เมื่อครูฝรั่งสอนนักเรียนเกาหลีเหนือเขียน “เรียงความ” ในดินแดนที่ห้ามถาม – วิพากษ์
2016-02-04 15:38:10
Advertisement
คลิก!!!

บทความแปลจาก Teaching Essay Writing in Pyongyang โดย ซูกิ คิม

ซูกิ คิม นักเขียนชาวเกาหลี-อเมริกัน ผู้เขียนนวนิยายรางวัลเรื่อง “The Interpreter” โดยเธอเดินทางเยือนประเทศเกาหลีเหนือในฐานผู้สื่อข่าว ตั้งแต่ปี 2545  บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือชื่อ “Without You, There Is No Us: My Time With the Sons of North Korea’s Elite” บันทึกประสบการณ์ของซูกิ คิมระหว่างสอนวิชาภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ณ กรุงเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือ ในปี 2554 เป็นเวลานาน 6 เดือน

“การเขียนเรียงความ”

สำหรับนักเรียนของฉันแล้วคำนี้เป็นคำที่น่ากลัวมาก ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2554 ฉันกำลังสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือ สถานที่ที่ประกอบด้วยนักเรียนชาย 270 คน และอาจารย์ชาวคริสต์อีก 30 คน ที่นี้ทุกย่างก้าวในการเรียนการสอนของพวกเราถูกจับตามองตลอดเวลา

สำหรับเนื้อหาในแต่ละบทเรียน อาจารย์ทั้งหลายต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่ชาวเกาหลีเหนือ ด้วยความหวังที่จะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโลกภายในให้ลูกศิษย์อันเป็นเรื่องที่เหล่าเจ้าหน้าที่ไม่เคยเปิดโอกาสให้คุณถกเถียงหรืออภิปรายข้อมูลได้เลย ฉันจึงต้องวางแผนเปิดวิชา”เขียนเรียงความ”ขึ้น ซึ่งพวกเขาอนุญาตให้ฉันสอนวิชานี้ได้

ฉันบอกนักเรียนของฉันว่า เรียงความถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อคะแนนสอบปลายภาคของพวกเขา และจะถูกนำไปคิดรวมเพื่อตัดเกรดในเทอมด้วย นั่นทำให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายของฉันเครียดกันมาก

ในวิชาเขียนเรียงความ นักเรียนแต่ละคนจำเป็นต้องนำเสนอหัวข้องานเขียนของตัวเอง พร้อมกับส่งร่างเรียงความให้ฉัน เมื่อฉันถามถึงความคืบหน้า พวกเขาได้แต่ถอนใจและเอ่ยปากบอกฉันว่า “หายนะ”

ฉันเน้นย้ำความสำคัญของการเขียนเรียงความต่อพวกเขา ในฐานะนักวิทยาศาสตร์แล้ว วันหนึ่งต้องเขียนรายงานเพื่อพิสูจน์ทฤษฏี แต่ความเป็นจริงแล้ว ในโลกของพวกเขาหาได้มีสิ่งใดที่ผ่านการพิสูจน์ ด้วยเหตุที่ทุกอย่างเป็นไปตามความประสงค์ของท่านผู้นำ

งานเขียนต่าง ๆ หนีไม่พ้นเรื่องราวความสำเร็จของท่านผู้นำที่หารู้จบไม่ แต่กลับไร้การตรวจสอบความจริง ด้วยเหตุที่นักเรียนของฉันปราศจากหลักคิดในการอ้างอิงหลักฐาน เมื่อลองปราดสายตาผ่านบทความในหนังสือพิมพ์รายวัน งานเขียนเหล่านั้นมีเพียงเรื่องราวแบบเดียวตั้งแต่ตัวอักษรแรกจนตัวสุดท้าย ปราศจากการก้าวไปข้างหน้า บทความเหล่านี้ไม่มีแม้กระทั้งจุดเริ่มต้นหรือจุดจบ

