สมิทธ จับตา พายุสุริยะ เคลื่อนเข้าสู่โลก 21 ธ.ค.
2012-11-15 14:40:44
Advertisement
คลิก!!!
สมิทธ จับตา พายุสุริยะ เคลื่อนเข้าสู่โลก 21 ธ.ค.
 
          สมิทธ จับตา พายุสุริยะ โคจรเข้าสู่โลก 21 ธันวาคมนี้ ชี้ หากกระทบผิวโลกจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ หากกระทบมหาสมุทรจะทำให้เกิดคลื่นสึนามิ 
 
          หลังจากมีข่าวว่า ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555 นี้ จะเกิดพายุสุริยะโคจรมากระทบผิวโลก ทำให้เปลือกโลกเคลื่อนตัวอย่างรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก แม้แต่ประเทศไทยด้วย ทำให้คนไทยเริ่มให้ความสนใจกับเรื่องพายุสุริยะมากขึ้น รายการ Thailand Only ทางช่องสปริงนิวส์ จึงได้เชิญ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มาให้ข้อมูลถึงเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน
 
          โดย ดร.สมิทธ ให้ข้อมูลว่า มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากองค์การนาซ่าได้คาดการณ์ไว้ว่า ปรากฏการณ์พายุสุริยะจะเกิดขึ้น 1 ครั้งในทุก ๆ 11 ปี โดยเกิดจากการระเบิดของผิวดวงอาทิตย์ และผลจากการระเบิดนั้นจะส่งพลังงานลงมายังดาวเคราะห์ต่าง ๆ ที่โคจรอยู่รอบ ๆ ดวงอาทิตย์ รวมทั้งโลกด้วย โดยนาซ่าคาดไว้ว่า พายุสุริยะจะโคจรมายังโลกในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555 นี้ แต่ยังต้องติดตามว่าจะกระทบต่อภูมิภาคใดบ้าง

สมิทธ จับตา พายุสุริยะ เคลื่อนเข้าสู่โลก 21 ธ.ค.
          ทั้งนี้ ดร.สมิทธ บอกว่า หากพายุสุริยะมากระทบกับผิวโลกจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้น เพราะจะทำให้เปลือกโลกเคลื่อนตัวอย่างฉับพลัน และหากพายุสุริยะมากระทบมหาสมุทร ก็จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเล เกิดเป็นคลื่นสึนามิซัดเข้าประเทศต่าง ๆ ได้
 
          นอกจากนี้ ดร.สมิทธ ยังยกตัวอย่างผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์พายุสุริยะ เมื่อปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) โดยระบุว่า ครั้งนั้นพายุสุริยะระดับธรรมดาได้ทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าของโรงงานไฟฟ้าในเมือง มอนทรีออล ประเทศแคนาดา ระเบิด เป็นเหตุให้ไฟฟ้าดับทั้งเมืองนานกว่า 9 ชั่วโมง ขณะที่โรงงานปรมาณูก็ยังได้รับผลกระทบจากพายุสุริยะในครั้งนั้นด้วย จึงเชื่อว่า ทางสหรัฐอเมริกากำลังเตรียมการรับมือพายุสุริยะที่กำลังจะเกิดขึ้นในปลายปี นี้แน่นอน
 
          ได้เห็นผลกระทบของพายุสุริยะแล้ว มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจวิตกว่า แล้วพายุสุริยะจะสามารถทำอันตรายต่อร่างกายของเราหรือไม่ เรื่องนี้ ดร.สมิทธ ได้ชี้แจงว่า ยังไม่มีรายงานว่า พายุสุริยะ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อผิวหนัง ดวงตา หรือทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนใด ๆ ขึ้นในร่างกาย  
 
 
ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X