ตรวจสเตียรอยด์ปนในผลิตภัณฑ์สมุนไพร…ไม่ยากอย่างที่คิด
2015-07-17 16:07:33
Advertisement
คลิก!!!

รองศาสตราจารย์ ดร. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ 

ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รู้จักกับสเตียรอยด์ 

สเตียรอยด์เป็นสารประเภทฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้น มีประโยชน์ในการควบคุมการเปลี่ยนสภาพของสารคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ตลอดจนควบคุมสมดุลของเกลือแร่ อิเล็กโทรไลต์ และน้ำในร่างกาย และสามารถบรรเทาการอักเสบได้ จึงได้มีการสังเคราะห์ขึ้นเพื่อนำมาใช้เป็นยา ที่มีประโยชน์หลายด้านทั้ง ต้านการอักเสบ ใช้เป็นยากดภูมิคุ้มกัน และใช้ในผู้ที่ขาดฮอร์โมนประเภทนี้ จัดได้ว่าเป็นยาที่มีสรรพคุณดีมาก สามารถใช้รักษาโรคได้หลายชนิด เช่น โรคลูปูส หรือโรคเอส แอล อี (โรคพุ่มพวง) โรคผิวหนังที่เกิดจากการแพ้ โรคหืด เป็นต้น โดยในรูปยามีชื่อว่า เพรดนิโซโลน (prednisolone), เด็กซ์ซาเมทาโซน (dexamethasone) เป็นต้น 

อันตรายของสเตียรอยด์ 

แม้สเตียรอยด์จะเป็นสารภายในร่างกายแต่เมื่อนำมาใช้เป็นยา จะต้องใช้ตามความจำเป็นเท่านั้น มิฉะนั้นจะเกิดอันตราย ยิ่งถ้าได้รับสเตียรอยด์เป็นเวลานานหรือในขนาดสูงมากจะยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้น อันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้น ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เพิ่มน้ำตาลในเลือด กระดูกพรุน ต้อหิน ต้อกระจก เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ผิวบาง หน้ากลมเป็นวงพระจันทร์ หลังเป็นหนอก เป็นต้น ซึ่งเมื่อหยุดสเตียรอยด์กระทันหันจะเกิดอาการขาดสเตียรอยด์ ความดันโลหิตลดต่ำ น้ำตาลในเลือดตกลง ตามมาด้วยการเป็นลมหมดสติ 

ป้องกันอันตรายจากยาสเตียรอยด์ที่ปนปลอมในผลิตภัณฑ์สมุนไพร 

ยาสเตียรอยด์มักพบปนปลอมในยาชุด ยาลูกกลอน ยาสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ ยาพระ รวมทั้งยาที่อวดอ้างสรรพคุณว่ารักษาได้สารพัดโรค ทั้งนี้เนื่องจากยาสเตียรอยด์เป็นยาที่มีคุณอนันต์ แต่โทษมหันต์ มีผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ดังได้กล่าวมาแล้ว ทำให้ผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์อาจเห็นผลในการบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็ว รู้สึกพึงพอใจ จึงทำให้อาจละเลยการรักษาที่สาเหตุของโรคโดยตรง แต่ยิ่งใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานมากขึ้นเท่าใด อาการไม่พึงประสงค์ของยาสเตียรอยด์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับความรุนแรงของโรคที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น หากจะใช้ยาลูกกลอน ยาสมุนไพร เหล่านั้น จึงควรดูเครื่องหมาย อย. ก่อนเลือกซื้อยาดังกล่าว หากไม่มีเครื่องหมาย อย. แปลว่า ไม่ได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานของรัฐ ฉะนั้นจึงควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มียาสเตียรอยด์ปนปลอม 

