดต่อเจ้าหน้าที่

ถัดจากสนามหลวงมาอีกหน่อย บริเวณถนนพระอาทิตย์ใกล้ๆ กับป้อมพระสุเมรุ จะพบกับ 'พิพิธบางลำพู' เป็นพิพิธภัณฑ์ที่น่าเดินชมอีกแห่งหนึ่ง ด้านในร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ ตัวอาคารก็เย็นสบาย เหมาะจะมาเดินเที่ยวหลบร้อนได้เป็นอย่างดี ที่นี่ถูกบูรณะซ่อมแซมมาจากอาคารโรงพิมพ์คุรุสภาเก่า โดยกรมธนารักษ์เป็นผู้ดำเนินการ แต่เดิมสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ฝึกสอนช่างพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอาคารจากกรมศิลปากรเมื่อปี 2543

ภายในแบ่งออกเป็นสองชั้นและแบ่งเป็นห้องนิทรรศการต่างๆ คือ บริเวณชั้น 1 อาคารปูน จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องจากอาคารหลังนี้ก่อสร้างขึ้นในปี 2475 ซึ่งเป็นปีพระราชสมภพของพระองค์นั่นเอง ถัดมาคือ ป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงความเป็นมาของเมื่อแรกเริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี กลางห้องมีแนวกำแพงเก่าที่จำลองขึ้น ทำให้ทราบเรื่องราวของ “กำแพงป้องธานี”

ด้านในประดับไฟสวยงาม

ด้านหน้าทางเข้าพิพิธบางลำพู

บริเวณชั้น 2 อาคารปูน จะมีการนำชมเป็นรอบๆ ละ 30 นาที มีเจ้าหน้าที่นำพาและให้ข้อมูล มีนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับความเป็นมา และบทบาทหน้าที่ของกรมธนารักษ์ที่จะดูแลรักษาทรัพย์สินของแผ่นดินทั้งทรัพย์สินมีค่า ที่สะท้อนวัฒนธรรมและประเพณีของชาติ ที่ดิน หรือเหรียญกษาปณ์

ส่วนอาคารไม้ชั้น 2 เป็นโซนสีสันบางลำพู จัดแสดงชุมชนหลากเชื้อชาติยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มาขุดคลองรอบกรุง และปักหลักอยู่อาศัยในบริเวณนี้ จนถึงยุคสมัยรัชกาลที่ 5 และเข้าสู่ยุคก่อนจะมาถึงปัจจุบันที่เรียกว่ายุค “พระนครเซ็นเตอร์” บอกเล่าเรื่องบางลำพู ไม่ว่าจะเป็นแหล่งของกินอร่อย สวนสาธารณะของชาวพระนคร รวมไปถึงแหล่งบันเทิงยามค่ำคืน

หนุ่มสาวยุคพระนครเซ็นเตอร์

ภายในพิพิธภัณฑ์ พิพิธบางลำพู

มีมัคคุเทศก์ต้อนรับ และพาเที่ยวชม

ที่นี่เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น. และมีค่าเข้าชม 100 บาท ราคาอาจสูงไปนิด แต่รับรองว่าคุ้มค่าทุกตารางนิ้วในการเข้าไปเที่ยวชมจริงๆ สอบถามโทร. 0 2629 1850 หรือ www.facebook.com/pipitbanglamphu 

4. สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ 

ภายในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ

ใครว่าการไปเที่ยวชมโลกใต้น้ำอย่างอควาเรียมต้องเสียเงินซื้อตั๋วแพงๆ ขอบอกว่าไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป ถ้าคุณรู้จัก 'สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดกรุงเทพมหานคร' ที่นี่เป็นอควาเรียมสัตว์น้ำจืดที่มีค่าเข้าชมแสนถูก ผู้ใหญ่จ่ายเพียง 20 บาท เด็ก 10 บาท ส่วนผู้สูงอายุและผู้พิการเข้าชมได้ฟรีๆ

