Review: The Master บารมีสมองเพชร
2012-12-01 22:17:02
Advertisement
คลิก!!!

 

The Master ผลงานเรื่องที่ 6 ของพอล โธมัส แอนเดอร์สัน เป็นงานภาพยนตร์ที่มีงานสร้างใหญ่โตที่สุดของเขาก็ว่าได้ มีทีมนักแสดงที่ยอดเยี่ยม มีงานกำกับภาพที่สวยงามและเท่ มีการตัดต่อที่น่าสนใจ แต่ตลอดเวลาของการชมหนังเรื่องนี้เป็นอะไรที่หนักอึ้งมาก และผมคิดว่าหนังทำได้ไม่สำเร็จในแง่สร้างผลกระทบทางอารมณ์เท่าไหร่ ผมรู้สึกเข้าไม่ถึงอารมณ์ของหนังในหลายๆ ฉาก เราได้ดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและมีงานสร้างที่ดี มีการแสดงที่ยอดเยี่ยม แต่สิ่งที่เห็นบนจอไม่อาจทำให้เราเข้าถึงหรือมีอารมณ์ร่วม บางครั้งแห้งแล้ง และยิ่งหนังมีเนื้อหาหนักด้วยแล้วยิ่งทำให้เบื่ออย่างมากในช่วงท้ายมากๆ

ผมรู้สึกหลังจากชมหนังจบว่าพอล โธมัส แอนเดอร์สัน พยายามจะสร้างเทคนิคการเล่าเรื่องบางอย่าง หรืออยากฉีกความจำเจบางอย่างในการเล่าเรื่องหนัง หรือพยายามจะสร้างสรรค์ลูกเล่นที่แปลกใหม่ แต่ไม่อาจประกอบมันให้ส่งเสริมการเล่าเรื่องได้มีประสิทธิแก่ผู้ชมได้เท่ากับที่เดวิด ฟินเชอร์ สร้างให้ The Social Network 

มันเหมือนกับว่าแอนเดอร์สันร้อนวิชา และอยากใส่ฉากเหล่านั้นเข้ามา เพราะมันเป็นฉากที่เท่ พิศดาร และล้ำ มันดูสร้างสรรค์มากเมื่อดูเป็นฉากๆ เช่นฉากมอเตอร์ไซค์, ฉากภาพในหัวของตัวละคร ฉากกองทราย แต่เมื่อมองเป็นองค์รวม มันกลับลดทอนอารมณ์ที่ควรเป็นอารมณ์หลักของหนัง หรือทำให้แกนของหนังไม่เด่นมากพอ หลายครั้งที่เป็นการให้รายละเอียดที่ไม่จำเป็น และหลุดจากสิ่งที่ควรโฟกัสจริงๆ แม้ว่าฉากเหล่านั้นจะถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างเก๋แค่ไหนก็ตาม

หนังน่าจะพูดถึงความสัมพันธ์ของผู้ชายสองคน นั่นก็คือเฟร็ดดี้ เควลล์ (ฮัวควิน ฟีนิกซ์) และ แลนเชสเตอร์ ด็อดด์ (ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟแมน) ชายสองคนที่ต่างกันสุดขั้ว เฟร็ดดี้เป็นทหารเรือหนุ่มที่เหมือนมีปัญหาทางจิตนิดๆอยู่แล้ว และเป็นคนหุนหัน ทำอะไรตามอารมณ์และตามใจด้วยเองเป็นหลัก แต่หลังจากไปรบมา อยู่กลางทะเลนับเดือนปี เห็นการฆ่าฟัน ทำให้อาการของเขาหนักยิ่งขึ้น เหมือนกลายเป็นคนเป็นโรคล้าสงครามเพิ่มเข้ามาจากความไม่ปกติเดิม ทั้งยังติดเหล้าและชอบทำเหล้าเถื่อนด้วย มีท่าทางเหมือนเป็นคนคุ้มดีคุ้มร้าย ที่บางขณะก็เก็บกดความเจ็บปวดหรือความโกรธเอาไว้แบบที่เหมือนคลื่นใต้น้ำอันน่ากลัว บางขณะก็ระเบิดออกมาด้วยอารมณ์รุนแรงเหมือนภูเขาไฟปะทุ

