เคยเห็นไหม "ผีเสื้อกินปลาร้า" ปางสีดา ต้องใช้วันละ 3-5 กิโลกรัม (ชมภาพ)
2014-12-29 12:15:57
Advertisement
คลิก!!!

 

อุทยานฯเขาใหญ่จัดกำลังเข้มดูแลไม้พะยูงปีใหม่ หลังแก๊งตัดอาศัยช่องโหว่เจ้าหน้าที่หละหลวม ลักลอบขึ้นมาตัด เผยมาตรการเข้มปรับนักเที่ยวให้อาหารลิง 10 เดือนได้เงินเกือบ 1 แสนบาท หวังปรับพฤติกรรมคนและลิง

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลวันหยุดปีใหม่มีนักท่องเที่ยวและประชาชนเข้าไปเที่ยวในอุทยานแห่งชาติจำนวนมาก ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ ทั้งนี้ขอแจ้งอีกครั้งว่าอุทยานฯใหญ่ๆ และยอดนิยมเวลานี้บ้านพักจองเต็มหมดแล้ว อาจจะเข้าไปเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับได้ แต่พักค้างคืนไม่ได้ อาจจะต้องไปพักอุทยานฯหรือรีสอร์ตที่อยู่ข้างเคียง เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่รองรับนักท่องเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับได้ประมาณ 15,000 คน และพักค้างคืนได้ประมาณ 3,000 คน ซึ่งเวลานี้บ้านพักในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เต็มไปจนถึงวันที่ 5 มกราคม 2558 


"เรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างจะเป็นกังวลคือช่วงเทศกาลท่องเที่ยวที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯหลายแห่งจะต้องมาให้บริการนักท่องเที่ยวเหมือนเป็นการเปิดช่องว่างให้กับพวกลักลอบตัดไม้ทำลายป่าที่จ้องฉวยโอกาสนี้เข้าไปกระทำการดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักลอบตัดไม้พะยูงเวลานี้จะเหลือไม้ขนาดใหญ่อยู่ไม่มากนักแล้วเหลืออยู่เฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และพื้นที่ป่าใกล้เคียงเท่านั้นปีนี้จึงได้วางกำลังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหน่วยหาข่าว และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเอาไว้ทั้งในพื้นที่จุดเสี่ยงและในพื้นที่แหล่งไม้พะยูงเต็มพิกัด" นายนิพนธ์กล่าว 

นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ถือเป็นพื้นที่เดียวที่ยังเหลือไม้พะยูงขนาดใหญ่อยู่ จึงมีความพยายามของแก๊งลักลอบขนและค้าไม้พะยูงเข้าไปลักลอบตัด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลท่องเที่ยว ที่กลุ่มแก๊งดังกล่าวจะคิดว่าเจ้าหน้าที่มัวแต่มารับรองนักท่องเที่ยว มีการวางกำลังดูแลลาดตระเวนป่าน้อย 

"ปีที่ผ่านมาเราได้รับบทเรียนเรื่องนี้มาแล้ว ปีนี้จึงได้วางมาตรการที่ค่อนข้างเข้มข้นสำหรับการเฝ้าระวังพื้นที่ป่าแหล่งไม้พะยูงแหล่งสุดท้าย โดยจัดสายตรวจพิเศษ 4 ชุด ชุดละ 10 นาย เป็นเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมทั้งฝ่ายหาข่าว ทุกคนจะพร้อมสำหรับการเคลื่อนที่ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลาช่วงวันหยุดยาว อันนี้ไม่รวมกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง ตามหน่วยต่างๆ ในป่าที่มีทั้งหมด 23 หน่วย ทุกคนประจำการอยู่ในพื้นที่ทั้งหมด โดยจะจัดชุดสำหรับดูแลและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเอาไว้ต่างหาก ส่วนเรื่องการดูแลห้องพักจะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้หญิง ซึ่งทุกคนจะทำงานล่วงเวลากันหมดในช่วงวันหยุดปีใหม่" นายครรชิตกล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลอะไรกับการบริหารจัดการ และดูแลนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือไม่ นายครรชิตกล่าวว่า ไม่ได้กังวลอะไร เพราะได้เตรียมการทุกอย่างไว้ค่อนข้างพร้อม แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้นักท่องเที่ยวทุกคนปฏิบัติคือ การเคารพกฎกติกาภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการให้อาหารสัตว์