การตรวจสอบยาสเตียรอยด์ปนปลอม 

หากท่านต้องการใช้ยาลูกกลอน ยาสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ ยาพระ เหล่านั้น แต่ไม่แน่ใจว่ามียาสเตียรอยด์ปนปลอมมาหรือไม่ ท่านตรวจสอบการปนปลอมยาสเตียรอยด์ได้อย่างง่าย ๆ โดยใช้ “ชุดตรวจสอบสเตียรอยด์” ผลิตและจำหน่ายโดย ศูนย์ชุดทดสอบและผลิตภัณฑ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นวิธีการตรวจสอบเบื้องต้น สำหรับตรวจสารสเตียรอยด์ชนิดเด็กซ์ซาเมทาโซนและเพร็ดนิโซโลนที่ปนปลอมในยาแผนโบราณ ใช้การแยกสารด้วย Thin-Layer Chromatography และตรวจสอบด้วยกระดาษทำให้เกิดสีซึ่งจะเปลี่ยนสีของสารสเตียรอยด์ เป็นสีม่วง ปริมาณต่ำสุดที่ตรวจพบได้ คือ 2 ไมโครกรัม1 (รูปที่ 1) 

ทั้งนี้เนื่องจากชุดทดสอบแบบเดิม มีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างหลายขั้นตอน ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ และผู้ชำนาญการในการทดสอบและอ่านผล ทำให้ยุ่งยาก เสียเวลา ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ทำการพัฒนาวิธีการตรวจให้ง่ายขึ้น สามารถนำไปใช้ในภาคสนาม และประชาชนทั่วไปสามารถนำไปใช้ตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะส่งผลให้การคุ้มครองผู้บริโภคทุกพื้นที่เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ชุดทดสอบนี้คือ “DMSc Steroid” เป็นชุดทดสอบสำหรับใช้ในการตรวจสอบเบื้องต้นสำหรับเด็กซ์ซาเมทาโซน และเพร็ดนิโซโลน ซึ่งทดสอบได้ง่ายกว่าชุดทดสอบแบบเดิม ลักษณะการตรวจเป็นแบบให้เชิงคุณภาพ โดยใช้เทคนิคอิมมูโนโครมาโทกราฟี (Immunochromatography) ปริมาณต่ำสุดที่สามารถตรวจวัดได้สำหรับเด็กซ์ซาเมทาโซน เท่ากับ 1 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และสำหรับ เพร็ดนิโซโลน เท่ากับ 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร วิธีการตรวจสอบ มีดังนี้ คือ ถ้าตัวอย่างยาสมุนไพรเป็นยาเม็ด ให้บดให้แตกละเอียด หรือใช้กรรไกรสะอาดตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตักตัวอย่างด้วยหลอดพลาสติกสำหรับตักตัวอย่าง หรือหลอดหยดตัวอย่างที่เป็นของเหลวลงในหลอดทดสอบพลาสติก จากนั้นให้หยดน้ำยาจากขวดบรรจุน้ำยาละลายตัวอย่างลงในหลอดทดสอบที่ใส่ตัวอย่างยาสมุนไพร แล้วปิดจุกพลาสติกให้แน่น จากนั้นเขย่าให้เข้ากันประมาณ 3 นาที ตั้งทิ้งไว้จนเกิดการแยกชั้น จากนั้นดูดน้ำยาส่วนใสไม่ให้มีฟองอากาศ และหยดลงในหลุมทดสอบในลักษณะตั้งตรงทีละหยด จำนวน 4 หยด อ่านผลการทดสอบภายใน 10-15 นาที แล้วสังเกตผล โดยหากพบว่า เป็นเส้นสีแดง 2 เส้น แสดงว่า ไม่มีการปนปลอมของยาสเตียรอยด์ในยาสมุนไพรที่ทดสอบ แต่ถ้าเห็นเป็นเส้นสีแดง 1 เส้น แสดงว่า มีการปนปลอมของสารสเตียรอยด์2 (รูปที่ 2) ชุดทดสอบนี้หาซื้อและสอบถามได้ที่ ศูนย์ชุดทดสอบและผลิตภัณฑ์ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทรศัพท์ 0-2951-0000 ต่อ 98450 

