ญี่ปุ่นปล่อยตัว”ผู้บริหารหญิงมะกันของโตโยต้า” แล้ว หลังโดนข้อหานำเข้ายาผิดกฎหมาย
2015-07-09 15:27:28
Advertisement
คลิก!!!

เอพี/ASTVผู้จัดการ – ทางการญี่ปุ่นสั่งปล่อยตัว “จูลี แฮมป์” ผู้บริหารหญิงมะกันของโตโยต้าแล้วหลังต้องสงสัยนำเข้ายาแก้ปวดต้องห้ามจากอเมริกา 57 เม็ด ทนายญี่ปุ่นชี้เป็นอาชญากรรมหนักในญี่ปุ่น เผยการประกาศลาออกอาจมีส่วนช่วยให้ไม่ต้องถูกสั่งฟ้อง สถานทูตไทยเผยชื่อยา 11 ชนิดที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายและห้ามนำเข้าญี่ปุ่น 
       
       วานนี้ (8 ก.ค.) จูลี แฮมป์ วัย 55 ปี อดีตผู้บริหารของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปฯ ที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมาในข้อหาต้องสงสัยว่านำเข้ายาระงับปวด ออกซิโคโดน (Oxycodone) จากอเมริกา โดยพัสดุจ่าหน้ามาถึงตัวเธอ ได้รับการปล่อยตัวแล้ว โดยไม่ได้ถูกตั้งข้อหาใดๆ
       
       แฮมป์ปรากฎตัวต่อหน้าสื่อและสาธารณชนที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานของตำรวจกรุงโตเกียว โดยมีสีหน้าเคร่งขรึมและดูอ่อนล้า ก่อนที่เธอจะขึ้นรถตู้ออกไป โดยเมื่อเดือนเมษายน 2558 หรือ สามเดือนก่อนแฮมป์ ซึ่งมีสัญชาติอเมริกันได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโตโยต้า มอเตอร์ ก่อนที่จะถูกจับเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน โดยเธอได้ยื่นใบลาออกจากโตโยต้าหลังถูกจับกุมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา
       
       อัยการของญี่ปุ่นเปิดเผยรายละเอียดของคดีว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 แฮมป์และบิดาของเธอสั่งยาออกซิโคโดน 57 เม็ด จากสหรัฐฯ โดยส่งพัสดุทางอากาศมายังโรงแรมที่พักในกรุงโตเกียว โดยการกระทำดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมายควบคุมยาเสพติดของญี่ปุ่น แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจที่จะไม่สั่งฟ้องดำเนินคดีต่อแฮมป์
       
       ทั้งนี้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตำรวจญี่ปุ่นได้บุกเข้าไปตรวจค้นยังสำนักงานใหญ่ของโตโยต้า ทั้งในกรุงโตเกียว และสำนักงานในนาโงยา ก่อนที่จะมีการควบคุมตัวผู้บริหารหญิงชาวอเมริกันของโตโยต้า โดยในกรณีเช่นนี้ตามกฎหมายญี่ปุ่นกำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้สูงสุด 23 วัน โดยไม่ต้องแจ้งข้อหาอย่างเป็นทางการ
       
       สำหรับยาออกซิโคโดน เป็นยาที่ประเทศญี่ปุ่นควบคุมอย่างเข้มงวด และต้องสั่งโดยแพทย์หรือเภสัชกรในทั้งสหรัฐฯและญี่ปุ่น ขณะที่หากจะนำเข้ามาในญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลเสียก่อน นอกจากนี้ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องนำมันเข้ามาด้วยตัวเองอีกด้วย
       
       แฮมป์ เข้าร่วมงานกับโตโยต้าในส่วนงานที่สหรัฐฯ ตั้งแต่ 2555 โดยก่อนหน้านี้เธอเคยทำงานให้กับ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เป๊ปซี่โค และเจเนอรัล มอเตอร์ส มาก่อน ขณะที่เมื่อวานนี้ โตโยต้าได้ประกาศแต่งตั้ง ชิเกรุ ฮายาคาวะ ผู้บริหารอาวุโสและคณะกรรมการของบริษัท ซึ่งเข้าทำงานในโตโยต้าตั้งแต่ปี 2520 ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนแฮมป์ โดยมีประสบการณ์การทำงานให้กับบริษัทในสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ของกลุ่มโตโยต้า
       