อควาเรียมน้ำจืดแห่งนี้เปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 นับเป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่กรมประมง ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เป็นสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ น้ำจืดและพืชน้ำจืดหลากหลายชนิด ภายในอาคารแบ่งเป็น 3 ชั้น จัดแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดท้องถิ่นของไทยชนิดต่างๆ ประมาณ 560 ชนิด ทั้งปลาสวยงาม ปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ปลาหายาก และปลาใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีปลาน้ำจืดต่างประเทศด้วย

ปลาน้ำจืดสวยงาม

โดยในบริเวณชั้น 1 จัดเป็นบ่อสัตว์น้ำที่ผู้เข้าชมสามารถสัมผัสได้ มีตู้แสดงพรรณไม้น้ำขนาดใหญ่ชนิดต่างๆ ส่วนบริเวณชั้น 2 มีการจัดแสดงพันธุ์ปลาไทยและปลาสวยงามส่งออกของไทย รวมทั้งการจัดแสดงปลาน้ำจืดต่างประเทศบางชนิดที่น่าสนใจ และสำหรับชั้น 3 เป็นส่วนปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จากอาคารนี้มีทางเดินเพื่อไปชมพรรณไม้น้ำสวยงามของไทย และมีชนิดของพรรณไม้น้ำสวยงามที่ส่งออกประมาณ 100 ชนิด

พันธุ์ไม้น้ำจืดชนิดต่างๆ

ส่วนด้านหลังเป็นอาคารลักษณะของเรือนกระจก (greenhouse) ที่เพาะชำพรรณไม้น้ำทั้งในตู้กระจก และการปลูกพรรณไม้น้ำในแปลงดินรอบๆ อาคาร นอกจากนี้ยังสามารถชมปลาที่เลี้ยงไว้ในบ่อใต้อาคารแห่งนี้ได้ด้วย ที่นี่เปิดให้เข้าชม วันอังคาร - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 16.00 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2940 5623, 0 2940 6543, 0 2562 0600 – 15 ต่อ 5118, 5220, 5221, 5222


5. เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี

เกาะเกร็ดสวยงาม สงบเงียบ

เขยิบออกมาจากความวุ่นวายในเมืองกรุงเพียงเล็กน้อย ก็จะได้เที่ยวพักผ่อนชิลชิลกับวิวแม่น้ำเจ้าพระยาที่ 'เกาะเกร็ด' ที่นี่เป็นเกาะที่เกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา สืบต่อความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และมีชาวมอญมาตั้งถิ่นฐานในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งยังปรากฏหลักฐานตามวัดวาอารามต่างๆ จนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะเจดีย์ทรงรามัญที่จำลองแบบมาจากพระธาตุเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี ตอนนี้เจดีย์ดังกล่าวตั้งเอียงอยู่ริมแม่น้ำ เนื่องจากกระแสน้ำได้กัดเซาะตามวันเวลา แต่กลายเป็นว่าสวยงามไปอีกแบบ

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือการล่องเรือไหว้พระ 9 วัด ตลอดริมน้ำเจ้าพระยา โดยเขามีบริการเรือฟรีวันละ 2 รอบ คือเวลา 10.30 น. และ 12.00 น. ใช้เวลารอบละ 5 ชั่วโมง รับรองว่าเที่ยวอิ่มบุญอิ่มใจแถมสบายกระเป๋า อีกอย่างคือสามารถเดินชม ชิม ช็อป ของกินของฝากที่ตลาดปากเกร็ดได้ด้วย สินค้าของที่นี่ราคาไม่แพงเลย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี โทร. 0 2591 6700, 08 1337 6754, 08 9201 0957, ททท.กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2250 5500

 

ขอบคุณภาพ : tiewpakklangthailabourmuseumaquariumthailand.comlabour.go.th

TheDLPWpipitbanglamphu

ขอขอบคุณที่มา  ไทยรัฐออนไลน์

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X