ปัสสาวะเล็ด...ปัญหาผู้หญิง 35 ปีอัพ ต้องเจอ
2012-07-21 16:24:26
Advertisement
คลิก!!!

ปัสสาวะเล็ด


ปัสสาวะเล็ด...ปัญหาผู้หญิง 35 ปีอัพ ต้องเจอ (ไทยโพสต์)

ภาวะปัสสาวะเล็ดราด หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า "อาการช้ำรั่ว" นั้นมักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยพบในผู้หญิง 25% ทั่วโลก และสำหรับประเทศไทยจะมีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 20 ของผู้หญิงตั้งแต่วัยเจริญพันธุ์ถึงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งภาวะนี้ทำให้คุณภาพชีวิตผู้หญิงแย่ลง ส่งผลกระทบทั้งทางสังคมและจิตใจ เกิดการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอจากต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึก สมาธิการทำงานหมดไปกับการเข้าห้องน้ำบ่อยครั้ง รวมทั้งเกิดความกลัวในการเดินทางเนื่องจากกังวลเรื่องห้องน้ำ ทำให้ผู้มีปัญหาปัสสาวะเล็ดมักมีอาการซึมเศร้า ปิดตัวจากสังคมร่วมด้วย

รศ.นพ.สุวิทย์ บุณยเวชชีวิน สูตินรีแพทย์ สาขานรีเวชศาสตร์อุ้งเชิงกรานและการผ่าตัดซ่อมเสริม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "หัวเราะรับเรื่องซึม ๆ กับปัญหาปัสสาวะเล็ดของผู้หญิง" ในงานแถลงข่าวเปิดตัว "POISE" (พ้อยส์) แผ่นซึมซับปัสสาวะ ถึงสัญญาณเตือนภัยหรืออาการของภาวะปัสสาวะเล็ด ว่า

"อาการภาวะปัสสาวะเล็ดจะมากน้อยต่างกันออกไป 4 ประเภทกลุ่ม กลุ่มแรกคือ อาการปวดราด (Urge Incontinence) เป็นชนิดที่มีอาการปวดปัสสาวะรุนแรงจนเล็ดราดออกมา ไม่สามารถรอไปเข้าห้องน้ำได้ทัน ซึ่งมักเกิดกับผู้หญิงวัยทำงาน โดยต้องรักษาด้วยการกินยา และการเปลี่ยนพฤติกรรม

กลุ่มที่ 2 อาการไอจามปัสสาวะเล็ด (Stress Incontinence) เป็นชนิดที่มีปัสสาวะเล็ดราดออกมาก เมื่อมีการเพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น ไอ จาม หรือหัวเราะ อาการลักษณะนี้มักพบในผู้หญิงที่เริ่มมีอายุ น้ำหนักมาก เคยมีประวัติคลอดบุตรยาก เคยมีการผ่าตัดบริเวณรอบท่อปัสสาวะ หรือเคยรับการฉายรังสีรักษาบริเวณนั้นมาก่อน ประเภทนี้ใช้การรักษาหลักด้วยวิธีการผ่าตัด และการฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

กลุ่มที่ 3 Mixed Incontinence เป็นกลุ่มที่มีอาการทั้งสองกลุ่มข้างต้นร่วมกัน ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือชนิดที่มีปัสสาวะเล็ดราด ร่วมกับมีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะในปริมาณมาก แล้วไหลล้นออกมา ซึ่งถ้าหากคุณผู้ชายมีอาการปัสสาวะเล็ดก็มักจะอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากต่อมลูกหมากโต หรือในผู้ป่วยที่มีระบบประสาทที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะเสียไปจากอุบัติเหตุ เนื้องอก หรือโรคเบาหวานที่รุนแรงบางประเภท"

ศ.นพ.สุวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางรักษานั้นต้องดูตามอาการและสาเหตุของปัญหา มีทั้งกินยา การใช้ฮอร์โมนทดแทน การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยการขมิบช่องคลอด หรือแม้แต่การผ่าตัด โดยการคล้องท่อปัสสาวะด้วยสายเทปขนาดเล็ก ซึ่งจะมีแผลผ่าตัดเล็กประมาณ 1 ซม. ซึ่งแพทย์จะทำการใช้อุปกรณ์ที่ได้ออกแบบมา สอดคล้องท่อปัสสาวะเพื่อปรับความตึงให้พอดี พักฟื้น 1-2 วันก็กลับบ้านได้ รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น การลดน้ำหนัก อย่าให้ท้องผูก งดสูบบุหรี่ งดดื่มกาแฟ โซดา น้ำอัดลม เนื่องจากมีสารกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายบ่อย

และในอดีตพบว่าผู้หญิงไทยแก้ไขปัญหาภาวะปัสสาวะเล็ดโดยการใช้แผ่นอนามัย หรือผ้าอนามัยมาเป็นแผ่นซึมซับ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ เพราะผ้าอนามัยไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการซึมซับปัสสาวะโดยเฉพาะ ดังนั้นการใช้แผ่นซึมซับปัสสาวะที่เหมาะสม ก็ถือเป็นทางเลือกที่สะดวก ปลอดภัยและถูกสุขอนามัย อีกทั้งยังทำให้คุณผู้หญิงสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ

"ภาวะปัสสาวะเล็ดไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือน่าอับอาย หากคุณผู้หญิงมีความรู้ความเข้าใจ และพร้อมจะรับมือกับปัญหาได้อย่างถูกต้อง ก็จะสามารถใช้ชีวิตทุกวันด้วยความมั่นใจ" รศ.นพ.สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลจากกระปุกดอดคอม






เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X