"ต้องขอร้องเลยว่า ขอให้ใจแข็งสักนิดเรื่องการให้อาหารสัตว์ ทั้งลิงและกวาง โดยเฉพาะลิงนั้นการที่คนให้อาหาร จนกลายเป็นลิงนิสัยไม่ดีมารอรับแต่อาหารจากนักท่องเที่ยวอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ในป่ามีอาหารให้กินมากมาย ที่ผ่านมา พยายามเคร่งครัด หากเห็นนักท่องเที่ยวคนไหนให้อาหารจะปรับทันที ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป แม้ปริมาณการให้อาหารสัตว์จะน้อยลง แต่ยอมรับว่าเมื่อลับหูลับตาเจ้าหน้าที่ก็ยังคงมีการให้อาหารสัตว์อยู่ โดยตลอดช่วงเดือนตุลาคม 2556-พฤศจิกายน 2557 เราสามารถเก็บเงินค่าปรับจากนักท่องเที่ยวได้เงินถึง 92,000 บาทเลยทีเดียว เฉพาะเดือนพฤศจิกายนได้มากถึง 17,000 บาท" นายครรชิตกล่าว 

นายนุวรรต ลีลาพตะ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติปางสีดา กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติปางสีดาเป็นพื้นที่มีผีเสื้อหลากหลายชนิดและชุกชุมที่สุดในประเทศไทย เป็นผีเสื้อที่เป็นที่รู้จัก หรือได้รับการตั้งชื่อจากนักวิทยาศาสตร์แล้วประมาณ 450 ชนิด อีก 50 ชนิดยังไม่ได้ตั้งชื่อ และอยู่ระหว่างการค้นคว้า ทำความรู้จักว่าเป็นชนิดใด พันธุ์ใด รวมทุกๆ จุดภายในพื้นที่อุทยานฯพบว่ามีจำนวนหลายหมื่นตัว ช่วงเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคมไปจนถึงมีนาคมจะเป็นช่วงเวลาที่มีผีเสื้อออกมาให้เห็นมากที่สุด ส่วนตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกรกฎาคมจะเป็นช่วงเวลาที่มีความหลากหลายพันธุ์ของผีเสื้อมากที่สุด คาดว่าแต่ละจุดที่มีผีเสื้ออาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานฯนั้นรวมกันหลายหมื่นตัวเลยทีเดียว

"ตัวที่เป็นพระเอก-นางเอกของพื้นที่เช่นผีเสื้อลายซิกแซ็กผีเสื้อหนอนกะทกรกผีเสื้อหนอนใบรักผีเสื้อเลอะเทอะธรรมดาเป็นต้นสำหรับช่วงเวลานี้ทุกคนที่เข้ามาเที่ยวอุทยานแห่งชาติปางสีดาก็จะเห็นผีเสื้อหนอนใบกุ่มและผีเสื้อหนอนคูณ มาก จุดที่จะเห็นมากที่สุดคือบริเวณโป่งผีเสื้อ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 1 กิโลเมตร และที่หน่วยพิทักษ์ ปด.5 ซึ่งจะเห็นผีเสื้อบินตามกันเป็นสายและเกาะกลุ่มกัน แต่ละจุดนับพันตัว เหลืองอร่าม งดงามอย่างยิ่ง" หัวหน้าอุทยานแห่งชาติปางสีดากล่าว และว่า น้อยคนที่จะรู้ว่าเบื้องหลังความงดงามของผีเสื้อในอุทยานแห่งชาติปางสีดาคือ การกินอาหารเสริมหรือเกลือแร่ อาหารหลักของผีเสื้อคือน้ำหวานจากดอกไม้ ซึ่งทุกๆ 3 วันเจ้าหน้าที่จะต้องเอาอาหารที่มีเกลือ คือ น้ำปลาร้าไปราดเอาไว้ตามโป่ง เพื่อให้ผีเสื้อมากิน

"เราต้องใช้น้ำปลาร้าประมาณ 3-5 กิโลกรัมผสมกับน้ำแล้วไปราดไว้ตามโป่งผีเสื้อทุกๆ โป่ง ผีเสื้อก็จะลงมากิน สังเกตว่าจุดไหนที่ราดน้ำปลาร้าผีเสื้อจะลงมาเกาะกินมาก ก่อนหน้าเคยเอาน้ำเกลือไปราด พบว่าผีเสื้อมาเกาะไม่มากเท่ากับน้ำปลาร้า โดยอุทยานฯจะต้องซื้อน้ำปลาร้ามาให้ผีเสื้อเดือนละ 4,000 บาท หรือปีละ 48,000 บาท กำลังหารือกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องผีเสื้อของอุทยานฯอยู่ว่าจะตั้งกองทุนผีเสื้อเพื่อหาเงินมาซื้อปลาร้าให้ผีเสื้อกิน"นายนุวรรตกล่าว

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติปางสีดากล่าวว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องขอร้องกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมผีเสื้อคืออย่าไปจับหรือแตะตัวผีเสื้ออย่างเด็ดขาดเพราะที่ปีกของผีเสื้อนั้นมีแป้งบางชนิดเพื่อรักษาความสมดุลของตัวผีเสื้อเอาไว้หากมีคนไปจับจะทำให้แป้งที่ปีกติดมือ หมายความว่าจะทำให้ผีเสื้อตัวนั้นเสียสมดุล บินไม่ได้อีกต่อไป และจะตายภายในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน


ที่มา  มติชนออนไลน์

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X