เผยผู้สูงอายุ เป็นโรคอ้วน-ความดันสูงเพิ่มขึ้น
2012-09-26 11:43:38
Advertisement
คลิก!!!

ผู้สูงอายุ



เผยคนแก่นับแสนรายขาดคนดูแล ทั้งยังพบปัญหาโรคอ้วน-ความดันสูง (มติชนออนไลน์)

          ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข กล่าวภายในการเสวนาเรื่อง "สูงแล้วเสื่อม ผู้สูงอายุไทยจะมีความสุขได้อย่างไร" ว่า ปัจจุบันทั่วประเทศมีผู้สูงอายุ 7,300,000 คน และคาดว่าอีก 15 ปี หรือในปี 2568 สัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุไทยอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 โดยจะพบผู้สูงอายุได้ 1 คนในประชากรไทยทุก ๆ 5 คน ที่สำคัญขณะนี้มีผู้สูงอายุ 130,000 คนที่ยังขาดคนดูแล ทั้งนี้ ตนจะมอบหมายให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และอสม. เข้าไปให้ความรู้และนำผู้สูงอายุเข้ามาอยู่ในระบบส่งเสริมสุขภาพของ สธ. โดยเน้นให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ในลักษณะ Home health care เพราะในโรงพยาบาลไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง

          นางพรรณสิริ กล่าวว่า ล่าสุดสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย (สสท.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ทำการสำรวจสุขภาพผู้สูงอายุไทยครั้งที่ 4  ระหว่างปี 2551-2552  สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 30,000 คนใน 21 จังหวัด โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มโรคเรื้อรัง กลุ่มโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะ และโรคเกี่ยวกับด้านสุขภาพจิต โดยพบว่า ผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะอ้วน อ้วนลงพุง และไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ทั้งนี้ จากการสำรวจในกลุ่มโรคเรื้อรัง พบผู้สูงอายุเกือบครึ่งมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติ และมีเพียงร้อยละ 3 รู้ตัวว่าตัวเองป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ในจำนวนนี้ร้อยละ 55 ได้รับการดูแลรักษา

          นางพรรณสิริ กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะ 6 ปัญหา ได้แก่ ต้อกระจก การได้ยิน การบดเคี้ยว ข้อเสื่อม ภาวะสมองเสื่อมและการหกล้ม ตัวเลขที่น่าตกใจพบ ผู้สูงอายุไทยเป็นโรคข้อเสื่อมค่อนข้างสูงเฉลี่ยร้อยละ 19 หรือประมาณ 1,400,000 กว่าคนที่กำลังเผชิญโรคดังกล่าว ซึ่งโรคนี้จะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมอย่างเรื้อรัง โดยพบในผู้ชายร้อยละ 24 และผู้หญิงร้อยละ 14 ส่วนภาวะสมองเสื่อมพบร้อยละ 12 หรือประมาณ 880,000 คน แบ่งเป็นหญิงร้อยละ 15 ส่วนชายร้อยละ 9 พบมากในเขตชนบท โดยจำนวนนี้พบเป็นผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวถึง 69,000 คน  ขณะที่ปัญหาสายตา พบเป็นต้อกระจกร้อยละ 21 ในด้านการบดเคี้ยวพบว่าชายและหญิงร้อยละ 53 เหลือฟันในปากน้อยกว่า 20 ซี่ โดย 1 ใน 5 ใส่ฟันปลอมมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุในกทม. ต่ำสุดคือ ภาคอีสาน

          นางพรรณสิริ กล่าวว่า ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการหกล้มมาก พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 18 เคยหกล้มใน 6 เดือนที่ผ่านมา เฉลี่ยผู้สูงอายุเคยหกล้มคนละ 2 ครั้ง โดยผู้สูงอายุชายส่วนใหญ่หกล้มนอกบ้าน ผู้สูงอายุหญิงหกล้มภายในบริเวณบ้านมากกว่า สาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากพื้นลื่นร้อยละ 42 รองลงมา คือ สะดุดสิ่งกีดขวางร้อยละ 35 และพื้นต่างระดับร้อยละ 25 ส่วนโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิต พบมีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 5

          ด้าน นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า กรมการแพทย์ เคยทำการสำรวจเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยให้ผู้สูงอายุประเมินสุขภาพตัวเอง พบว่ามีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้น ที่คิดว่าตัวเองมีสุขภาพแย่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี

          อย่างไรก็ตาม อยากให้ สธ. หันมาสนใจในเรื่องส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้มีการก่อตั้งชมรมผู้สูงอายุให้มากขึ้น แต่ควรให้เป็นชมรมที่ผู้สูงอายุควบคุมเอง ดูแลเอง ไม่ใช่พอตั้งแล้ว สธ. ก็เข้าไปควบคุมเอง

 

 

 

ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X