AFP / KCNA / KNS

AFP / KCNA / KNS

การเขียนเรียงความยาวเพียง 3 – 5 ย่อหน้า ที่กอปรด้วยจุดยืนหลัก, เกริ่นนำ, เนื้อหาหลักพร้อมข้อมูลสนับสนุน, และบทสรุป เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับชาวเกาหลีเหนืออย่างสิ้นเชิง

สำหรับพวกเขา การเกริ่นนำเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจอย่างยากลำบาก ฉันเลยแนะนำพวกเขาว่ามันก็เหมือนเวลาโบกมือทักทาย ฉันถามนักเรียนของฉันว่า “พวกเธอจะใช้วิธีกล่าวทักทายอย่างไรให้มันดูน่าสนใจ จนคนอ่านรู้สึกว่าโดน” แม้ฉันจะยกตัวอย่างไปหลายแบบแต่พวกเขา แต่พวกเขายังคงมาหาฉันในชั่วโมงให้คำปรึกษาตลอดเวลา ส่ายหัวและถามฉันว่า “ตกลงแล้ว เจ้าอาการโดนนี้เป็นอย่างไร?”

เช้าวันหนึ่ง พวกเขาตะโกนลั่นเป็นเสียงเดียวกันขณะที่ฉันก้าวเท้าเข้าห้องเรียนว่า “เราชนะญี่ปุ่น!” หลังทีมฟุตบอลทีมชาติของพวกเราสามารถคว่ำทีมชาติญี่ปุ่นที่สนามคิม อิล ซุงในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก โดยนัดการแข่งขันนี้ได้รับการถ่ายทอดสดให้รับชมอย่างถ้วนหน้า

ณ ประเทศแห่งนี้ ความโกรธแค้นที่มีต่อญี่ปุ่นยังคงปรากฎแจ่มชัดอยู่ตลอดเวลา แม้ญี่ปุ่นจะเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมเกาหลีเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว

เหล่านักเรียนของฉันต่างแสดงออกอย่างหึกเหิม เล่าเรื่องของ “จอง แต เซ” กองหน้าทีมชาติอย่างภูมิใจ หนำซ้ำยังมีเรื่องนักเตะอีกคนที่สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจับตามองอยู่ อย่างไรก็ตาม พวกเขาดูท่าจะไม่รู้เอาเสียเลยว่าความจริงแล้ว จอง แต เซเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวชาวเกาหลีไซนิจิ คำเรียกคนเชื้อชาติเกาหลีผู้เกิด เติบโต และถูกเลี้ยงดูในญี่ปุ่นแต่ยังมีความจงรักภักดีต่อเกาหลีเหนือ ในสายตาของพวกเขาแล้ว ชาวเกาหลีไซนิจิคือคนญี่ปุ่น ศัตรูคู่อาฆาต แต่ถึงอย่างนั้น ในบางโอกาสพวกเขาก็มองคนเหล่านี้เป็นคนชาติเดียวกัน ซึ่งฉันรู้ดีกว่าฉันไม่ควรพูดถึงเรื่องนี้

“น่าตื่นเต้นจัง!” ฉันตอบด้วยน้ำเสียงสดใส “คงจะดีมากเลยเนอะ ถ้าทีมชาติเกาหลีสามารถเข้ารอบลึก ๆ ไปแข่งรอบชิงแชมป์โลกที่บราซิลได้” นักเรียนของฉันพากันยิ้มและพยักหน้า

ในวันนั้นเอง ฉันได้ใช้สิ่งที่เหล่าครูเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ ขณะที่เด็ก ๆ ไม่รู้เลยว่ามันมีอยู่“อินเตอร์เน็ต” และพบว่าผลประกาศการแข่งขันมีมาได้สักระยะ ทีมเกาหลีเหนือตกรอบคัดเลือกไปเรียบร้อยแล้ว คงไม่มีนักเรียนคนไหนที่จะยอมรับความจริงนี้ หรือพวกเขาอาจไม่รู้ความจริงนี้เลยด้วยซ้ำ

