16 มีนาคม วันนอนหลับโลก
2012-07-21 16:10:37
Advertisement
คลิก!!!



วันนอนหลับโลก ให้ความรู้โรคร้าย (ไทยโพสต์)

รณรงค์วันนอนหลับโลก 16 มีนาคมนี้ กระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงการนอนที่มีคุณภาพ ป้องกันอาการผิดปกติระหว่างนอนหลับ เผยคนนอนกรนเพียบ แต่ไม่สนใจเปลี่ยนพฤติกรรม ห่วงคนไทยป่วยเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ 11.4% เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่อาคาร อปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีการจัดกิจกรรมรณรงค์โครงการวันนอนหลับโลกประจำปี 2555 โดยสมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลก กำหนดให้วันที่ 16 มีนาคมนี้ เป็นวันนอนหลับโลกพร้อมกันทุกประเทศ ซึ่งจัดโดยบริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทย จำกัด ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการวันนอนหลับโลก ร่วมมือกับมูลนิธิโรคนอนกรนและการนอนหลับผิดปกติ โดยมีการบรรยายให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องปัญหาการนอนกรน โรคนอนหยุดหายใจแบบอุดกั้น และความเสี่ยงต่อสุขภาพอื่น ๆ พร้อมจัดนิทรรศการให้ข้อมูลการนอนที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ

พญ.นฤชา จิรกาลวสาน อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ หน่วยระบบทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการมูลนิธิโรคนอนกรนและการนอนหลับผิดปกติ กล่าวว่า แนวคิดหลักของการรณรงค์วันนอนหลับโลกในปีนี้คือ หายใจง่าย นอนหลับสบาย การนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพ และยังมีผลดีต่อความสามารถในการทำงานของร่างกายตลอดทั้งวัน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องง่ายในชีวิต แต่กลับพบว่าคนจำนวนมากมีปัญหาการนอนหลับผิดปกติ ทั้งนอนหลับยาก นอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอน ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ หากไม่ได้รับการรักษาอาการดังกล่าวสามารถพัฒนาไปสู่โรคอื่น ๆ

"ผู้ชายไทยราว 60% มีอาการนอนกรน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยกลางคน ส่วนผู้หญิงไทยที่นอนกรนมีประมาณ 30% ส่วนมากอยู่ในวัยหมดประจำเดือน และมีแนวโน้มว่าคนไทยจะมีอาการนอนกรนเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เร่งแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปัจจัยเสี่ยงคือ นอนไม่พอ ชอบนอนท่าหงาย และความอ้วน รวมทั้งผู้ป่วยภูมิแพ้จมูก คนสูบบุหรี่และดื่มเหล้า โดยพบว่าการนอนกรนเพิ่มโอกาสเสียชีวิตหลังการเกิดเส้นเลือดหัวใจขาดเลือด และเพิ่มโอกาสเกิดโรคเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดหัวใจ ส่วนวิธีรักษามีทั้งลดปัจจัยเสี่ยง การผ่าตัดเพดานอ่อน และการใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม" พญ.นฤชากล่าว

กรรมการมูลนิธิโรคนอนกรนและการนอนหลับผิดปกติ กล่าวว่า แม้ว่าโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับจะมีมากมาย แต่โรคที่พบเห็นได้บ่อยครั้งคือ โรคนอนหยุดหายใจแบบอุดกั้น โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 4% สำหรับในประเทศไทยมีผู้ประสบปัญหาโรคนอนหยุดหายใจแบบอุดกั้นราว 11.4% โดยพบในเพศชายถึง 15.4% และเพศหญิง 4.8% ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ในระหว่างการนอนหลับ เป็นอาการผิดปกติที่เกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจระหว่างหลับ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการหายใจและพัฒนาเป็นโรคอื่น ๆ ที่รุนแรงหรืออันตรายถึงชีวิต

"ผู้ป่วยที่โรคนอนหยุดหายใจแบบอุดกั้นจะหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ แต่ละครั้งเกิดขึ้นตั้งแต่ 10 วินาทีขึ้นไป ซึ่งมีผลให้ร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนในแต่ละช่วงที่ร่างกายหยุดหายใจ ผู้ป่วยมีการหยุดหายใจมากกว่า 5 ครั้งใน 1 ชั่วโมง"

พญ.นฤชากล่าวว่า ผู้ป่วยโรคดังกล่าวเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงใน 4 ปี ได้ประมาณ 3 เท่า เพิ่มโอกาสโรคหัวใจขาดเลือด การเต้นของหัวใจผิดปกติ หัวใจวาย เบาหวาน เส้นเลือดสมองอุดตัน โรคซึมเศร้า กรดไหลย้อน และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ วิธีสังเกต ควรให้คนใกล้ชิดดูว่าหยุดหายใจชั่วครู่ขณะหลับ มีการหลับ ๆ ตื่น ๆ ตอนกลางคืนปัสสาวะบ่อย นอนอ้าปาก คอแห้ง กรนเสียงดังและรุนแรง มีลักษณะหอบหรือสำลัก กระสับกระส่ายตอนนอน รู้สึกหายใจไม่ออกเหมือนจะจมน้ำ และเตะขาบ่อยตอนนอน ส่วนอาการช่วงกลางวัน เมื่อตื่นมาจะไม่สดชื่นแม้จะนอนพอ ง่วงนอนกลางวัน รู้สึกว่าความจำไม่ค่อยดี พญ.นฤชากล่าว

ส่วนเด็กก็มีอาการโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับได้เช่นกัน โดยเฉพาะเด็กอ้วน ทั้งนี้ ผู้ที่คิดว่าตนเองมีอาการโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อรักษา ไม่ควรปล่อยไว้เป็นเวลานาน ในเบื้องต้นแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอดนอน ลดน้ำหนักอย่างถูกต้อง แต่ละคืนนอนไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมงเป็นประจำ ออกกำลังกายพอเหมาะ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

ข้อมูลจากกระปุกดอดคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X