เป็นเอก รัตนเรือง รับรางวัลอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน จากฝรั่งเศส
2013-02-22 16:30:16
Advertisement
คลิก!!!

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Headshot Movie - A Film by Pen-ek Ratanaruang, ครอบครัวข่าว 3

เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังรับมอบอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน จากรัฐบาลฝรั่งเศส ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ไทยชื่อดัง ที่สร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลภาพยนตร์ของประเทศฝรั่งเศส

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายตีแยรี วีโต เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นตัวแทนสาธารณรัฐฝรั่งเศส มอบอิสริยาภรณ์ชั้น Chevalier ตระกูลศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ ให้แก่ผู้ได้รับคัดเลือก ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ถนนเจริญกรุงซอย 36 โดยผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ได้แก่ เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง

โดยท่านทูตตีแยรี วีโต กล่าวชื่นชมเป็นเอกว่า "เราเห็นว่างานที่เป็นเอกทำมีคุณค่าอย่างยิ่ง และเหมาะสมแล้วที่เขาจะได้รับเกียรตินี้ ผมได้ยินมาว่าตอนเป็นเอกรู้ข่าว เขาถึงกับดีใจจนพูดไม่ออก เป็นเอกเคยกล่าวไว้ว่าฝรั่งเศสเป็นเมืองแห่งภาพยนตร์ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และเขาก็ยังเคยกล่าวไว้อีกด้วยว่า สำหรับเขาแล้วฝรั่งเศสยังเป็นเมืองแห่งกาแฟ และหญิงสาว"



เป็นเอก รัตนเรือง

เป็นเอก รัตนเรือง
 

ด้าน เป็นเอก หลัง ติดอิสริยาภรณ์ชั้น Chevalier ได้เปิดเผยความรู้สึกว่า ตนต้องขอขอบคุณรัฐบาลฝรั่งเศส และท่านทูตเป็นอย่างมาก ตนเริ่มต้นกำกับหนังเรื่องแรกเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เรื่องฝัน บ้า คาราโอเกะ และไม่ได้รู้จักโลกภายนอกมากนัก หนังเรื่องแรกได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังที่เมืองน็องต์ หลังจากรางวัลนั้น ตนก็ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้ผลิตชาวฝรั่งเศส ทำให้หนังของตนเรื่องต่อ ๆ มาได้ไปฉายที่เมืองคานส์มาตลอด ตนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรตินี้ ไม่คิดว่างานที่ตนทำจะมีคนเห็นค่า และมีผลไปถึงอีกซีกนึงของโลก

นอกจากนี้ ยังมี สุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัด ในฐานะผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ภาพยนตร์ฝรั่งเศสเป็นที่รู้จักในประเทศไทย ก็ได้รับอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินตระกูลศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์เช่นกัน



เป็นเอก รัตนเรือง

เป็นเอก รัตนเรือง
 

สำหรับประเทศฝรั่งเศสนั้น การมอบอิสริยาภรณ์และเหรียญตราเพื่อเป็นการเชิดชูผลงานของบุคคลสาขาต่าง ๆ มีมาตั้งแต่ศตรรษที่ 19 ส่วนการมอบอิสริยาภรณ์ให้แก่สาขาศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์มีมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2500 โดยอิสริยาภรณ์ สาขาศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ มีกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศสเป็นผู้พิจารณา ซึ่งมีทั้งหมดด้วยกัน 3 ขั้น เรียงตามลำดับขั้นจากน้อยไปมาก ได้แก่ อัศวิน หรือ Chevalier , ออฟฟิซิเยร์ หรือ Officier และ คอมมองเดอร์ หรือ Commandeur