ไม่เพียงเท่านั้น ฉันพบว่าการแข่งขันนัดระหว่างทีมชาติเกาหลีเหนือกับทีมชาติญี่ปุ่นไม่ได้ถูกถ่ายทอดสด แต่เป็นเทปบันทึกหลังจบการแข่งขันแล้ว เพื่อที่รัฐบาลจะสามารถแน่ใจในผลลัพธ์ว่าทีมของพวกเขาเป็นฝ่ายชนะ ขณะที่นักเรียนของฉันคนหนึ่งบอกว่า “น่าเบื่อมากเลย ที่ต้องนั่งดูแต่ชัยชนะ”

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ว่าจะพยายามค้นหาบนเว็บไซต์ต่าง ๆ มากแค่ไหน ฉันยังไม่เจอนักฟุตบอลเกาหลีเหนือคนใดที่เล่นให้กับสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเลย เป็นอย่างเคย รัฐบาลของพวกเขาหว่านเพาะข้อมูลผิด ๆ และนักเรียนของฉันเองก็ปราศจากการหาหลักฐานยืนยันความจริง ฉะนั้น ฉันคงไม่สามารถคาดหวังว่าพวกเขาจะสร้างคำอธิบายที่ชอบธรรมให้แก่ความเชื่อของตนเองได้

AFP / KCNA / KNS

AFP / KCNA / KNS

แทนที่ฉันจะสอนบทเรียนถึงการหาข้อมูล ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลยในที่นี่ ฉันขอให้นักเรียนของฉันอ่านเรียงความง่าย ๆ จากปี 2540 ที่อ้างคำพูดของประธานาธิบดีบิล คลินตันแห่งสหรัฐอเมริกา ในเรื่องความสำคัญของการให้โรงเรียนทุกแห่งในประเทศเชื่อมโยงกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้อนุญาตเพราะเห็นว่าเชื่อมโยงกับหัวในหนังสือที่ใช้มหาวิทยาลัยของเรา

ฉันหวังว่าพวกเขาจะสามารถเข้าใจถึงความสำคัญของอินเตอร์เน็ตและตระหนักว่าพวกเขาเองล้าหลังเพียงใด นอกจากนั้น ฉันยังได้ให้พวกเขาอ่านบทความอีก 4 ชิ้น ที่นำมาจากเดอะปรินซ์ตันรีวิว, เดอะนิวยอร์กไทม์ส, เดอะไฟแนนเชี่ยลรีวิว, และ ฮาร์วาร์ดแม็กกาซีน บทความเหล่านี้ล้วนแต่กล่าวถึงมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก, เฟซบุ๊ก, และทวิตเตอร์ แต่ไม่มีชิ้นไหนเลยที่ทำให้นักเรียนของฉันรู้สึกตื่นเต้นและอยากโต้เถียงด้วย ไม่แม้กระทั่งประโยคที่ว่าซักเกอร์เบิร์กทำเงินแสนล้านดอลลาร์จากสิ่งที่เขาเพ้อฝันขึ้นในหอพักสมัยเรียนมหาวิทยาลัย

เป็นไปได้เหมือนกันว่า พวกเขามองสิ่งที่ได้อ่านไปในฐานะเรื่องโกหก หรือบางทีอาจเป็นเพราะมุมมองแบบทุนนิยมถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับพวกเขา

ในวันถัดมา นักเรียนบางคนแวะมาหาฉันในชั่วโมงให้คำปรึกษา ด้วยความอยากที่จะเปลี่ยนหัวข้อเรียงความ ฉันรู้สึกประหลาดใจอย่างหนึ่ง เนื่องด้วยหัวข้อใหม่ ๆ ที่เขาเสนอทั้งหมดเกี่ยวพันกับความเสื่อมโทรมของสังคมอเมริกัน โดยนักเรียนคนหนึ่งพูดว่าเขาต้องการจะเขียนเกี่ยวกับการลงโทษทางร่างกายในโรงเรียนมัธยมของสหรัฐและญี่ปุ่น

