คุยกับไซม่อน เคอร์ติสใน"Woman in Gold"
2015-04-19 21:46:13
Advertisement
คลิก!!!

ปลายเดือนเมษายนนี้จะมีหนังดราม่าคุณภาพเข้าฉายบ้านเราคือ "Woman in Gold" หนังที่สร้างโดยอ้างอิงจากเหตุการณ์จริงเกี่ยวกับการต่อสู้ข้ามผ่านอุปสรรคของสตรีผู้หนึ่งที่ต้องการจะเรียกร้องทรัพย์สินของเธอที่มีมูลค่าสูงกว่า 5,000 ล้านบาทกลับคืนและถามหาความยุติธรรมให้กับสิ่งที่ครอบครัวของเธอต้องประสบมาในอดีต ของผู้กำกับฯ ไซม่อน เคอร์ติส (My Week with Marilyn) นำแสดงโดย เฮเลน เมียร์เรน (The Queen), ไรอัน เรย์โนลด์ส (R.I.P.D.) และ ดาเนียล บรูห์ล (Rush)

  "Woman In Gold" เล่าเรื่องราวของ มาเรีย อัลท์แมน (เฮเลน เมียร์เรน) สตรีสูงวัยเชื้อสายยิวที่ต้องออกจากเวียนนา, ออสเตรีย เพื่อหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากนาซี ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากเสร็จสิ้นสงคราม เธอกลับมาประเทศบ้านเกิด เพื่อทวงทรัพย์สินของครอบครัวที่ถูกนาซียึด ซึ่งรวมถึงภาพวาด "หญิงสาวในชุดสีทอง" (Portrait of Adele Bloch-Bauer) หนึ่งในผลงานขึ้นชื่อของ กุสตาฟ คลิมต์ (Gustav Klimt) ศิลปินชาวออสเตรีย ผู้โด่งดังในช่วงศตวรรษที่ 19 ด้วยความช่วยเหลือของ แรนดอล เชิร์นเบิร์ก (ไรอัน เรย์โนลด์ส) ทนายหนุ่มใจกล้าผู้ไร้ประสบการณ์ชาวอเมริกัน 

 

    "Woman In Gold" เป็นหนังใหญ่เรื่องที่สองของ เคอร์ติส ที่เริ่มต้นเส้นทางสายนี้จากการทำงานในโรงละคร "Royal Court Theatre" ใน ลอนดอน ต่อจาก "My Week with Marilyn" ที่ได้รับคำชื่นชมอย่างยิ่ง โดย เคอร์ติส กล่าวว่า "ผมไม่ค่อยมั่นใจเรื่องลำดับเวลาเท่าไหร่นะ แต่ตั้งแต่ก่อนผมจะทำ Marilyn ผมชอบสารคดีเกี่ยวกกับภาพวาด ผมจำวันเวลาที่แน่นอนไม่ได้ แต่ก่อนหนังเรื่องที่แล้ว และหลังจาก Marilyn ผมได้เจอกับโปรดิวเซอร์หลายคนที่ ลอสแอนเจลิส และได้ข้อเสนอหลายชิ้น แต่น่าตลกดีที่ผมลงเอยด้วยการทำหนังที่ผมอยากทำตั้งแต่แรก" 

 

    หนังเล่าเรื่องราวการทวงคืนศิลปะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และใน "Woman In Gold" มันมีความหมายหลายอย่างที่ เคอร์ติส หยิบยกมา "แรนดอล เชิร์นเบิร์ก พูดตอนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองว่า ศิลปะไม่ใช่สิ่งสำคัญลำดับแรกๆ ที่มีการฟื้นฟูในยุโรป มันใช้เวลาพอสมควรกว่าจะมีคนหยิบมันขึ้นมา และในกรณีของ มาเรีย อัลท์แมน เธอเป็นผู้รอดชีวิตจากนาซีคนสุดท้ายในเวียนนาที่ยังมีชีวิตอยู่ เธอจึงเป็นความหวังของครอบครัวในการทวงภาพวดกลับมา"

 

    เคอร์ติส เล่าความสัมพันธ์ของสองนักแสดงต่างวัยอย่าง เฮเลน เมียร์เรน กับ ไรอัน เรย์โนลด์ส ว่า "เรามองว่านี่คือภาพยนตร์เกี่ยวความรักระหว่างคนสองคนที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ผู้ลี้ภัยสูงอายุจากเวียนนา อาศัยอยู่ใน ลอสแอนเจลิส และหลานชายของผู้ลี้ภัยอีกคน เราต้องการปรับภาพลักษณ์ของ แรนดอล เชิร์นเบิร์ก ให้ต่างจากตัวเขาจริงๆ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทวงคืนงานศิลปะ และเวียนนา เราอยากให้ตัวละครของเขาเป็นคนอเมริกันที่ร่วมเดินทางไปด้วยในฐานะมือใหม่ จากนั้นคุณก็หวังว่าทุกอย่างจะลงล็อก และผมโชคดีมากเพราะ เฮเลน กับ ไรอัน คลิ้กกันตั้งแต่วันแรก"

 

    อีกบทที่สำคัญคือ "อเดล" เพราะชื่อภาพก็บอกแล้วว่า "Portrait of Adele Bloch-Bauer" เธอเกี่ยวพันกับ มาเรีย อัลท์แมน คือมีศักดิ์เป็นน้า และ เคอร์ติส ตัดสินใจเลือก อันท์เจ ทรอว์ (Man of Steel,  Seventh Son) "ผมอยู่ลอนดอน และหนังเพิ่งอยู่ช่วงเริ่มต้น แล้วเอเยนต์ผมที่ ลอสแอนเจลิส บอกผมว่ามีนักแสดงเยอรมันที่สนใจรับบท มาเรียตอนสาวๆ ผมเพิ่งเจอเธอครั้งแรก แล้วผมก็คิดกับตัวเองว่า - ถ้าผมไม่บ้าไปซะก่อน นี่แหละ อเดล บลอช-เบาเออร์ - เธอเป็นคนแรกของหนังที่ผมจ้างมาเล่น ผมกำลังมองหาคนที่มีส่วนคล้ายคลึง และ อันท์เจ ทรอว์ เหมาะสมทุกอย่าง"     

 

    หนังบรรยายความสูญเสียของ อัลท์แมน แต่น่าสนใจเหมือนกันว่า เคอร์ติส คิดยังไงกับการที่ภาพวาดๆ เปลี่ยนมือจากเจ้าของที่ ออสเตรีย ไปสู่ผู้ให้ราคาสูงสุดใน อเมริกา มันเป็นคำถามเกี่ยวกับ "สิทธิความเป็นเจ้าของ" ว่ามันควรเป็นของคนที่ดูแลมันมานาน หรือ ของบุคคลๆ หนึ่ง ?

 

    "เป็นคำถามที่ยุติธรรม เปิดให้มีการแสดงความเห็น แต่ในกรณีหนังเรื่องนี้ และภาพนี้ ลุงของมาเรีย จ้าง กุสตาฟ คลิมต์ ให้วาดภาพน้าอเดล ของเธอ และมันถูกแขวนไว้ผนังบ้านครอบครัว และบ้านของพวกเขาถูกนาซีรุกราน ผมว่ามันง่ายมากที่จะหาเหตุผลให้การเดินทางของภาพ อย่าง มาเรีย ภาพวาดมันมีที่มาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อยู่ที่ เวียนนา และมันเหมือนกับ มาเรีย ที่มาลงเอยใน สหรัฐอเมริกา"

 

 

 

 

 

http://www.siamdara.com

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X