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีศิลปินไทยที่ได้รับเกียรติติดอิสริยาภรณ์จากรัฐบาลฝรั่งเศส อาทิ เสน่ห์ สังข์สุข หรือที่รู้จักกันในนาม แดนอรัญ แสงทอง นักเขียนไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในฝรั่งเศส ได้รับอิสริยาภรณ์ชั้น Chevalier สาขาตระกูลศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ ในปี 2551 และต่อมาในปี 2554 อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยชื่อดังระดับนานาชาติ เคยได้รับอิสริยาภรณ์ชั้น Chevalier ตระกูลเดียวกัน และหลังจากได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากหนังเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 รัฐบาลฝรั่งเศสก็พิจารณาเลื่อนขั้นอิสริยาภรณ์ให้เป็นชั้นสูงขึ้น 1 ขั้น คือ ชั้น Officier





ประวัติและผลงานของ เป็นเอก รัตนเรือง


เป็นเอก รัตนเรือง เป็นผู้กำกับและนักเขียนบทภาพยนตร์ชาวไทย เติบโตมาจากวงการกำกับภาพยนตร์โฆษณา เป็นเอกเป็นที่รู้จักมากที่สุดจากภาพยนตร์ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล และจัดว่าเป็นหนึ่งในคนทำหนังคลื่นลูกใหม่ ร่วมกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล โดยภาพยนตร์เรื่องแรกของเป็นเอกคือ ฝัน บ้า คาราโอเกะ ที่สร้างขึ้นใน พ.ศ.2540 ได้ถูกนำไปฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ก่อนถูกนำไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์อีกมากมายต่อไปด้วย ส่วนภาพยนตร์เรื่องที่โด่งดังจนได้ไปเปิดตัวรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ พ.ศ.2545 คือ มนต์รักทรานซิสเตอร์ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ประเทศไทยส่งไปชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 75 อีกด้วย

จากนั้น เป็นเอก ก็มีโอกาสได้ไปร่วมงานกับต่างชาติ สำหรับภาพยนตร์เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล เป็นเอกได้ร่วมงานกับปราบดา หยุ่น คริสโตเฟอร์ ดอยล์ และอาซาโน่ ทาดาโนบุ รวมทั้งได้ทากาชิ มิอิเกะมารับบทเล็ก ๆ ในเรื่องด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้เข้าแข่งชิงรางวัลที่เทศกาลภาพยนตร์รอตเทอร์ดาม ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส และเป็นภาพยนตร์ที่ประเทศไทยส่งไปชิงรางวัลออสการ์ใน พ.ศ.2546

ต่อมา เป็นเอกได้ร่วมงานกับปราบดา หยุ่น คริสโตเฟอร์ ดอยล์ และอาซาโน่ ทาดาโนบุอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง คำพิพากษาของมหาสมุทร ซึ่งได้รับเลือกให้เข้าแข่งขันที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินในปี พ.ศ. 2549 พร้อม ๆ กับฉายรอบปฐมทัศน์ที่นั่นด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นภาพยนตร์ฉายเปิดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯในปี พ.ศ.2549 รวมถึงได้รับคัดเลือกให้เข้าแข่งขันอีกเช่นกัน

เป็นเอกได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในงาน Digital Short Films by Three Directors ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติจอนจูในปี พ.ศ.2549 โดยกำกับภาพยนตร์สั้นชื่อ Twelve Twenty เกี่ยวกับผู้ชายที่ตกหลุมรักผู้หญิงซึ่งพบเจอโดยบังเอิญที่สนามบิน และหวนคิดถึงผู้หญิงคนเดิมตลอดเวลาบนเครื่องบินของเขา ในปีเดียวกันนี้ เป็นเอกกำกับภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นเรื่อง Total Bangkok เกี่ยวกับกลุ่มผู้เล่นฟุตบอลใต้ทางด่วนกรุงเทพฯ มีความยาว 21 นาที สนับสนุนโดย ไนกี้ เป็นเอกนั้นชอบกีฬาประเภทดังกล่าวมาก ๆ เช่นกัน และในปี พ.ศ.2550 เป็นเอกได้รับเลือกให้กำกับภาพยนตร์สั้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ แด่พระผู้ทรงธรรม เป็นเอกกำกับเรื่อง เสียงสว่าง ซึ่งเขาเลือกที่จะสัมภาษณ์นักเล่นเปียโนซึ่งตาบอดคนหนึ่งเกี่ยวกับแรงบันดาลใจและการใช้ชีวิต ประกอบกับให้นักเล่นเปียโนเล่นเพลงพระราชนิพนธ์