       ด้านอากิโอะ โทโยดะ ประธานกลุ่มโตโยต้าได้ออกมากล่าวปกป้องแฮมป์ว่า เธอเป็นสมาชิกที่สำคัญของทีมงานโตโยต้า โดยเธอถือเป็นผู้บริหารชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในญี่ปุ่น และบริษัทควรช่วยเหลือแฮมป์เรื่องคดีมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามหลังจากที่เธอได้รับการปล่อยตัวแล้วทางเจ้าหน้าที่ของโตโยต้ากลับบอกว่า พวกเขาไม่ทราบเหมือนกันว่าแฮมป์มีแผนจะทำอะไรต่อ
       
       ด้านซากาเอะ โคโมริ ทนายที่รับว่าความในคดีเกี่ยวกับยาอยู่บ่อยครั้ง บอกว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าคดีลักษณะนี้อัยการญี่ปุ่นจะส่งฟ้องหรือไม่ส่งฟ้อง เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ที่ครอบครองยาจำนวนน้อยกว่านี้ก็เคยถูกสั่งฟ้องมาแล้ว
       
       “นี่เป็นคดีอาชญากรรมร้ายแรงในญี่ปุ่น แต่เจ้าหน้าที่อาจมองว่าเธอต้องเผชิญกับการลงโทษจากสังคมมากพอแล้ว และเธอเองก็ไม่ได้ถูกตัดสินว่าใช้ยาในทางที่ผิด” ทนายซากาเอะระบุและว่าการตัดสินใจของอัยการในลักษณะนี้อาจถูกมองว่าไม่ค่อยเท่าเทียมเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามเขามองว่าการประกาศลาออกจากโตโยต้าคงมีส่วนช่วยให้อัยการตัดสินใจไม่สั่งฟ้องคดีแฮมป์
       
       • เตือนยา 11 ชนิด ต้องห้ามนำเข้าญี่ปุ่น
       
       ขณะที่วานนี้ (8 ก.ค.) เช่นกัน เฟซบุ๊กแฟนเพจ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นได้โพสต์ข้อความมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่มีการรายงานกรณีชาวต่างชาติถูกเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นควบคุมตัวเนื่องจากสั่งยาแก้ปวดชนิดหนึ่งเข้าประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากยาแก้ปวดชนิดนั้นเป็นยาที่รัฐบาลญี่ปุ่นห้ามนำเข้ามาประเทศ เพราะเป็นยาที่มีส่วนผสมต้องห้ามภายใต้กฎหมายของญี่ปุ่น สถานทูตฯขอแจ้งตัวอย่างรายชื่อยาที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายและห้ามนำเข้ามาในญี่ปุ่น ดังนี้
       
       1. TYLENOL COLD
       2. NYQUIL
       3. NYQUIL LIQUICAPS
       4. ACTIFED
       5. SUDAFED
       6. ADVIL COLD & SINUS
       7. DRISTAN COLD/ “NO DROWSINESS”
       8. DRISTAN SINUS
       9. DRIXORAL SINUS
       10. VICKS INHALER
       11. LOMOTIL
       
       *อ้างอิงรายชื่อยาจากเว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นประจำนครซีแอทเทิล

       
       รัฐบาลญี่ปุ่นมีระบบการตรวจสอบการนำเข้ายาอย่างเข้มงวด ทั้งยานำมาด้วยตัวเองทางเครื่องบินโดยสาร หรือยาที่ส่งมาทางพัสดุไปรษณีย์ สถานทูตฯจึงขอเตือนคนไทยทุกคนให้พึงระวังการนำยาเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น หากนำเข้ามาก็มีความเป็นไปได้ที่จะโดนควบคุมตัวและดำเนินคดีตามกฎหมายญี่ปุ่น
       
       

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
 

 

 

 

 

ขอขอบคุณที่มา  http://manager.co.th/
 
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X