เจ๋ง! เครื่อง PET Scan ตรวจโรคอัลไซเมอร์ เร็ว-แม่นยำ
2014-11-23 14:31:56
Advertisement
คลิก!!!

รพ.พระมงกุฎฯ เผยใช้สารเภสัชกัมมันตรังสี ร่วมการตรวจด้วยเครื่อง PET Scan ช่วยวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้ถูกต้องถึง 90% เผยแยกชนิดอัลไซเมอร์และความรุนแรงได้ จากการตรวจหาสารเบตาอมีลอยด์ ระบุตรวจเจอ 70-80% เสี่ยงอัลไซเมอร์ในอีก 3 ปี 
       
       พ.อ.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านอายุรกรรมสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า จากสถิติผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในทุกๆ 5 ปี เนื่องจากคนมีอายุยืนยาวขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุยืนกว่าผู้ชาย ผลการสำรวจระบุว่า ตัวเลขเฉลี่ยคนไทยกว่า 2 ล้านคน ภายใน 5 ปีข้างหน้า เริ่มตั้งแต่ช่วงอายุ 50-65 ปี เป็นโรคสมองเสื่อมที่มีความผิดปกติเรื่องของความจำบกพร่อง แต่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ ทำให้กว่าจะรู้ตัวนั้นอาการของโรคก็ลุกลามเกินเยียวยา สาเหตุมักเกิดจากการเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย พันธุกรรม อุบัติเหตุทางสมอง โรคหลอดเลือดสมอง โรคการติดเชื้อของสมอง โรคทางกายที่มีผลกระทบต่อเซลล์สมอง เป็นต้น
       
       พ.อ.นพ.โยธินกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ทางการแพทย์มีนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้เร็วและแม่นยำมากขึ้น คือการตรวจด้วยเครื่อง “PET Scan” หรือการสแกนด้วยรังสีเพื่อตรวจหาความผิดปกติทางสมอง ซึ่งสามารถยืนยันความผิดปกติได้ถูกต้องมากกว่า 90% จากเดิมที่คนทั่วไปมักคุ้นเคยกับ PET Scan ในการตรวจรักษาโรคมะเร็ง แต่ด้วยการพัฒนาของผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ทำให้การวินิจฉัยและรักษาโรคสมองเสื่อม โดยใช้สาร C11-PIB (Pittsburgh Compound B) ซึ่งเป็นสารเภสัชกัมมันตรังสี ที่มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กในสหรัฐอเมริกาพัฒนาขึ้น ก่อนที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และไทย โดยนำมาสังเคราะห์รวมกับสารที่มีลักษณะเดียวกับสารชีวเคมีในร่างกาย เช่น น้ำตาล กรดอะมิโน ด้วยการฉีดก่อนที่จะตรวจหาสารเบตาอมีลอยด์ ด้วยเครื่อง PET Scan ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ผู้เชี่ยวชาญได้ให้การยอมรับในการตรวจวินิจฉัยภาวะอัลไซเมอร์
       
       “สารดังกล่าวนี้มีความปลอดภัยและใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ มีข้อดี คือสามารถตรวจหาสารเบตาอมีลอยด์ในสมองผู้ป่วยได้ ตั้งแต่ระยะที่ยังไม่แสดงอาการ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเจาะไขสันหลังเพื่อตรวจดูภาวะผิดปกติของโรคอัลไซเมอร์ และสามารถให้ผลการตรวจที่แม่นยำ ที่สำคัญผู้ป่วยเองไม่ต้องเจ็บตัวด้วย โดยการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมด้วยเทคนิค PET Scan หรือ FDG-PET Brain ที่นำมาใช้ในการตรวจโรคอัลไซเมอร์นั้น สามารถที่จะแยกโรคจากโรคสมองเสื่อมชนิดอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน ทำให้ได้แนวทางในการรักษาที่ถูกต้อง เช่น LBD เป็นโรคที่มีอาการร่วมกันระหว่างอัลไซเมอร์กับพาร์กินสัน สมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือด และภาวะสมองเสื่อมแบบ FTD ซึ่งเป็นความปกติที่เกิดขึ้นด้านหน้าและด้านข้างของสมองผู้ป่วยมีพฤติกรรมโมโหร้าย มีปัญหาเรื่องการพูด” พ.อ.นพ.โยธินกล่าว และว่านอกจากนี้ยังใช้ในการประเมินความรุนแรงของโรคสมองเสื่อมในระยะต่างๆ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ระยะกลาง และระยะสุดท้าย ซึ่งความแม่นยำในการตรวจหาสารเบตาอมีลอยย์ นั้นเราพบว่ามีสารดังกล่าว 90% ในผู้ป่วยอายุ 70 ปี และ 70-75% ในผู้ป่วยอายุ 80 ปี ดังนั้นถ้ามีการตรวจพบสารนี้ 70-80% จะกลายเป็นโรคอัลไซเมอร์ภายใน 3 ปี
       
       พ.อ.นพ.โยธินกล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์มีระยะเวลาก่อโรคนาน 15-20 ปีกว่าจะมีอาการสมองเสื่อมที่ชัดเจน การแสดงอาการของโรคจะค่อยๆ เป็นไปอย่างช้าๆ เริ่มต้นจากไม่มีความผิดปกติเรื่องความจำ และเริ่มมีอาการความจำถดถอย การที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการความจำถดถอยเกิดขึ้นเป็นผลมาจากการสะสมของสารเบตาอมีลอยย์ที่ทำลายเซลล์สมองมาแล้ว 10-15 ปี ต่อมาผู้ป่วยจึงจะมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีอาการสมองเสื่อมชัดเจน ทำให้การวินิจฉัยและรักษาทำได้ไม่ทันท่วงที ซึ่งส่วนหนึ่งคนไข้มักละเลยอาการ คิดว่าผิดปกติทางความจำเล็กน้อยไม่ได้เป็นอาการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อม และเข้าใจผิดที่คิดว่าโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกิดในผู้สูงอายุ ไม่สามารถป้องกันหรือรักษาให้หายขาดได้และต้องทานยาอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต
       
       “หากสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม และมีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจโรคด้วยเครื่อง PET Scan เพราะเทคนิคการตรวจนี้ สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 15 ปีจะทำให้เรารู้ตัวล่วงหน้าว่า ตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ ที่สำคัญยังช่วยให้เราวางแผน และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เหมาะสมได้โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นอัลไซเมอร์” พ.อ.นพ.โยธินกล่าว

 

ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X