ประวัติ เป็นเอก รัตนเรือง

ชื่อ : เป็นเอก

นามสกุล : รัตนเรือง

ชื่อเล่น : ต้อม

เกิดวันที่ : 8 มีนาคม พ.ศ. 2505

การศึกษา : Pratt Institute เมืองนิวยอร์กในปี พ.ศ. 2528

การทำงาน :

- เคยเป็น Graphic designer ที่ Designframe Incorporated, กรุงนิวยอร์ค, สหรัฐอเมริกา

- เคยดำรงตำแหน่ง Head of Art ที่ Leo Burnett Limited กรุงเทพฯ, ประเทศไทย

- เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ที่ The Film Factory Ltd. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย




เป็นเอก รัตนเรือง
 

ผลงานของ เป็นเอก รัตนเรือง

 ฝนตกขึ้นฟ้า (2554)

 นางไม้ (2552)

 เสียงสว่าง (Luminous Sound) (2550) ภาพยนตร์สั้นในชุด แด่พระผู้ทรงธรรม

 พลอย (2550)

 total bangkok (ภาพยนตร์สั้น) (2549)

 คำพิพากษาของมหาสมุทร (2549)

 เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (2546)

 มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544)

 เรื่องตลก 69 (2542)

 ฝัน บ้า คาราโอเกะ (2540)


รางวัลที่ได้รับ


 ได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินภาพยนตร์ที่ร่วมประกวดใน Singapore International Film Festival 2001

 ได้รับรางวัลมากกว่า 20 รางวัล ตั้งแต่ปี 1990 ในฐานะที่เป็น ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา ทั้งจากในประเทศ และนอกประเทศ รวมถึง "Silver Award" และ "Bronze award" จาก "Cannes International Advertising Festival" และ "Bronze Award" จาก "Clio International Advertising Festival" และ "Gold" "Silver" และ "Best of the Best" จาก "Asian Media and Advertising Award"





รางวัลที่ได้รับจากผลงานการกำกับภาพยนตร์ที่ผ่านมา


ภาพยนตร์เรื่อง ฝัน บ้า คาราโอเกะ (1997)

 "Special Jury Prize" จาก "1997 Festival des 3 Continents" Nantes, ประเทศฝรั่งเศส

 "Best Screenplay" จาก "1997 Cinemag Spirit Award"


ภาพยนตร์เรื่อง ตลก 69 (1999)

 "Special Mention" จาก "nternational Film Society" จาก "Berlin International Film Festival Forum of The Young Cinema 2000"

 "FIPRESCI Award" จาก "2000 Hong Kong International Film Festival"

 "Best Feature Film" จาก "2000 Williamsburg Brooklyn Film Festival"

 "New Horizon Award for Best Screenplay" จาก "1999 Bangkok Film Festival"

 "Best Screenplay" and "Best Director" จาก "Thailand Critics Awards"

 "Best Screenplay" จาก "Thai Federation Film Association Awards"

 "Best Film" , "Best Director" และ "Best Screenplay" จาก "Cinemag Spirit Awards"



ภาพยนตร์เรื่อง มนต์รัก ทรานซิสเตอร์ (2001)

 ได้รับเลือกอย่างเป็นทางการให้เข้าร่วม "Directors’ Fortnight", 55th Cannes Film Festival, 2002

 ได้รับรางวัล "Asian Trade Winds Award" จาก "Seattle International Film Festival, 2002ไ

 "Best Picture" และ "Best Screenplay" Awards (2002) จาก Thai Film Federation Association

 ได้รับเชิญให้ร่วมเทศกาลภาพยนต์ต่างๆ อาทิ "St. Louise International Film Festival, 2002, "Tokyo

International Film Festival, 2002, "Vancouver International Film Festival, 2002", "London

International Film Festival, 2002, "Seattle International Film Festival, 2002", Pusan

International Film Festival, 2002", Toronto International Film Festival, 2002", และ "Rotterdam International Film Festival, 2002"

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X