อีกคนต้องการโต้แย้งว่านโยบายรัฐบาลอเมริกันที่จะตัดสินอนาคตเด็กจากผลตรวจระดับเชาวน์ปัญญาเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขณะที่นักเรียนอีกรายหนึ่งต้องการเขียนความชั่วร้ายของสหรัฐที่อนุญาตให้ผู้คนสามารถครอบครองอาวุธปืนได้อย่างเสรี คนที่ 4 บอกกับฉันว่าเชื้อเพลิงชีวภาพนั้นมีพิษและสหรัฐเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด

อีกคนหนึ่งต้องการเปลี่ยนหัวข้อเป็นการหย่า สิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในประเทศของพวกเขา แต่ในสหรัฐอเมริกา อัตราคู่ร่วมชีวิตที่หย่ากันมีเกินครึ่ง และการหย่านำไปสู่อาชญากรรมรวมถึงอาการป่วยทางจิตด้วย นี้คือสิ่งที่เขาบอกฉัน ก่อนที่ฉันจะถามกลับไปว่า “แล้วในประเทศนี้ คู่สมรสเขาทำอย่างไรกันเหรอ เวลาที่ร่วมชายคาด้วยกันไปสักพักแล้วไม่มีความสุข?” นักเรียนหนุ่มผู้นั้นมองมาที่ฉันอย่างว่างเปล่า

นักเรียนอีกคนต้องการจะเขียนเรื่องความร้ายกาจของแม็คโดนัลด์ ก่อนที่จะถามฉันต่อว่า “ว่าแต่อาหารที่แม็คโนดัลด์ขายนี้มันมีอะไรบ้างหรือ?” และนักเรียนอีกคนหนึ่งเข้ามาถามฉันว่า ประเทศไหนที่มีแฮ็กเกอร์มากที่สุดในโลก พวกเขาได้รับการปลูกฝังถึงคำตอบของคำถามนี้ว่าอเมริกา คำถามนี้ทำให้ฉันตะลึงไปเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉันเพิ่งชมข่าวทางสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเอเชียเกี่ยวกับอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์โดยเกาหลีเหนือ

กลับกัน ฉันเลือกที่จะบอกเขาว่า อาชญากรรมคอมพิวเตอร์อาจเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ ใครจะทำก็ได้ แม้กระทั่งผู้มาเยือนจากประเทศอื่น ๆ มันเลยยากที่จะระบุแน่ชัดว่าประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นแหล่งสำคัญของอาชญากรรมนี้

การตัดสินใจของพวกเขาที่จะเปลี่ยนหัวข้อเรียงความเพื่อประณามอเมริกา ดูเหมือนเป็นผลจากบทความที่กล่าวถึงซักเกอร์เบิร์กที่ฉันตั้งใจใช้เป็นแรงบันดาลใจแก่พวกเขาซึ่งบางคนคงมองว่าเป็นการโอ้อวด ขณะที่อุดมการณ์ชาตินิยมที่ถูกปลูกฝังไว้ในหัวพวกเขามาหลายยุคสมัยผลิตพลเมืองซึ่งมีความทะนงตนช่างเปราะบางเสียจนพร้อมปฏิเสธองค์ความรู้จากโลกภายนอกเสมอ

ความพยายามของฉันที่ต้องการขยายความตระหนักรู้ให้นักเรียนยังย้อนกลับมาเรื่อย ๆ เมื่อฉันให้พวกเขาเขียนเรียงความ 1 ย่อหน้าเกี่ยวกับ “กิมจัง” หรือประเพณีทำกิมจิประจำปี ฉันได้รับเรียงความที่เพียบด้วยคำโอ้อวดอย่างอหังการและถูกเพียรสอนกันมา

