เรื่อง โรคท้องผูกไม่ใช่เรื่อง เล็ก ๆ
2014-10-20 18:24:02
Advertisement
คลิก!!!

มักเข้าใจผิดกันว่าคนเราควรถ่ายทุกวัน ถ้าวันไหนไม่ถ่ายถือว่าท้องผูก แต่ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องถ่ายทุกวัน บางคนอาจถ่ายวันละมากกว่า 1 ครั้ง หรือบางคนอาจถ่าย 3 วันครั้งก็ยังถือว่าลำไส้ทำงานปกติ

 

ท้องผูกมีลักษณะอาการ 2 แบบ คือ ท้องผูกแบบอ่อนแรง จะทำให้ลำไส้ไม่มีแรงบีบตัว เกิดจากการกินอาหารที่มีกากใยน้อย และดื่มน้ำน้อยหรืออาจเกิดจากการออกกำลังกายไม่เพียงพอ ส่วนท้องผูกแบบหดเกร็ง ลำไส้ใหญ่จะบีบตัวไม่สม่ำเสมอ ทำให้ขับถ่ายผิดปกติ อาจเกิดจากปัญหาทางด้านจิตใจ หรือระบบประสาท สูบบุหรี่จัด หรือกินอาหารที่ทำให้ลำไส้ใหญ่ระคายเคือง หรืออุดตัน การกินอาหารที่ทำจากแป้งขัดขาว หรือมีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต และธัญพืช) ต่ำ และมีผักผลไม้น้อยจะทำให้ร่างกายได้รับใยอาหารไม่เพียงพอ ใยอาหารและอาหารจำพวกแป้งบางอย่างจะถูกย่อยสลายกลายเป็นกากในลำไส้ใหญ่ กากนี้จะช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่ขับอาหารที่ย่อยแล้วออกไปจากทางเดินอาหาร เครื่องดื่ม เช่น กาแฟ หรือผลไม้แห้ง เช่น ลูกพรุน จะมีสารประกอบบางอย่างที่ช่วยในการขับถ่ายได้

 

ถ้ากินอาหารที่มีกากในน้อยและดื่มน้ำน้อย สารอาหารที่ค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่จะมีลักษณะแห้งแข็ง เนื่องจากน้ำในกากอาหารจะถูกดูดออกไป ทำให้ขับออกลำบาก ความดันภายในลำไส้ก็เพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง ยิ่งมีกากอาหารค้างอยู่ในลำไส้นานเท่าไร กากอาหารนั้นจะยิ่งแข็ง เพราะน้ำถูกดูดออกไปจนหมด ทำให้ขับถ่ายลำบากยิ่งขึ้น

 

การออกกำลังกายอยู่เสมอจะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ การทำกิจกรรมที่ต้องนั่งนาน ๆ อาจทำให้ท้องผูกได้ ท้องผูกยังเกิดจากการกลั้นอุจจาระจนติดเป็นนิสัย การใช้ยาระบายเป็นประจำ หรือติดต่อกันนาน ๆ อาจมีผลทำให้ลำไส้ใหญ่ทำงานผิดปกติ ดังนั้นควรใช้ยาระบายเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น

 

สูตรอาหารแก้ท้องผูก
คนที่ท้องผูกง่าย มักพบว่ากินอาหารที่มีกากในน้อย เช่น อาหารจำพวกแป้งขัดขาว และไม่ค่อยได้กินผักหรือผลไม้สด ใยอาหารนั้นมี 2 ชนิด คือชนิดที่ละลายในน้ำ จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาล และโคเลสเตอรอลในเลือด และชนิดที่ไม่ละลายในน้ำจะช่วยป้องกันท้องผูกโดยเป็นตัวเพิ่มกากอาหารในลำไส้

 

วิธีป้องกันท้องผูกที่ดีที่สุดเราควรกินอาหารที่มีใยทั้ง 2 ชนิดนี้ตามธรรมชาติให้มาก และหลากหลาย สำหรับผู้เริ่มต้น ก่อนอื่นให้พยายามดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร (8-10 แก้ว) และหันมากินข้าวที่ขัดสีน้อยอย่างข้างกล้องแทนข้าวขัดขาว แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณข้าวกล้องให้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าจะคุ้นกับการกินข้าวกล้องอย่างเดียว

 

ในตอนแรก ๆ อาจรู้สึกไม่สบายท้อง มีลมในท้องหรือท้องอืดมาก ส่วนขนมปังก็เลือกชนิดที่ทำจากแป้งไม่ขัดสีหรือขนมปังโฮลวีตแทนขนมปังขาว หรืออาจกินสลับกันไปมา

 

นอกจากนี้ยังอาจเติมรำข้าวสำเร็จรูป 2 ช้อนชาลงในโยเกิร์ต มูสลี่ หรือธัญพืชพร้อมบริโภค สำหรับเป็นอาหารมื้อเช้าทุกวันติดต่อกัน 1 สัปดาห์ แล้วเพิ่มรำข้าวเป็น 3 ช้อนชาในสัปดาห์ต่อมา ทั้งนี้ควรกินผลไม้สดให้ได้วันละ 4-5 ส่วน (ผลไม้ 1 ส่วน เช่น กล้วยน้ำว้า 1 ลูก หรือมะละกอ 10 คำ) และผักต่าง ๆ อีกประมาณ 4-6 ทัพพี

 

อย่างไรก็ตามคนแต่ละคนอาจต้องการใยอาหารในปริมาณที่ไม่เท่ากัน พยายามสังเกตว่าร่างกายขงตนเองต้องการใยอาหารมากเท่าไรจึงจะเพียงพอกับความต้องการ ไม่ควรพึ่งใยอาหารจากรำข้าวสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมสารอาหารบางอย่างในระยะยาวได้ ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ายังคงมีอาการท้องผูกเร้อรังหรือปวดท้องแบบเป็น ๆ หาย ๆ

 

พึงบริโภคให้มาก
ผลไม้ที่กินได้ทั้งเปลือก เช่น ฝรั่ง รวมทั้งผักใบเขียว ธัญพืช ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต เพื่อให้ได้ใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายในน้ำ 
ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร

พึงลด
อาหารที่ทำจากแป้งขัดขาว

 

 

ที่มา  http://siamdara.com/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X