ส่วนแลนเชสเตอร์เป็นชายหนุ่มที่พูดจาน่าเชื่อถือ มีพลังในการโน้มน้าวสูง อุปโลกน์ตัวเองเป็นเจ้าพ่อลัทธิความเชื่อที่เชื่อเรื่องภพชาติ และใช้เสน่ห์ในการชักจูงผู้คนให้คล้อยตามจนมีสานุศิษย์มากมาย แต่เบื้องหน้าที่ดูเต็มไปด้วยความมั่นใจ แลนเชสเตอร์มีความกลัวและหวาดหวั่นซ่อนอยู่ เพราะเขารู้ลึกๆว่าความเชื่อต่างๆ ที่เขาสร้างให้คนเชื่อตามนั้น เป็นสิ่งที่เขาอุปโลกน์ขึ้นเพื่อใช้หากิน ไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หรือเป็นที่ยอมรับว่าได้ผลจริง เหมือนกับที่เขาพยายามจะใช้เฟร็ดดี้เป็นการแสดงให้คนอื่นเห็นถึงวิธีการรักษาคนที่มีปัญหาทางอารมณ์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็สรุปว่าเพราะเฟร็ดดี้เป็นสัตว์ป่าที่ไม่อาจทำให้เชื่องได้ หรือเพราะเฟร็ดดี้ไม่ได้อยากหาย แต่ไม่ใช่เพราะวิธีการรักษาของเขา

หนังให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการรักษาเฟร็ดดี้มากไป หรือไม่ใช้การรักษามาช่วยให้คนดูได้เห็นถึงความผูกพันระหว่างเฟร็ดดี้กับแลนเชสเตอร์มากพอ และหลายครั้งก็อธิบายมากเกินไปถึงสภาพจิตใจของเฟร็ดดี้ ที่บางฉากทำออกมาดูดีมาก แต่ไม่มีความจำเป็นในแง่ส่งเสริมองค์รวมของหนัง เมื่อหนังจะเน้นมันในช่วงท้ายก็กลายเป็นฉากที่แห้งแล้ง เพราะระหว่างตรงกลางนั้น หนังค่อนข้างถูกละทิ้งแกนสำคัญนี้ไป และแกนสำคัญนี้ก็เป็นสิ่งที่ดึงคนดูให้เข้าถึงหนังได้ดีกว่า ยิ่งพอหนังใช้ลูกเล่นที่เป็นท่ายากในการเล่าเรื่อง ยิ่งทำให้ผมต้องตั้งสมาธิและพยายามทำความเข้าใจหนังมากกว่าปกติขึ้นไปอีก ซึ่งอย่างที่บอกครับว่ามันทำให้หนังหนักเกินความจำเป็น

ส่วนที่ดีที่สุดของหนัง ผมยกให้การแสดงของสามนักแสดงหลักอย่างฟีนิกซ์, ฮอฟแมน และเอมี่ อดัมส์ ในบทเพ็กกี้ ภรรยาของแลนเชสเตอร์ ที่น่าจะทำให้ทั้งสามมีชื่อได้เข้าชิงออสการ์ในปี 2013 ฟีนิกซ์ใช้เทคนิคการแสดงและการสร้างบุคลิกตัวละครที่ทำให้เรานึกถึงนักแสดงอมตะอย่างมาร์ลอน แบรนโด สร้างบุคลิกตัวละครที่ให้รายละเอียดตั้งแต่วิธีการพูดไปจนถึงการยืน การท้าวเอว การเงยหน้า แล้วทำให้ออกมาดูเป็นธรรมชาติจนเราเชื่อว่ามีคนเช่นนี้อยู่จริงๆ เป็นการแสดงตัวละครที่น่าจดจำอย่างมาก เช่นเดียวกับฮอฟแมน และอดัมส์ ก็สร้างบุคลิกตัวละครที่ดูน่าเชื่อ และมีพลัง

อดัมส์ได้บทที่แตกต่างจากที่เราเคยเห็นเธอเล่นด้วย เป็นบทของผู้หญิงที่เหมือนนั่งอยู่หลังฉาก เหมือนเลดี้แม็คเบธในบางขณะ และแผ่รังสีความอิจฉาริษยาในตัวเฟร็ดดี้ที่ได้ความสนใจจากแลนเชสเตอร์ไปมากกว่าเธอได้แบบนิ่งๆ แต่เต็มไปด้วยพลัง

อีกอย่างที่ชอบก็คือการกำกับภาพและการถ่ายภาพของมิไฮ มาไลแมร์ จูเนียร์ ผมชอบที่หนังใช้ระบบ 65 ม.ม. มาทำให้หลายฉากงามอลังการและดูยิ่งใหญ่คล้ายหนังของเดวิด ลีน และ The Master ก็น่าจะได้เข้าชิงออสการ์ในสาขานี้ด้วยเช่นกันครับ

โดยสรุปแล้ว ผมคงไม่แนะนำให้ผู้ชมทั่วไปไปดูหนังเรื่องนี้ มันเข้าถึงยากเกินไป แต่สำหรับคนที่ศึกษาเรื่องภาพยนตร์ และนักดูหนังตัวยง หนังเรื่องนี้มีลูกเล่นแพรวพราวที่น่าศึกษามาก นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังเหมาะแก่ผู้ที่ศึกษาด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมมนุษย์มาก หนังให้รายละเอียดดีมาก ทั้งในเชิงจิตวิทยาและเชิงพฤติกรรมของตัวละครที่มีอาการของคนคุ้มดีคุ้ม

 

http://jediyuth.com

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X