กว่าครึ่งอ้างว่ากิมจิเป็นอาหารที่โด่งดังที่สุดในโลก จนทำให้ประเทศอื่นต่างอิจฉาเกาหลีเหนือ นักเรียนของฉันคนหนึ่งเขียนเรียงความมาว่า รัฐบาลอเมริกาประกาศให้กิมจิเป็นอาหารประจำการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2539 และเมื่อฉันถามกลับ เขาบอกว่าทุกคนต่างรู้เรื่องนี้และเขาสามารถที่จะพิสูจน์ได้เพราะหนังสือเรียนของพวกเขาระบุไว้อย่างนั้น

ผ่านการค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตแบบเร่งรีบ ฉันพบว่าผู้ผลิตอาหารชาวญี่ปุ่นอ้างว่ากิมจิเป็นอาหารญี่ปุ่นและเสนอให้คณะกรรมการอาหารประจำการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนั้นบรรจุมันเข้าไปในเมนูประจำหมู่บ้านนักกีฬาอย่างเป็นทางการแต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฏิเสธ ถึงอย่างนั้น เรื่องราวนี้ถูกมาบ่มเพาะชาวเกาหลีเหนือในรูปร่างที่ผิดเพี้ยนไป หนำซ้ำยังกลายเป็นความรู้ทั่วไปของสังคมเกาหลีเหนือด้วย

 

AFP / ED JONES

AFP / ED JONES

ความต้องการจากใจที่อยากจะทำให้นักเรียนของฉันรับรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาเข้าใจเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด บางครั้งหมายถึงการนำตัวเองเข้าไปเสี่ยงอยู่บนความอันตราย เพื่อนร่วมงานเตือนฉันไว้ว่า “อย่าเชียว อย่าไปแตะต้องความรู้พวกนั้นเลย หากหนังสือของพวกเขาบอกว่าอะไรจริง เธอไม่สามารถจะไปบอกให้นักเรียนรู้ว่ามันเป็นเรื่องโกหกได้”

บางครั้งพวกเขาถามฉันว่าทำไมฉันถึงได้ทานข้าวน้อยนัก ขณะที่พวกเขาตักเสียจนพูนจานแทบทุกมื้อ ฉันอธิบายไปว่าฉันชอบข้าวอยู่หรอกแต่ก็ไม่ได้ต้องการที่จะทานมันตลอดเวลา พวกเขาถามต่อว่าฉันกินอะไรบ้างนอกจากข้าวและแนงมยอน หมี่เย็นอันเป็นอาหารประจำชาติของพวกเขา ฉันไม่สามารถจะบอกได้ว่าฉันชอบไข่เบเนดิกต์ และน้ำปั่นผลไม้สด ที่ฉันทำคือบอกชื่ออาหารตะวันตกที่พวกเขาเคยได้ยินออกไป สปาเก็ตตี้และฮ็อตด็อกส์

ฉันรู้ว่าคนเกาหลีเหนือเองต่างก็มีความสุขกับการรับประทานไส้กรอกในแบบฉบับของพวกเขา เพราะฉันเห็นพวกเขาต่อแถวซื้ออาหารชนิดนี้เสียยาวเหยียดเมื่อครั้งมีเทศกาลการค้าระหว่างประเทศ

หนึ่งในนักเรียนของฉันเขียนเรียงความเกี่ยวกับกิมจังว่า ชาวเกาหลีคนใดที่ชอบฮ็อตด็อกส์และสปาเก็ตตี้มากกว่ากิมจิ นำความเสื่อมเสียมาให้แผ่นดินแม่ เพราะหลงลืมความยิ่งใหญ่ของกิมจิ

ไม่มีสิ่งใดเลยที่ดูเหมือนจะพังทะลายองค์ความรู้อันโดดเดี่ยวของพวกเขาได้ เหนือกว่านั้น จุดยืนเหล่านี้ต่างไม่มีพื้นที่ให้กับการถกเถียงใด ๆ ในเมื่อทุกหนทางนำไปสู่ข้อสรุปเดียว

ฉันส่งกระดาษแผ่นนั้นคืนให้เขาพร้อมยื่นความคิดเห็นว่า “เป็นไปไม่ได้เหรอ ที่จะชอบทั้งสปาเก็ตตี้และกิมจิ?”

