อ.ศศิน เผย เบื้องลึกล่าสัตว์ป่าหายาก..กับผลกระทบระดับทวีป
2012-11-21 15:21:14
Advertisement
คลิก!!!

 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Sasin Chalermlarp
 

          บ่อยครั้งที่นักเดินป่านิยมพกอาวุธเข้าป่าไปล่าสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยความชื่นชอบส่วนตัว หรือเพราะผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลก็ตามที โดยเฉพาะกับสัตว์ป่าหายากอย่างสัตว์ป่าสงวน ที่แม้จะมีการห้ามอย่างเด็ดขาดและมีการจับกุมให้เห็นอยู่บ่อย ๆ แต่สุดท้ายการกระทำเหล่านั้นก็ยังคงไม่หมดหายไปจากผืนป่า จนเมื่อข่าว คราวการล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ถูกตีแผ่ และพบว่านายตำรวจระดับสูงของ จ.เพชรบุรี เองก็มีส่วนพัวพันกับเรื่องนี้เช่นกัน จึงทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างหนักถึงการกระทำดังกล่าว
 
          หนึ่งในผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นไปของธรรมชาติอย่าง อ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ศึกษามาทางด้านธรณีวิทยา จึงขอแจกแจงถึงผลกระทบจากการเข้าป่าล่าสัตว์ ซึ่งหลายคนอาจจะคาดไม่ถึง ว่าการกระทำดังกล่าวสามารถสร้างปัญหาได้ในระดับทวีปเลยทีเดียว
 
          โดย อ.ศศิน อธิบายว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีข้อมูลการล่าสัตว์ป่าที่น่าตกใจเกิดขึ้น เมื่อแอฟริกาเมืองที่อุดมไปด้วยสิงสาราสัตว์จำนวนมหาศาล และเป็นดินแดนที่หลายคนเชื่อว่ามีการดูแลสัตว์ป่าต่าง ๆ เป็นอย่างดี เพราะ สัตว์ป่าเหล่านั้น คือแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้ไปสัมผัสวิถีชีวิต ของสัตว์ป่า และสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ กลับมีสถิติการล่าสัตว์ป่าเพิ่มสูงขึ้นกว่า 3,000%
 
          ซึ่งข้อมูลจาก กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น สถิติการล่าสัตว์ป่าในแอฟริกามีเพิ่มสูงขึ้นกว่า 3,000% และมีการล่าช้างเพื่อเอางา เฉลี่ยปีละ 10,000 ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแคเมอรูน โดยเป้าหมายปลายทางที่สำคัญคือการผลิตเป็นเครื่องประดับงาช้างในประเทศไทย!
 
          อ.ศศิน บอกว่า แม้ จะมีสัญญาไซเตส ที่คุ้มครองการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ระหว่างประเทศอยู่บ้าง แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่า มูลค่าของการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศอยู่ในระดับหลายแสนล้านบาท และเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่เป็นรองแค่การค้าอาวุธและยาเสพติดเท่านั้น
 
          สำหรับราคางาช้างในประเทศไทย อยู่ที่กิโลกรัมละ 40,000 – 50,000 บาท หากเป็นในประเทศจีนและอเมริกา ราคาก็จะเพิ่มสูงขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว โดยมีข้อมูลจากเครือข่ายเฝ้าระวังสัตว์ป่าว่า มีช้างจากแอฟริกาจำนวนมากกว่า 1,000 ตัว ที่ถูกฆ่าเพื่อส่งงาช้างมายังประเทศไทย และนั่นเป็นเพียงแค่สถิติในปี พ.ศ. 2554 ที่ถูกจับกุมได้เท่านั้น หากแต่จำนวนการล่าที่ยังไม่ถูกจับกุมได้ และปริมาณการล่าในปีอื่น ๆ หลังจากนี้จะมีจำนวนเท่าไหร่!?
 
          ทั้งหมดทั้งมวลนั้น พบว่า ประเทศ ไทยเองก็มีช่องว่างทางกฎหมายที่ช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ ง่ายขึ้น เนื่องจากอนุญาตให้ใช้งาช้างที่มาจากช้างเลี้ยงมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แบบไม่ผิดกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ในประเทศไทยมีการเลี้ยงช้างอยู่ไม่กี่พันเชือก ซึ่งคำนวณแล้วคงไม่พอสำหรับผลิตวัสดุต่าง ๆ ออกมาขายได้จำนวนมากเท่าที่เห็นกันเกลื่อน ดังนั้นส่วนต่างที่เกิดขึ้นจึงเป็นคำถามที่หลายคนทั้งสงสัยและรู้คำตอบดีอยู่แล้วว่า..งาช้างจำนวนมากมายเหล่านั้นมีที่มาจากไหน?
 
          และเรื่องนี้จึงเป็นปัญหาศีลธรรมในระดับชาติ ที่หลายฝ่ายต้องร่วมกันคิดหาทางแก้ไข ในความเชื่อมโยงกันของ ไทยและแอฟริกา 2 ประเทศที่มีสัตว์ใหญ่ใกล้สูญพันธุ์อย่างช้างเป็นปมหลัก ..
 
 
 
 
ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X