โรคคาโรชิ ภัยคุกคามถึงชีวิตของคนบ้างาน
2012-07-18 17:45:56
Advertisement
คลิก!!!
ปวดหัว


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

หลายคนอาจจะพูดว่า ตอนนี้ยังหนุ่มยังสาวอยู่ ยังมีแรงพอที่จะทำงานมาก ๆ เก็บเงินให้ได้เยอะ ๆ พอแก่ตัวแล้วจะได้สบาย...ก็ไม่ผิดหรอกนะคะที่จะคิดเช่นนั้น แต่ต้องระวังไว้หน่อยเพราะถ้าโหมงานหนักเกินไปล่ะ เงินที่เก็บไว้แทนที่จะเอาไปใช้ซื้อของ หรือท่องเที่ยว ก็อาจจะต้องควักออกมาใช้รักษาตัวแทน เมื่อป่วยด้วยโรคคาโรชิ โรคแปลก ๆ ที่มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งความร้ายกาจของมันก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย...

โรคคาโรชิ หรือ Karochi syndrome ฟังดูแล้วก็คงไม่คุ้นชื่อเท่าไหร่ แต่ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษจะหมายถึง Death from Overwork หรือ การเสียชีวิตจากการทำงานหนัก พูดง่าย ๆ ก็คือ ทำงานหนักจนตาย หรือบ้างานจนตายนั่นเอง

นั่นหมายความว่า โรคคาโรชิ คือโรคที่เกิดกับคนขยัน ใครที่บ้างาน โหมทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ จนร่างกายรับไม่ไหว ในที่สุดก็ถึงแก่ชีวิต โอ้ว...ฟังดูชักน่ากลัวขึ้นมาแล้ว อย่าเพิ่งวิตกไป มารู้จักเจ้าโรคนี้กันหน่อยดีไหม

โรคคาโรชิ คืออะไรนะ?

แค่ฟังชื่อ "คาโรชิ" ก็พอเดาได้ว่า โรคนี้มีที่มาจากประเทศญี่ปุ่น เราคงเคยได้ยินข่าวว่า พนักงานชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุบ่อยมาก บางคนนั่งรถไฟกลับบ้านอยู่ดี ๆ ก็เสียชีวิตเอาดื้อ ๆ ทางการแพทย์จึงฟันธงว่า สาเหตุการเสียชีวิตน่าจะมาจากโรคคาโรชินี่แหละ ที่เกิดจากการทำงานหนักมาก ๆ จนร่างกายทนต่อไปไม่ได้

โรคนี้มีประวัติมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่นถูกกองทัพสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิด ทำให้บ้านเมืองเสียหายยับเยิน หลังจากนั้น คนญี่ปุ่นจึงต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิมหลายสิบเท่าเพื่อฟื้นฟูประเทศ ซึ่งภายหลัง ประเทศญี่ปุ่นก็กลายเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจจะบอกได้ว่า อดีตที่แสนเจ็บปวดได้ปลูกฝังให้คนญี่ปุ่นเป็นคนขยันขันแข็ง อดทน และผูกพันกับองค์กรมาก อีกทั้งการทำธุรกิจมีการแข่งขันกันสูงมาก ทำให้ชาวญี่ปุ่นทำงานหามรุ่งหามค่ำ พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่กลับบ้านกลับช่อง สุดท้ายเกิดความเครียด โรคต่าง ๆ ก็ถามหา ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง แม้กระทั่งอัมพาต

หลายคนไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้แล้ว จึงยังคงทำพฤติกรรมเดิม ๆ ทำงานหนักจนเครียด พอเครียดแล้วก็ไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือทานอาหารคลายเครียด ทีนี้ทานมาก ๆ เข้า ไขมันในเลือดสูงขึ้น โรคอื่น ๆ ก็ตามมาอีก สะสมไปเรื่อย ๆ นานวันเข้าร่างกายก็น็อก นี่แหละภัยเงียบของการบ้างาน

ฟัง ๆ ดูแล้วมีใครทำพฤติกรรมแบบนี้บ้างเอ่ย ลองมาเช็กอาการกันหน่อยซิ เราเริ่มมีสัญญาณอันตรายหรือยังนะ

