คะแนนคณิตศาสตร์ไม่ดี มีเหตุจากความอ้วน?
2014-11-23 15:12:31
Advertisement
คลิก!!!

        คุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่เคยดูโดเรมอน คงจำได้ถึงเจ้าหนูโกดะ ทาเคชิ หรือ ไจแอนท์ เด็กผู้ชายตัวโตที่มาพร้อมภาพของขาใหญ่ขี้โมโหประจำชั้น ป.4 แถมยังชอบแกล้งเด็กที่อ่อนแอกว่าอย่างโนบิตะอยู่เป็นประจำ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ท่านใดจำได้มากกว่านั้น เรื่องของผลการเรียน ไจแอนท์ ก็ไม่เคยทำคะแนนสอบวิชาคณิตศาสตร์ได้ดีอีกด้วย 
       
       วันนี้มีงานวิจัยที่สอดคล้องกับเรื่องราวของไจแอนท์แล้วค่ะ เมื่อนักวิจัยจากซีกโลกตะวันตกได้ทำการศึกษาถึงเรื่องว่าความอ้วนในวัยเด็ก จะส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพในการเรียนรู้หรือไม่ และก็พบว่าความอ้วนนั้นสามารถทำให้เด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนลดลงได้ รวมถึงกระทบต่อทัศนคติของเด็กเกี่ยวกับอาชีพการงานอีกด้วย
       
       การวิจัยนี้เป็นการร่วมมือกันของมหาวิทยาลัยมิสซูรี มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา ผ่านการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 6,250 คน โดยติดตามพฤติกรรมตั้งแต่พวกเขาเริ่มเข้าชั้นอนุบาล (อายุ 3 ขวบ) ไปจนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (อายุ 9 ขวบ)
       
       ดร.ซาร่า แกเบิล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิสซูรี สหรัฐอเมริกา เผยว่า การศึกษาครั้งนี้ได้ศึกษาเกี่ยวกับภาวะน้ำหนักเกินในช่วงปฐมวัยของเด็ก ไปจนถึงเด็กในชั้นประถมว่าสามารถส่งผลกระทบต่อเด็กในด้านการเข้าสังคม และเรื่องของอารมณ์ รวมถึงเรื่องของประสิทธิภาพในการเรียนอย่างไรบ้าง
       
       นอกจากความร่วมมือของผู้ปกครองและครูที่ช่วยรายงานเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของครอบครัว ทักษะการเข้าสังคม การแสดงออกในด้านอารมณ์ของเด็ก ๆ กลุ่มนักวิจัยยังได้ทำการทดสอบเด็กๆ ในด้านการเรียนด้วย และเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีน้ำหนักมาตรฐาน นักวิจัยพบว่า เด็กอ้วนทั้งชายและหญิงต่างทำคะแนนคณิตศาสตร์ได้ไม่ดีนัก โดยคะแนนคณิตศาสตร์นั้นแย่ไปจนถึงวันที่พวกเขาจบชั้น ป.5 กันเลยทีเดียว
       
       นอกจากนั้น ความอ้วนยังทำให้เด็กผู้หญิงมีทักษะทางสังคมต่ำกว่าเพื่อนๆ วัยเดียวกันอีกด้วย
       
       สำหรับกรณีของการทำคะแนนสอบคณิตศาสตร์ได้น้อยกว่าเด็กรูปร่างปกตินั้น นักวิจัยได้อ้างว่า มาจากความรู้สึกโดดเดี่ยว เศร้า แปลกแยกจากเพื่อนๆ ที่ทำให้ผลการเรียนไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น
       
       ที่สำคัญ ปัญหาเด็กอ้วนกำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในแถบประเทศตะวันตก เฉพาะในอังกฤษ ปี 2010 มีเด็กอายุระหว่าง 2-15 ปีที่น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ละปีภาครัฐต้องใช้เงินกว่า 4.2 พันล้านปอนด์ ในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับความอ้วน เช่น เบาหวาน หัวใจ รวมถึงศัลยกรรมเพื่อการลดน้ำหนักด้วย
       
       การเป็นไจแอนท์ก็ไม่ได้มีแต่การใช้กำลังอย่างเดียว เรื่องเศร้าๆ ในมุมนี้ก็มีให้เห็นด้วยเช่นกันค่ะ


       
       เรียบเรียงจากเดลิเมล

       ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X