หลังสอนวิชาเขียนเรียงความไปได้ระยะหนึ่ง นักเรียนคนหนึ่งพูดกับฉันระหว่างทานอาหารเย็นว่า “มีเรื่องแปลก ๆ เกิดขึ้นตอนบ่ายที่เราเรียนคาบสังคมศาสตร์” พวกเขาไม่เคยเลยที่จะเอ่ยปากถึงคาบเรียนจูเช มันทำให้ฉันตั้งใจฟังอย่างมาก

นักเรียนคนนั้นเล่าต่อ “พวกเราต้องเขียนเรียงความ!” พร้อมอธิบายว่าปกติพวกเขามักเขียนเรียงความสั้น ๆ ในภาษาเกาหลี และเขาไม่เคยมองพวกมันในฐานะเรียงความมาก่อน แต่ตอนนี้เขาตระหนักแล้ว และมันทำให้เขารู้สึกแปลก

“แปลกยังไงเหรอ?” ฉันถาม

“ผมไม่รู้” เขาตอบและนิ่งเงียบไปด้วยการครุ่นคิด “ผมเคยคิดว่ามันเป็นเพียงเรียงความชิ้นหนึ่ง แต่ผมเข้าใจแล้วว่ามันแปลกออกไป การเขียนในภาษาอังกฤษกับการเขียนในภาษาเกาหลีช่างต่างกันเหลือเกิน แต่ก็ยังมีความเหมือนกัน และผมพยายามคิดถึงโครงสร้างของเรียงความขณะที่ผมเขียนมัน ยิ่งทำให้ผมรู้สึกแปลกขึ้นไปใหญ่”

ฉันไม่ได้ถามเขาต่อ แต่ฉันคิดว่าฉันเข้าใจ มันต้องเป็นความสับสนลึก ๆ เกี่ยวกับแนวทางการเขียนเรียงความในคาบสังคมศาสตร์ ในประเทศของเขาที่ไร้ซึ่งการพิสูจน์ ตรวจสอบ หรือถ่วงดุล เว้นเสียแต่พวกเขาต้องการพิสูจน์ว่าท่านผู้นำของพวกเขาเป็นผู้เขียนบทละครและหนังสือหลายพันเล่มด้วยตัวคนเดียว รวมถึงปกป้องประเทศชาติและแสดงปาฏิหาริย์อีกหลายต่อหลายครั้ง

โครงสร้างทั้งหมดของพวกเขาถูกออกแบบมาเพื่อไม่ให้ตั้งคำถามหรือถูกวิพากษ์ ฉะนั้นรูปแบบของการเขียนเรียงความที่ข้อโต้แย้งเป็นสิ่งที่ต้องถูกพิสูจน์ ถือเป็นการท้าทายระบบของเขาทั้งระบบ

ณ ประเทศแห่งนี้ การโต้แย้งไม่สามารถทำได้

ฉันมองไปที่นักเรียนคนนั้น และรู้สึกถึงความผิดปกติอันคุ้นเคย บางทีนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น คำถามที่พวกเขาอาจตั้งขึ้น คำถามที่พวกเขาควรจะถาม คำถามที่พวกเขาจะตระหนักว่าที่พวกเขาไม่เคยถามเป็นเพราะพวกเขาไม่เคยคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ทำได้ หรืออาจเป็นเพราะการตั้งคำถามหมายความว่าพวกเขาไม่สามารถมีตัวตนในระบบนี้ได้อีกต่อไป

 

ที่มา  มติชนออนไลน์

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X