|
‘หัวใจ’ อวัยวะภายในที่สำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ของร่างกาย ทำหน้าที่คอยสูบฉีดเลือดให้ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ เพื่อให้อวัยวะเหล่านั้นสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ และเมื่อเป็นอวัยวะสำคัญ ก็ควรได้รับการดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ หากมีอาการผิดปกติอะไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาการเหล่านั้น อาจเป็นสาเหตุและสัญญาณเตือนของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
สำหรับใครที่เพิ่งเคยได้ยินชื่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้หากได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงที และเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากโรคนี้ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอาการและสาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะกัน
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะคืออะไร?
นอกจากจะเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดให้ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ แล้ว หัวใจยังมีลักษณะพิเศษ คือกล้ามเนื้อสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้เองด้วย ซึ่งภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) คือภาวะที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ เป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทั้งเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ประสิทธิภาพการสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ จึงลดลง ทำให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา
สำหรับอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อย ได้แก่อาการใจสั่น เจ็บหน้าอก เกิดจากการที่แรงบีบตัวของหัวใจไม่เพียงพอต่อการสูบฉีดเลือด ร่างกายอ่อนเพลีย เป็นลม หมดสติ เพราะสมองได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ และอาการที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหัวใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะผิดปกติอื่น ๆ ตามมา เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ ภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายไปเลี้ยงแขนขาอุดตันเฉียบพลัน
สาเหตุการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิต การดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนชนิดอื่น ๆ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ความเครียด ความวิตกกังวล การพักผ่อนไม่เพียงพอ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด การกินยาลดน้ำหนัก การส่งต่อทางพันธุกรรม รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ใครที่กำลังเผชิญกับภาวะนี้อยู่ ในทางการแพทย์ สามารถรักษาได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ และการฝังเครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำให้พบคุณหมอเพื่อทำตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างถูกวิธี จะปลอดภัยที่สุด