ฉากความรุนแรงต่อผู้หญิงในภาพยนตร์เกาหลี – เหมาะสมแล้วหรือไม่ ?
2017-09-03 22:43:57
Advertisement
Pyramid Game

ภาพยนตร์เรื่อง “V.I.P.” ได้ถูกยกขึ้นมาพูดคุยในประเด็นการนำเสนอฉากความรุนแรงทางเพศในส่วนหนึ่งของภาพยนตร์

ฉากการใช้กำลังกับผู้หญิงในภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในขณะนี้

“V.I.P.” ภาพยนตร์แนวระทึกขวัญที่เผยด้านมืดของสังคมและจิตใจมนุษย์ (Noir-thriller) ที่มีฉากเนื้อหารุนแรง รวมถึงความรุนแรงทางเพศ, การฆาตกรรมเหยื่อผู้หญิงที่ไร้ทางสู้

ฉากหนึ่งในหนังเรื่องนี้เป็นฉากที่ คิมควางอิล (รับบทโดย อีจงซอก : Lee Jong-seok) ฆาตกรต่อเนื่องชาวเกาหลีเหนือกำลังทรมาณเหยื่อผู้หญิงร่างเปลือยเปล่าที่นอนรอความตายอยู่บนโต๊ะ

ฉากดังกล่าวกลายเป็นประเด็นและจุดชนวนความโกรธให้แก่ผู้ชม หลายคนลงความเห็นว่าฉากโหดร้ายดังกล่าวไม่มีความจำเป็นต้องปรากฎอยู่ในหนังด้วยซ้ำ ไม่ได้เป็นฉากสำคัญที่ใช้ดำเนินเรื่อง

ความคิดเห็นหนึ่งจากผู้หญิงที่เคยถูกคุกคามทางเพศ กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในโลกออนไลน์ :

“เหยื่อผู้หญิงที่แสดงโดยหญิงสาวที่ไร้เดียงสา ถูกข่มขืนโดยผู้ชาย 3 คน และร่างเปลือยเปล่าของเธอวางจมอยู่ในกองเลือด เธอถูกยิงและแทง ฉากนี้มีความยาวกว่า 5 นาที” เธอให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม “การกระทำรุนแรงนี้เกิดขึ้นเพราะนักแสดงชายต้องการระบายความโกรธไปที่คนที่อ่อนแอกว่า หรือสิ่งของที่อยู่รอบตัวเขา สมควรแล้วหรือ พอทีได้ไหมกับการใช้ผู้หญิงร่างเปลือยเปล่าเพื่อแสดงฉากรองรับอารมณ์เช่นนี้ ?”

อีจงซอก นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง V.I.P. ผู้แสดงในฉากทำร้ายร่างกายผู้หญิง (ภาพจาก Warner Bros. Korea)

ผู้กำกับภาพ พัคฮุนจอง จากภาพยนตร์ V.I.P. ยอมรับถึงกระแสในด้านลบต่อภาพยนตร์เรื่องนี้

“ในมุมมองของผม ผมอยากจะเสนอด้านมืดของตัวละครควางอิล จนทำให้อาจมองข้ามในเรื่องของความรุนแรงที่เสนอออกมามากเกินไป ผมรู้สึกพลาดมากครับในเรื่องนี้” พัคฮุนจองให้สัมภาษณ์กับสื่อในเกาหลี

ผู้กำกับยอมรับว่าเขาได้รับข้อคิดเห็นจากทีมงานแล้วในเรื่องของฉากความรุนแรงที่มากเกินไป แต่ในตอนนั้นเขาไม่ได้ใส่ใจความเห็นเหล่านั้นมากนัก

“ผมคิดว่าถ้าเราถ่ายฉากบีบคอ หรือทำร้ายร่างกายในระยะไกล เราจะพลาดสีหน้า อารมณ์ ความนึกคิดของตัวละครในขณะนั้น ผมเลยตัดสินใจถ่ายทำฉากนี้ใกล้ๆ ผมให้ความสำคัญกับตัวละครหลักอย่างควางอิล โดยลืมนึกถึงความรู้สึกของผู้หญิงไป”

ผลงานของผู้กำกับพัคฮุนจอง เคยมีประเด็นในเรื่องของการนำเสนอความไม่เท่าเทียมกันของผู้หญิงในผู้ชายในงานของเขาก่อนหน้านี้อย่าง เรื่อง New World ในปี 2013

