"ประวิทย์ มาลีนนท์" ช่อง3 ลั่น "จอมืด"ร้องศาลแน่ ด้าน 5 เคเบิลทีวีฟ้อง3บอร์ดกสท.
2014-09-20 18:05:49
Advertisement
คลิก!!!

เคเบิลทีวี 5 รายยื่นฟ้อง 3 บอร์ด กสท. สั่งห้ามแพร่ภาพช่อง 3 อนาล็อก ออกอากาศทีวีดาวเทียม-เคเบิล "ประวิทย์"วอนเห็นแก่คนดู

 

เมื่อวันที่ 19 กันยายน นายประวิทย์ มาลีนนท์ ตัวแทน บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ห้ามโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีเกี่ยวสัญญาณช่อง 3 ระบบอนาล็อกเพื่อออกอากาศตั้งแต่วันที่ 28 กันยายนเป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ผู้ชมโทรทัศน์ในระบบดาวเทียมและเคเบิลทีวีจะไม่สามารถรับชมได้ ว่า ช่อง 3 ไม่มีสิทธิทำอะไร ทั้งจะให้จอดับหรือไม่ดับ กฎเกณฑ์อยู่ที่ กสท. ทั้งการยับยั้งและการผ่อนคลาย จึงต้องรอถึงวันที่ 28 กันยายน หากจอดำอาจต้องไปยื่นศาลปกครองเพื่อให้คุ้มครองชั่วคราว เช่นเดียวกับการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จะทำได้ก็ต่อเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น

 

ผู้สื่อข่าวถามกรณีพาดพิงถึงสัญญาที่ช่อง 3 ได้รับว่าอาจไม่ถูกต้อง นายประวิทย์กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่กังวล เพราะมีการรับรองสัญญา มีกระบวนการตรวจสอบเรียบร้อย เมื่อถามว่า การพูดคุยกันล่าสุดเป็นอย่างไร นายประวิทย์กล่าวว่า กสท.เสนอ 2 ข้อ คือ 1.ให้ช่อง 3 ไปออกอากาศในช่องเพย์ ทีวี (Pay TV) แต่คงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ และ 2.ให้ออกอากาศคู่ขนาน เรื่องนี้ช่อง 3 ได้สอบถามไปว่าเป็นไปได้แค่ไหน เพราะกฎเกณฑ์ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดไว้ ไม่เปิดโอกาสให้ทำได้ เพราะฉะนั้น กสทช.ต้องตอบให้ชัดเจนว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่

 

นายประวิทย์กล่าวว่า กรณีของช่อง 3 ไม่เหมือนกรณีช่อง 7 และช่อง 9 เพราะช่อง 7 และช่อง 9 ผู้ประมูลเป็นรายเดียวกันจึงสามารถทำได้ ส่วนช่อง 3 ผู้ประมูลเป็นคนละบริษัทกัน กรณีนี้เป็นกฎของ กสทช.เอง ดังนั้น ชี้ให้ชัดว่าสามารถทำได้หรือไม่

 

"ก่อนหน้านี้ช่อง 3 กับ กสท. ตีความกฎหมายคนละอย่าง จึงเห็นว่าเรื่องความเห็นทางกฎหมายอย่าเถียงดีกว่า จึงไปร้องศาลให้ตัดสิน ระหว่างที่รอการตัดสิน 100 วัน น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ได้พูดคุย แต่ กสท.ก็พูดเรื่อยว่าช่อง 3 งอแง กระทั่งมีการเชิญช่อง 3 ไปหารือ วันนั้นได้เตรียมทีมไป แต่พอมาทราบข่าวทางโซเชียลมีเดียว่าทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่องมาประชุม ผมเลยไม่ไป เพราะเดี๋ยวโดนยำ เราจึงใช้วิธีส่งจดหมายไป เขาก็ฝากการบ้านไว้ แต่ยังไม่ทันได้ส่งการบ้าน เขาก็มีมติประกาศออกมาก่อน" นายประวิทย์กล่าว

 

นายประวิทย์กล่าวอีกว่า เมื่อก่อนไม่มีทีวีดิจิตอล ช่อง 3 อนาล็อกเขาให้เป็นฟรีทีวี ต่อมาออกกฎมัสต์แครี่ คือให้เครือข่ายทั้งหลาย เคเบิล ดาวเทียม ต้องนำฟรีทีวีขึ้นออกอากาศ แล้วพอประมูลทีวีดิจิตอลได้ กลับออกประกาศว่าระบบอนาล็อกที่เป็นฟรีทีวีไม่ใช่ฟรีทีวีอีกต่อไปแล้ว เพราะฟรีทีวีต่อไปนี้คือดิจิตอลเท่านั้น

 

"หมายความว่าเอาดิจิตอลขึ้น แล้วเอาอนาล็อกลง มันก็เลยยุ่ง เพราะคนที่เคยได้ดูอนาล็อกได้ แทนที่จะได้รับการรักษาสิทธิ กลายเป็นเสียสิทธิ คือไม่ได้ดูแบบเดิม ที่น่าสงสารที่สุดคือกลุ่มที่เป็นโครงข่าย เขามีทรัพยากรอยู่เท่าเดิม แต่ต้องรับเอาทีวีดิจิตอล 30 กว่าช่องไป และให้เขารับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย ตอนนี้ก็เป็นอะไรที่คนยังไม่ดู แต่ช่องที่คนอยากดูให้เอาลง" นายประวิทย์กล่าว