ทำงาน


สัญญาณเตือนโรคคาโรชิ

อาการทั่ว ๆ ไปของคนที่ทำงานหนัก ก็คือ มักจะปวดเมื่อยตามตัว ปวดหลัง ปวดท้ายทอย ปวดไหล่ ปวดสายตา คล้ายกับโรคออฟฟิศซินโดรม แต่คนที่ทำงานหนักมาก ๆ จนถึงขั้นเรียกว่า "บ้างาน" ได้นั้น อาจมีภาวะผิดปกติทางอารมณ์เกิดขึ้นด้วย เช่น โมโหเพื่อนร่วมงาน ชอบชักสีหน้า ฉุนเฉียว มองอะไรขวางหูขวางตาไปหมด และให้ความสนใจแต่เรื่องงาน งาน งาน เท่านั้น ไม่ค่อยสนใจคนอื่น ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้นอกจากจะกระทบความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานแล้ว ยังอาจจะมีปัญหากับคนในครอบครัวด้วย

ลองสังเกตดูซิว่า รอบตัวเรามีคนลักษณะแบบนี้อยู่หรือไม่

โรคคาโรชิ อันตรายไหม?

อย่างที่บอกไปแล้วว่า โรคคาโรชิอาจทำให้เกิดโรคร้ายหลาย ๆ โรคตามมา สืบเนื่องจากความเครียด และการพักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่อยังไม่เลิกพฤติกรรมเดิม ๆ ห่วงแต่งาน เครียดแต่งานซ้ำ ๆ ไม่มีเวลาไปออกกำลังกาย ไม่มีเวลาผ่อนคลาย ไม่มีเวลากินข้าว เครียดมาก ๆ ก็ไปสูบบุหรี่ กินเหล้า

เมื่อยังเป็นเช่นนี้ สารพัดโรคมาเยือนโดยมิได้นัดหมายแน่นอนไม่ว่าจะเป็น ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร โรคเก๊าท์ ไตวาย อัมพาต ถุงลมโป่งพอง มะเร็ง อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โรคประสาท ฯลฯ เอิ่ม...แค่ฟังชื่อแต่ละโรคที่อาจเป็นได้ ก็อันตรายแล้วใช่ไหม แล้วอย่างนี้จะบอกว่าไม่น่ากลัวได้อย่างไรล่ะ


ทำงาน


มาป้องกันโรคคาโรชิกันดีกว่า

จริง ๆ เราสามารถป้องกันโรคนี้ได้ง่าย ๆ แค่คุณรู้จักจัดสรรเวลาในการทำงานให้ถูกต้อง ต้องรู้ว่าเวลาไหนที่ควรจะพักผ่อนได้แล้ว ไม่ควรตรากตรำทำงานหนักมากเกินไป ต้องรู้จักปรับเวลาการทำงาน และการพักผ่อนให้สมดุลกัน ตระหนักไว้ก่อนเลยว่า สุขภาพเราสำคัญที่สุด ถ้าเป็นอะไรขึ้นมามันไม่คุ้มกันเลยนะ

อย่างเช่น แต่ละวันที่คุณนั่งทำงานอยู่ ก็ควรจะพักผ่อนบ้าง ทุก ๆ ชั่วโมง สองชั่วโมง ควรหาวิธีผ่อนคลายให้ตัวเอง เช่น เดินออกไปสูดอากาศข้างนอก หรือหลับตา นั่งนิ่ง ๆ สักพัก เพื่อผ่อนคลายความเครียดก็น่าจะดี และถ้าเลิกจากงาน วันหยุดสุดสัปดาห์ มีเวลาว่างเมื่อไหร่ ลองหากิจกรรมอื่น ๆ ทำ เช่น เล่นกีฬา ดูหนัง ฟังเพลง ก็จะช่วยได้มากเลย แต่ถ้าใครเริ่มมีอาการเครียดมาก ๆ ไม่รู้ว่าจะผ่อนคลายความเครียดได้อย่างไร และหาทางออกไม่ได้ ลองปรึกษาแพทย์ หรือขอคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1667 ก็ได้ค่ะ

ขี้เกียจไปก็ไม่ได้ ขยันมากเกินกำลังก็ใช่ว่าจะดี เพราะฉะนั้นเลือกทางสายกลางดีกว่านะคะ อย่าให้การทำงานมาเป็นภัยคุกคามสุขภาพ และชีวิตของคุณเลยนะ


ข้อมูลจากกระปุกดอดคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X