“จนถึงตอนนี้ผมคิดว่าผมก็ยังไม่สามารถถ่ายทอดหนังในมุมมองของผู้หญิงได้ดีพอครับ ผมมีความเข้าใจเกี่ยวกับผู้หญิงน้อยมาก แต่ผมพยายามทำความเข้าใจและให้เกียรติพวกเธออยู่เสมอนะครับ ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผมก็คงยังเป็นเหมือนผู้ชายหลายคนที่ไม่เข้าใจผู้หญิงเอาเสียเลย”

บริษัทผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ :

“ภาพยนตร์นั้นมีหลายประเภท” ชเวแจวอน, ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตบริษัท Warner Bros. Korea “เพื่อที่จะถ่ายทอดภาพยนตร์ให้ได้อรรถรสตามความต้องการที่ผู้กำกับต้องการจะถ่ายทอด ด้วยความที่ V.I.P. เป็นภาพยนตร์ระทึกขวัญ เพราะเหตุผลเหล่านี้เราจึงพยายามถ่ายทอดเนื้อหาที่ทำให้ผู้ชมรู้สึก ตื้นเต้น และอินไปกับภาพยนตร์”

ชเวยังแนะนำให้หลายคนลองรับชมภาพยนตร์ก่อนที่จะวิจารณ์เพราะสิ่งที่คุณได้ยินอาจไม่เป็นจริงหากได้เห็นกับตา

จางดองกัน (Jang Dong-gun) นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง V.I.P. (ภาพจาก Warner Bros. Korea)

นักวิจารณ์ภาพยนตร์ จองจีอุค ให้ความเห็นว่า “มีข้อแตกต่างนะครับ ระหว่างการถ่ายทอดอารมณ์นักแสดงผ่านบริบท สีหน้า แววตาในภาพยนตร์ให้คนดูอิน กับการยัดเยียดฉากที่ไม่ได้มีประโยชน์กับการดำเนินเรื่อง หวังเพียงให้คนดูอิน ของแบบนี้ไม่มีกฎตายตัวหรอก คนดูจะเข้าถึง จะอินไม่อิน หรือผลลัพธ์เหล่านั้นจะออกมาเป็นอย่างไร สุดท้ายเราจะรู้หลังจากได้รับคำวิจารณ์จากผู้ชม”

การทำภาพยนตร์ไม่สามารถใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางได้ คนทำงานต้องมีความรับผิดชอบต่องานของพวกเขาด้วย จองจีอุคให้ความเห็นเพิ่มเติม

สอดคล้องกับนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ฮวังจินมี ที่เห็นว่าปัญหาเกิดจากความใส่ใจที่น้อยเกินไป

“หนังให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความนึกคิด อารมณ์ของตัวละครชายมากเกินไปจนมองข้ามความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับตัวละครผู้หญิง”

“ถึงอย่างนั้นก็คงทำได้ยากเพราะผู้หญิงไม่ใช่ตัวละครหลักของเรื่อง แต่หากผู้กำกับเอาใจใส่ในเรื่องนี้ซักนิด เขาอาจจะลดฉากทารุณผู้หญิง แล้วเน้นในเรื่องของการดิ้นรน ต่อสู้ของนักแสดงชายแทน”

ประเด็นจากหนังเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงทัศนคติผู้ชมภาพยนตร์เกาหลี

“สื่อบันเทิงเกาหลีมักให้ความสำคัญกับผู้ชายเป็นหลัก” ชเวคยูซองนักวิจารณ์วัฒนธรรมได้กล่าวถึงเรื่องนี้ “แต่ปัจจุบัน ผู้ชมได้ตระหนักถึงความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิง”

“ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้ชมอีกหลายคนที่มีความเห็นว่าภาพยนตร์เกาหลีนั้นโหดร้ายกับทั้งชายและหญิงเหมือนกันนั่นแหละ ยังคงมีผู้ชายที่คิดแบบเดิมๆ และคิดว่าการออกมาพูดเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงนี้เป็นเรื่องน่าเบื่อ” ความเห็นเพิ่มเติมจากชเวคยูซอง

ทีมา http://kpopherald.koreaherald.com

แปลโดย http://www.popcornfor2.com

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X