ตั้งด่านชุมชน 60,000 แห่ง สกัดเมา-แว้น-ป้องอุบัติเหตุปีใหม่
2014-12-20 13:48:07
Advertisement
คลิก!!!

        เตรียมตั้งด่านชุมชนกว่า 60,000 แห่ง สกัดกลุ่มเสี่ยงออกจากหมู่บ้าน เน้นวัยรุ่นแว้น ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกกันน็อก หากพบจะตักเตือน หรือยึดกุญแจ หากไม่เชื่อฟังประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมจัดหน่วยเฝ้าระวังจุดที่มีการเลี้ยงฉลอง สธ.เผยเตรียมพร้อมโรงพยาบาลกว่า 1,500 แห่ง รับมืออุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน
       
       วานนี้ (19 ธ.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว มาตรการป้องกันอุบัติเหตุจราจร เพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2558 ว่า สธ. จะทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุอย่างเต็มที่ ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2557 - 5 ม.ค. 2558 โดยจะลดการเสียชีวิตให้น้อยกว่าเทศกาลปีใหม่ 2557 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 366 ราย อุบัติเหตุจำนวน 3,174 ครั้ง และมีผู้บาดเจ็บนอนโรงพยาบาล 3,345 ราย โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ง่วง/หลับใน และอุบัติเหตุยิ่งรุนแรงจากการไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย นั่งท้ายรถกระบะ หรือมีวัตถุอันตรายอยู่ข้างทางถนน โดยวันที่ 31 ธ.ค. เป็นวันที่พบอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับสูงถึงร้อยละ 70 พบมากในช่วงเวลาเย็น/หัวค่ำไปจนถึงหลังเที่ยงคืน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อนุญาตให้จำหน่ายสุราได้ และมีงานเลี้ยงสังสรรค์ มีการดื่มสุรา การบาดเจ็บในกลุ่มนี้ มักจะเกิดกับผู้ใช้จักรยานยนต์ บนถนนหมู่บ้านและถนนสายรอง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายวัยรุ่นและวัยทำงาน
       
       ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า มาตรการลดปัญหาอุบัติเหตุจราจรในเทศกาลปีใหม่ 2558 สธ.จะทำงานเชิงรุก โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น ทำงานออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1. ช่วงก่อนเทศกาล เน้นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย ปลูกฝังพฤติกรรม การสวมหมวกนิรภัย เมาไม่ขับ และการขับขี่ปลอดภัย รวมทั้งสำรวจหาข้อมูลความเสี่ยง จุดที่ขายสุรา 2. ช่วงเทศกาล 7 วันอันตราย ให้เจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุก ไม่เฝ้าเต็นท์ข้างถนน และใช้มาตรการใหม่ 2 มาตรการ คือ ตั้งด่านชุมชนที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน ประมาณ 60,000 จุดทั่วประเทศ ให้อาสาสมัครสาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับฝ่ายปกครอง อาสาสมัครป้องกันภัยฯในชุมชนและประชาชน เพื่อใช้เป็นจุดตรวจ จุดบริการ สกัดกั้นกลุ่มเสี่ยง หากพบทำผิดจะพูดคุยทำความเข้าใจ ตักเตือน หรือยึดกุญแจรถ ถ้าเป็นเด็กจะเชิญผู้ปกครองมารับตัวกลับบ้าน หากฝ่าฝืน/ไม่เชื่อฟัง จะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ และจัดหน่วยเฝ้าสถานที่จัดงานเลี้ยง และ 3. หลังเทศกาล จะติดตามผล ทบทวนการทำงานระดับจังหวัดและระดับประเทศ เพื่อวางแผนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนต่อเนื่องตลอดทั้งปี
       
       “การดูแลการเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งจากอุบัติเหตุจราจรและโรคอื่นๆ ได้เตรียมพร้อมโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัด รวมกว่า 1,500 แห่ง เตรียมพร้อมหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ รถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมเครื่องมือแพทย์ปฏิบัติการวันละ 4,915 คัน สามารถออกไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุหลังรับแจ้งภายใน 10 นาที โดยมีศูนย์สื่อสารรับแจ้งเหตุ และสายด่วนโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉิน และประจำหอผู้ป่วย รวมจำนวนกว่า 100,000 คน สำรองคลังเลือดทุกหมู่ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ยา จัดแพทย์ผ่าตัดทุกสาขาประจำการตลอด 24 ชั่วโมง ประมาณ 1,500 คน สามารถทำการผ่าตัดได้ทันที โดยเพิ่มเตียงรองรับอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากปกติอีกร้อยละ 10 มีศูนย์ประสานการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักไปรักษาอย่างรวดเร็วมากกว่า 90 แห่ง ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ทันที ไม่ต้องสำรองจ่าย ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวของรัฐบาล เพื่อป้องกันการเสียชีวิต หรือความความพิการ ให้ได้มากที่สุด” รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังได้ควบคุมการขายและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ พ่อค้า แม่ค้าทุกจังหวัดทุกพื้นที่ ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด


ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X