นอกจากชุดทดสอบที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การตรวจสอบการปนปลอมยาสเตียรอยด์ เด็กซ์ซาเมทาโซน และเพร็ดนิโซโลน ในตัวอย่างผลิตภัณฑ์สมุนไพรจำนวนมาก สามารถใช้ “วิธีรงคเลขผิวบาง (Thin layer chromatography, TLC)” ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก ตรวจสอบได้หลาย ๆ ตัวอย่างในเวลาเดียวกัน วิธีนี้เป็นวิธีที่ห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ใช้ในการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและปริมาณของวัตถุดิบสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิธี TLC มีหลักการคือ การแยกสารตามหลักการโครมาโทกราฟี ที่มีวัฏภาคคงที่ และวัฏภาคเคลื่อนที่ หลังจากนั้นจะตรวจสอบสารด้วยน้ำยาพ่นเฉพาะ ในกรณีการตรวจสอบการปนปลอมยาสเตียรอยด์ เดกซ์ซาเมธาโซน และเพร็ดนิโซโลน ระบบ TLC ที่จะแนะนำ คือ วัฏภาคคงที่ Silica gel GF254 ส่วนวัฏภาคเคลื่อนที่ อาจจะเป็น dichloromethane : methanol อัตราส่วน 9:1 หรือ toluene : ethyl acetate : formic acid อัตราส่วน 50:45:10 น้ำยาพ่นที่ใช้คือ tetrazolium blue ซึ่งถ้ามีการปนปลอมสเตียรอยด์ จะเกิดเป็นแถบสีม่วงน้ำเงิน ในระยะเดียวกับสเตียรอยด์ที่ใช้เป็นสารเปรียบเทียบ โดยทั่วไปสมุนไพรมักจะมีสารกลุ่มสเตียรอยด์ที่พืชสร้างขึ้นมาเอง เช่น beta-sitosterol, stigmasterol, campesterol แต่สารดังกล่าวจะมีค่า Rf ที่มากกว่ายาสเตียรอยด์สังเคราะห์ เนื่องจากมีขั้วน้อยกว่า และจะไม่ให้ผลบวกกับน้ำยาพ่น tetrazolium blue เป็นสีม่วงน้ำเงิน บางครั้งผลของทีแอลซีโครมาโทแกรมของตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบอาจจะมีแถบสารที่มีค่า Rf เท่ากับหรือใกล้เคียงกับยาสเตียรอยด์เมื่อตรวจสอบภายใต้แสงอัลตราไวโอเลตที่ความยาวคลื่น 254 นาโนเมตร แต่ถ้าพ่นด้วยน้ำยาพ่นแล้วไม่ให้สีม่วงน้ำเงิน แสดงว่าตัวอย่างดังกล่าวไม่มียาสเตียรอยด์ ทั้งนี้เพราะตัวอย่างดังกล่าวอาจจะมีสารอื่นที่มีขั้วใกล้เคียงกับยาสเตียรอยด์ แต่ถ้าตัวอย่างยาลูกกลอนที่นำมาตรวจสอบมีน้ำตาลเป็นส่วนผสม ผลของโครมาโทแกรมที่พ่นด้วยน้ำยา tetrazolium blue จะพบว่ามีแถบที่ให้ผลบวกเป็นสีม่วงน้ำเงินใกล้จุดเริ่มต้น ทั้งนี้เนื่องจากน้ำยาพ่น tetrazolium blue ให้ผลบวกกับสารกลุ่มน้ำตาลด้วย ซึ่งถ้านำตัวอย่างลูกกลอนที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม มาตรวจสอบกับน้ำยาพ่นโดยตรงโดยไม่มีการแยกสารตามวิธี TLC จะพบผลบวกลวง ฉะนั้นจึงถือได้ว่า วิธี TLC เป็นวิธีที่ใช้ตรวจสอบการปนปลอมด้วยยาสเตียรอยด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด และรวดเร็ว3 (รูปที่ 3) 

รายละเอียดสอบถามได้ที่ ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลตั้งอยู่ ชั้น 5 อาคารราชรัตน์ โทร 02-3544320 หรือ 02-644-8678-91 ต่อ 5538 ได้ในวันและเวลาราชการ

 

เอกสารอ้างอิง

http://th.88db.com/thailand/Central-Region+Nonthaburi/Health/Medical-Equipments-Lab/ad-1445514/

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000108526

นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ อุทัย โสธนะพันธุ์ ประไพ วงศ์สินคงมั่น. ทีแอลซี: วิธีอย่างง่ายในการวิเคราะห์คุณภาพเครื่องยาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2554.

 

ขอบคุณข้อมูล จาก www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/228/ตรวจสเตียรอยด์ปนปลอมในผลิตภัณฑ์สมุนไพร…ไม่ยากอย่างที่คิด/

เนื้อหาโดย : Sanook!

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X