ญี่ปุ่นอัปเปหิ “คำรณวิทย์” สาหัสยิ่งกว่าติดคุก
2015-07-14 14:47:35
Advertisement
คลิก!!!

        สื่อมวลชนญี่ปุ่นเปิดเผยสาเหตุที่อัยการญี่ปุ่นตัดสินใจไม่ฟ้องร้อง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีเจตนาในการกระทำผิด ขณะที่ชาวญี่ปุ่นให้ความเห็นว่าการขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศนั้น รุนแรงยิ่งกว่าโทษจำคุก
       

       สำนักข่าวเกียวโต รายงานว่า อัยการจังหวัดชิบะตัดสินใจไม่ฟ้องร้องพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ มีเจตนาพกปืนเข้าประเทศญี่ปุ่น โดยพล.ต.ท.คำรณวิทย์เองก็ยอมรับผิดในทุกข้อกล่าวหา พร้อมระบุว่าปืนที่ถูกตรวจพบที่สนามบินนาริตะนั้นเป็นของตนเอง ซึ่งได้รับมาจากเพื่อนชาวอเมริกัน และลืมว่าได้นำปืนใส่ไว้ในกระเป๋าพกพา
       
       หลังจากนี้ อดีตนายตำรวจใหญ่ของไทยจะถูกส่งตัวให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น และส่งตัวกลับประเทศไทย และจะถูกขึ้นบัญชีดำว่าเคยกระทำความผิดอาญาในญี่ปุ่น ห้ามเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นอย่างน้อย 1-5 ปี
       
       ทั้งนี้ถึงแม้ว่าอัยการญี่ปุ่นจะไม่ได้สั่งฟ้องพล.ต.ท.คำรณวิทย์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “เป็นผู้บริสุทธิ์” หรือ “ไม่มีความผิดตามกฎหมาย” หากแต่การไม่ฟ้องร้องนั้นเป็นเพราะอัยการเห็นว่าผู้ต้องหาไม่มีเจตนาทำผิดและได้รับสารภาพแล้ว จึงเห็นว่าการส่งตัวกลับประเทศจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และช่วยลดความยุ่งยากรวมทั้งภาระงานของศาลด้วย 
 

ญี่ปุ่นอัปเปหิ “คำรณวิทย์” สาหัสยิ่งกว่าติดคุก
พอล แมคคาทนีย์ ถูกจับกุมที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 16 มกราคม ปี 1980

        “ห้ามเข้าญี่ปุ่น” สาหัสยิ่งกว่าติดคุก
       ถึงแม้การตัดสินใจของอัยการจะไม่อาจจะก้าวล่วงได้ หากแต่เมื่อสอบถามความคิดเห็นจากชาวญี่ปุ่นที่เคยใช้ชีวิตในประเทศไทยนานหลายปี ระบุว่า การขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นโทษที่สาหัสยิ่งกว่าการจำคุก
       
       “ในสังคมญี่ปุ่นจะแบ่งคนในและคนนอกอย่างชัดเจน คนนอกที่หมายรวมถึงคนต่างชาติที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นจะมีโอกาสก้าวหน้าน้อยมากในสังคมญี่ปุ่น หากแต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่า คือ การที่ไม่ได้เป็นแม้กระทั่งคนนอก ซึ่งหมายถึงว่าบุคคลนั้นไม่มีตัวตนสำหรับชาวญี่ปุ่น”
       
       ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ กรณีเซอร์พอล แมคคาทนีย์ นักดนตรีชื่อดังที่ถูกจับกุมในข้อหาพกพากัญชาเข้าประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 16 มกราคม ปี 1980 ซึ่งทำให้เขาต้องใช้ชีวิตในคุกของญี่ปุ่นนานถึง 9 วันจึงได้รับการปล่อยตัว อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ร้ายแรงยิ่งกว่า คือ พอล แมคคาทนีย์ ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นนานเกือบ 10 ปี ทำให้เขาสูญเสียโอกาสในการเปิดการแสดงคอนเสิร์ต ถึงแม้จะมีแฟนคลับจำนวนมากในแดนอาทิตย์อุทัยก็ตาม
       
       ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง คือ นางจูลี แฮมป์ อดีตผู้บริหารของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปฯ ที่ถูกจับกุมในข้อหาต้องสงสัยว่านำเข้ายาระงับปวดต้องห้ามจากอเมริกา ซึ่งเธอได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ได้ถูกตั้งข้อหา หากแต่เธอไม่เพียงต้องสูญเสียตำแหน่งผู้บริหารของของโตโยต้า แต่เธอจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งระดับสูงของบริษัทญี่ปุ่นได้อีก เนื่องจากมีประวัติด่างพร้อย ถึงแม้ว่าเธอจะไม่มีเจตนากระทำผิดก็ตาม
       
       ชาวญี่ปุ่นคิดว่าการลงโทษทางสังคมรุนแรงกว่าโทษทางกฎหมาย เช่น บริษัทที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้า หรือบุคคลงที่มีประวัติด่างพร้อยแทบจะไม่มีโอกาสออกหน้าออกตาในสังคมของญี่ปุ่นได้อีกเลย บริษัทที่มีปัญหาแทบจะต้องปิดกิจการ ส่วนบุคคลที่ถูกกีดกันออกจากสังคมหลายคนถึงกับต้องฆ่าตัวตาย
       
       ในกรณีของพล.ต.ท.คำรณวิทย์นั้น ชาวญี่ปุ่นเห็นว่าเป็น “คนนอก” อยู่แล้ว และเรื่องนี้ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงกับประเทศญี่ปุ่น การส่งตัวกลับประเทศพร้อมห้ามเข้าญี่ปุ่นจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ส่วนประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไร จะให้โอกาสอดีตนายตำรวจผู้นี้อีกหรือไม่ก็คงเป็นเรื่องของคนไทยต้องตัดสินใจกันเอง. 

 

ขอขอบคุณที่มา  http://manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X