อภ.แนะเตรียมยาจำเป็นในการเดินทาง
2012-07-21 13:52:13
Advertisement
คลิก!!!

ยา

อภ.แนะเตรียมยาจำเป็นในการเดินทาง (กระทรวงสาธารณสุข)

องค์การเภสัชกรรมแนะเตรียมยาจำเป็นระหว่างเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ-หญิงมีครรภ์ พร้อมเตือนระวังโรคช่วงเทศกาล ไข้หวัด-ท้องเสีย-โรคกระเพาะอาหาร-ไข้เลือดออก-กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยถึงการเตรียมยาในระหว่างเดินทางไม่ว่าจะเดินทางในประเทศ หรือต่างประเทศว่า สำคัญที่สุดอันดับต้น คือ การเตรียมยาในส่วนของผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่ จะมีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว ซึ่งยาของผู้สูงอายุจะมียาที่ต้องกินเป็นประจำ ต้องเตรียมยาในปริมาณเท่ากับวันที่เดินทางหรือสำรองเพิ่ม 3-5 วัน และควรจะติดชื่อยาไปด้วยเพราะหากยาตกหล่นสูญหาย จะได้สามารถซื้อยาตัวเดิมหรือเข้าโรงพยาบาล แจ้งแพทย์ได้ว่าเดิมใช้ยาอะไร

ส่วนยารายการอื่น ๆ จะเป็นยาพื้นฐานสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน อาทิ พาราเซตามอลลดไข้ ทั้งชนิดเม็ดและน้ำเชื่อม ยาแก้แพ้ซึ่งสามารถลดน้ำมูก และใช้แก้คันได้ด้วย ยาลดกรดชนิดน้ำซึ่งออกฤทธิ์ได้ดีกว่าชนิดเม็ด ผงเกลือแร่ ผงถ่านกรณีท้องเสีย ยาแก้เมารถ ยาแก้ปวดเมื่อย และอุปกรณ์ทำแผล

สำหรับการรับประทานยาในขณะที่ขับรถนั้นต้องศึกษาก่อนว่า ยาที่รับประทาน มียาตัวใดที่ทานแล้วทำให้ง่วงนอน ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทยาลดน้ำมูก ยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือยาในกลุ่มแก้ปวดไมเกรน ยาคลายกังวลบางชนิด ยาพวกนี้จะทำให้ง่วงนอน ความสามารถในการรับรู้เสียไป ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ กรณีไม่สามารถเลี่ยงได้ ควรปรับเวลาเพื่อพักผ่อนหลังทานยาสัก 1 – 2 ชั่วโมง แล้วจึงขับต่อไป



ยา

ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ยังได้กล่าวถึงโรคที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางด้วยว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โรคที่เกิดขึ้นบ่อย ได้แก่ ไข้หวัด เนื่องจากอุณหภูมิในร่างกายเปลี่ยนแปลงฉับพลันจากอากาศร้อน จากร่างกายที่เปียกน้ำ พักผ่อนน้อย รวมถึงอยู่ในที่ชุมชนก็มีโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่ายที่สุด และอีกโรคคือ ท้องเสีย ต้องเตรียมยาและสำรองเพิ่มสำหรับหลายคน

ส่วนผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ห้ามลืมยาบำรุงที่คุณหมอให้รับประทาน โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีปัญหารกเกาะต่ำซึ่งอาจจะมีปัญหาได้ โดยเฉพาะการเดินทางที่กระทบกระเทือนต้องระวังมาก หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยง และถ้าหากมีอาการฉับพลันขึ้นมาให้เลือกใช้เฉพาะยาพาราเซตามอลเท่านั้น เพื่อลดไข้แก้ปวดหรือใช้คลอเฟนนิรามีนได้เพื่อลดน้ำมูก สำคัญที่สุดควรมีเบอร์โทรศัพท์ของแพทย์หรือพยาบาลที่ฝากครรภ์ไปด้วย ถ้ามีปัญหาจะได้โทรปรึกษาหรือหากมีเหตุสุดวิสัยจริง ๆ ให้เข้าพบแพทย์ที่สถานพยาบาลในพื้นที่นั้น ๆ ทันที

นอกจากนี้ยังมีโรคระหว่างการเดินทางกลับคือ โรคกระเพาะอาหาร เพราะว่าคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอาการจะกำเริบขึ้นมาได้ เนื่องจากการทานอาหารไม่ตรงเวลา และพักผ่อนน้อย อีกโรคที่จะพบมากสำหรับผู้หญิงก็คือ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เนื่องจากระหว่างการเดินทางในช่วงสงกรานต์รถติด ห้องน้ำเข้าไม่ได้ ไม่สะดวก อั้นไว้ สุดท้ายแล้วก็เกิดการติดเชื้อและการอักเสบขึ้น ซึ่งเป็นโรคที่พบมาก

สำหรับการไปเที่ยวป่าหรือน้ำตก ต้องระวังในเรื่องของไข้เลือดออก หรือมาลาเรีย ถ้ามีไข้ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและบำบัดรักษา ไม่ควรสรุปเองว่าอาจเป็นไข้ทานยาพารา หรือ กลับมาบ้านรอดูอาการซึ่งอาจจะไม่ทันการณ์ส่งผลถึงแก่ชีวิตได้

ข้อมูลจากกระปุกดอดคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X