 

นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า ปัญหาเหล่านี้มาจากกฎของ กสทช. ซึ่งสามารถทบทวนได้หรือเพิกถอนได้ ตอนนี้จึงกลายเป็นเรื่องกลัวเสียหน้ามากกว่า ถ้าหากได้สติ ก็น่าจะบอกว่าเอาคนดูเป็นตัวตั้งเพราะผู้ชมประมาณ 16 ล้านคน เสียประโยชน์ แต่กลับมาบอกว่าเป็นความรับผิดชอบของช่อง 3 ทั้งที่กฎกณฑ์นี้ไม่ได้บังคับช่อง 3 เป็นการบังคับกับโครงข่ายที่นำช่อง 3 อนาล็อกออกอากาศ

 

"ทั้งหมดนี้ทำเพื่อทำร้ายผมคนเดียว แต่ทำให้อีก 16 ล้านคนไม่ได้ดู ด้วยความเชื่อที่ว่าถึงเวลาแล้วช่อง 3 แก้ไขได้ โดยไปขอใบอนุญาตเพย์ทีวี ผมก็บอกว่าขอไม่ได้ เพราะไม่มีลิขสิทธิ์ อยากให้เอาช่อง 3 ไปออกอากาศคู่ขนาน ผมก็บอกว่า ถ้าอยากให้เป็นคู่ขนานก็ทำให้มันเป็นไปได้ ไปแก้กฎระเบียบ แล้วทำให้ช่อง 3 อนาล็อกขึ้นไปได้ แล้วที่เหลือค่อยมาคุยกัน" นายประวิทย์กล่าว

 

วันเดียวกัน ที่ศาลปกครองกลาง ผู้ประกอบการเคเบิลทีวี จำนวน 5 รายประกอบด้วย ห้างหุ้นส่วนจำกัด มหาสารคามเคเบิลทีวี เนตเวิร์ค, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เจมส์เคเบิลทีวีเนตเวิร์ค, บริษัท ซีทีเอช แบงค์คอก จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เจเคเบิลทีวี และบริษัท ไอซีที จำกัด เดินทางมายื่นเรื่องฟ้องร้อง กสท. จำนวน 3 ราย คือ พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรณีมีมติห้ามผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี นำช่อง 3 ในระบบอนาล็อก ออกจากรายการภายใน 15 วัน

 

นายธีรพล กาญจนากาศ ทนายความตัวแทนของทั้ง 5 บริษัท กล่าวว่า มติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย ทั้งที่การประชุมในระดับอาเซียนได้มีมติร่วมกันที่จะยุติการออกอากาศโทรทัศน์ประเทศไทยในระบบอนาล็อก ในช่วงปี 2558-2563 จึงยังมีระยะเวลาอีก 5 ปีเต็ม ให้สามารถเปลี่ยนผ่านได้ การยุติการออกอากาศช่อง 3 อนาล็อก ผ่านทีวีดาวเทียมและเคเบิลทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเกือบทั้งประเทศ

 

"ไม่เข้าใจว่าเหตุใด กสท.ต้องให้ยุติอนาล็อกตั้งแต่ปี 2557 ทั้งๆ ที่มีระยะเวลา จึงขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งตามมติของ กสท. ที่มีการลงมติ 3:2 เสียง ซึ่งอีก 2 เสียงที่ไม่เห็นด้วย" นายธีรพลกล่าว และว่า หลังจากนี้หากครบระยะเวลาที่ กสท.กำหนด 15 วันแล้ว ก็จะยื่นขอให้ศาลปกครองพิจารณาคุ้มครองชั่วคราว จนกว่าจะได้ข้อสรุป

 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวถึงความคืบหน้าการส่งคูปองเงินสนับสนุนค่าอุปกรณ์รับชมทีวีดิจิตอลว่า ล่าสุด ได้รับตัวเลขฐานข้อมูลจำนวนครัวเรือนที่แน่นอนจากกรมการปกครองแล้ว โดยการจัดส่งในล็อตแรกวันที่ 10 ตุลาคม เป็นจำนวนทั้งสิ้น 4,645,175 ครัวเรือน ใน 21 จังหวัด

 

นายฐากรกล่าวว่า ในส่วนการจัดส่งคูปองล็อตที่ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบฐานข้อมูลจำนวนครัวเรือนที่แน่นอนจากทางกรมการปกครอง คาดจะได้รับข้อมูลอย่างละเอียดครบถ้วนภายในเดือนกันยายนนี้ ส่วนการจัดส่งคูปองในล็อต 2 ราว 3.3 ล้านครัวเรือน คาดจะดำเนินการภายในเดือนพฤศจิกายน โดยในส่วนล็อตถัดไป จะเริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม 2558 คาดแจกคูปองครบทั้ง 14.1 ล้านครัวเรือน ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2558

 

ที่มา  มติชนออนไลน์

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X