ฮือค้าน ITU ออกกฎเสียเงินทุกครั้งที่คลิก ชี้กระทบ SME-การศึกษา
2012-11-03 16:19:14
Advertisement
คลิก!!!
ฮือค้าน ITU ออกกฎเสียเงินทุกครั้งที่คลิก ชี้กระทบ SME-การศึกษา



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            นัก วิชาการ ค้าน ITU ออกกฎโทรคมนาคมใหม่ เกี่ยวกับการระบุตัวตนในการใช้อินเทอร์เน็ต-จ่ายเงินทุกครั้งที่คลิก บอกกระทบธุรกิจรายย่อย และการศึกษาผ่านออนไลน์แน่นอน อีกทั้งยังเป็นการลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล ไม่มั่นใจ ITU จะไม่ดูข้อมูลผู้ใช้ พร้อมจวกรัฐบาลดำเนินการล่าช้า และไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน

          เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม  สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ร่วมกันจัดเสวนา " NBTC Public Forum" ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ "ITU จะกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต : ไทยควรมีท่าทีอย่างไร" ที่ สำนักงาน กสทช.

            ทั้งนี้ การจัดเสวนาดังกล่าว สืบเนื่องจาก วันที่ 3-14 ธันวาคม 2555 ในการประชุมว่าด้วยการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (World Conference on International Telecommunications :WCIT) ณ รัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จะพิจารณาหาข้อสรุปการกำกับดูแลการบริการอินเทอร์เน็ตตามสนธิสัญญาการบริหาร โทรคมนาคม (ITRs) โดยมีผู้เสนอให้ผู้ใช้ อินเทอร์เน็ต เข้าอยู่ภายใต้กรอบดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริการอินเทอร์เน็ตในเชิงธุรกิจ กล่าวคือ ผู้ใช้อาจจะต้องจ่ายเงินเสียค่าบริการทุกครั้งที่คลิกก็ได้

            โดย ศ.ดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหารอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ประเทศไทย ISOC มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ผลกระทบการแก้ไขสนธิสัญญาจะเกิดขึ้นเมื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และคลิกเข้าไปยังเนื้อหา และผู้ใช้งานก็จะถูกเก็บค่าบริการ ซึ่ง เป็นผลเสียกับผู้ประกอบธุรกิจในด้านประชาสัมพันธ์สินค้า เนื่องจากต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับสถานศึกษาที่ต้องจ่ายค่านำเสนอข้อมูลบนเว็บไซต์

            ขณะที่ นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กล่าวว่า ทาง ITU ได้เสนอตัวเข้ามาจัดระบบอินเทอร์เน็ตโลก เพราะเห็นว่าไม่มีหน่วยงานใดดูแล ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะปัญหาที่ตามมาคือการระบุตัวตนผู้ใช้ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ใช้นั้น โดนล้วงข้อมูลส่วนตัวได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นการลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลอีกด้วย ทั้งนี้ส่วนตนขอเสนอว่า เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจ SME ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อในการขายสินค้าว่า กระทรวงไอซีทีควรเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในภาษาเข้าใจง่ายแก่สาธารณชน เพื่อนำเสียงสะท้อนของประชาชนไปเป็นข้อเสนอแนะของประเทศไทย และนำเอาข้อเสนอดังกล่าวมาหารือ ก่อนที่จะนำไปประชุมกันอีกครั้งที่ รัฐดูไบ ในเดือนธันวาคมนี้

            ส่วนทางด้าน ดร.พูลผล สื่อเสาวลักษณ์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระบุว่า อินเทอร์เน็ตมีความจำเป็นในวงการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากนักศึกษาบางกลุ่มใช้อินเทอร์เน็ตในการเรียนและการสอบผ่านเครือข่าย เพราะฉะนั้นหากในสนธิสัญญาให้แสดงตัวตนของผู้ใช้นั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะโดนผู้อื่นล้วงข้อมูลส่วนตัวได้

            ด้าน ดร.อาจิณ จิรชีพพัฒนา ผอ.สำนักกิจการระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ทางกระทรวงไม่อยากให้หลายฝ่ายกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก และทาง ITU ก็เล็งเห็นปัญหาในการป้องกันที่ไม่ดีพอของระบบอินเทอร์เน็ต จึงยื่นมือเข้ามาช่วยเท่านั้น ส่วนการเรียกเก็บเงินค่าบริการนั้น ก็เปรียบเหมือนการจ่ายค่าบริการไปรษณีย์ตามอัตราส่วนระยะทาง
 
            แต่ทางด้าน ศ.กาญจนา กาญจนสุต อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวเสริมในประเด็นของ ดร.อาจิณ ว่า หากเปรียบการใช้อินเทอร์เน็ตเหมือนการส่งของไปรษณีย์ ก็มีความเสี่ยงตรงที่ผู้กำกับดูแลของ ITU อาจจะแอบดูข้อมูลของผู้ใช้ได้
 
            อย่าง ไรก็ดี ในเวทีเสวนาดังกล่าว ได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกระทรวงไอซีที และรัฐบาลว่า ดำเนินการในเรื่องนี้ล่าช้า ไม่แสดงจุดยืนที่แน่นอน และอาจส่งผลให้เนื้อหาของสนธิสัญญาที่แก้ไขจาก 15 ข้อ มี 6 ข้อที่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเป็นจริงได้ ได้แก่

            1. ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต
            2. การใช้ทรัพยากรเลขหมายในทางที่ผิด
            3. การกำหนดนิยามเรื่องบริการโทรคมนาคม
            4. ระบุตัวตนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและประวัติการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต
            5. คุณภาพบริการ
            6. ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย

            ทั้ง นี้ หากประเทศไทยไม่เห็นด้วยในสนธิสัญญาตาม 100% ของสมาชิก จะต้องถูกบล็อกการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจาก 179 ประเทศทั่วโลก เเต่หาก 25% ไม่เห็นด้วยจะต้องนำมาเเก้ไขใหม่

 

 

 

ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X