ระวัง! ท้องเสียในหน้าร้อน
2012-07-18 12:56:30
Advertisement
คลิก!!!
ปวดท้อง


ระวัง! ท้องเสียในหน้าร้อน (APPEAL)
โดย พญ.จันทร์รุ่ง สิทธิพงศ์

"คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย...ระวังอาหารเป็นพิษ และลำไส้อักเสบเฉียบพลัน"

อากาศร้อน ๆ อย่างนี้ ระวังท้องเสียกันหน่อยนะคะ ทั้งนี้ พญ.จันทร์รุ่ง สิทธิพงศ์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล กล่าวเตือนว่า "อากาศบ้านเราร้อนขึ้น จึงเอื้อให้มีเชื้อโรคต่าง ๆ เจริญเติบโตรวดเร็วในอาหารที่ตั้งทิ้งไว้ ทำให้เกิดโรคท้องเสียได้ง่าย" ดังนั้น คุณหมอจันทร์รุ่ง จึงมีข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพตัวเองในฤดูร้อนนี้

1.โรคอาหารเป็นพิษ

อาการของอาหารเป็นพิษคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีไข้ อาการเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่เรารับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคเข้าไปประมาณ 2 ชั่วโมงขึ้นไป ถ้ามีอาการดังกล่าวก็ต้องคิดย้อนไปว่า รับประทานอะไรเข้าไปในอาหารมื้อก่อนหน้านั้น ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ

อาหารที่ต้องระวัง อาหารที่ไม่ได้ผ่านการปรุงให้สุก เช่น ส้มตำ ยำ หรืออาหารญี่ปุ่น ประเภทปลาดิบ

2.โรคลำไส้อักเสบเฉียบพลัน หรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

อาการก็คือ พอเรารับประทานอาหารเข้าไปแล้วจะเริ่มรู้สึกพะอืดพะอม แรก ๆ บางคนอาจท้องเสีย บางคนเป็นเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจถ่ายท้องประมาณ 2-3 ครั้ง ปวดมวนท้องแล้วก็หายไป กรณีนี้อาจมีวิธีดูแลตนเองเบื้องต้น คือ หากมีอาการดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท นม ผัก ผลไม้ และน้ำผลไม้

ข้อควรปฏิบัติ รับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น ข้าวต้ม ปลา หมูหยอง โจ๊ก อาหารที่ไม่มีไขมัน ถ้าปฏิบัติเช่นนี้ 24 ชั่วโมงอาจหายไปเองได้ หากมีอาการไม่มากนักอาจดื่มน้ำและจิบเกลือแร่ แต่อาการที่ผิดสังเกตที่ควรมาพบแพทย์คือ อาเจียนจนทานอะไรไม่ได้ หน้ามืด เวียนศีรษะ ท้องเสียไม่หยุด ไข้สูง เพราะอาจต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

3.อหิวาตกโรค

โรคนี้ไม่ค่อยมีในเมืองไทยแล้ว เพราะพื้นฐานการดูแลสุขภาพอนามัยบ้านเราดีขึ้นกว่าสมัยก่อน หากจะมีโรคอหิวาตกโรคก็อาจเกิดขึ้นได้ในต่างจังหวัด หรือในค่ายอพยพ อาการของโรคนี้คือ ถ่ายเป็นน้ำซาวข้าวจำนวนมากติดต่อกันหลายครั้ง หากมีอาการที่ว่านี้ควรไปพบแพทย์

4.โรคไวรัสตับอักเสบเอเฉียบพลัน

เป็นโรคติดเชื้ออย่างหนึ่ง เกิดได้ทุกฤดูกาล ส่วนใหญ่เกิดในประเทศด้อยพัฒนามาก ๆ ซึ่งขาดความสะอาด อาการคือ ท้องเสียปวดท้อง มีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นโรคที่ได้รับเชื้อโรคทางอุจจาระของคนที่เป็นแล้ว ปนเปื้อนมาในอาหาร จากนั้นแพร่กระจายไปยังคนอื่น ๆ แต่โรคนี้มักเป็นครั้งเดียวและไม่เป็นเรื้อรัง เมื่อเคยเป็นแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง

5.โรคบิด

อาการของโรคนี้คือ ถ่ายเป็นมูกปนเลือดบ่อยครั้ง และรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนในอาหาร

6.โรคไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย

อาการคือ ไข้ไม่สูงในสัปดาห์แรก อาจมีอาการปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น ซึมลง เพ้อ สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนมาในอาหาร เช่น นม หอย ไข่ เนื้อสัตว์ น้ำ

7.โรคเครียด

อากาศร้อนอบอ้าวกับการเร่งรีบทำงานอาจทำให้เกิดภาวะเครียด ซึ่งอาจไปกระตุ้นให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารได้ นอกจากนี้อากาศร้อน ๆ ยังทำให้ปวดหัวง่าย หงุดหงิดง่าย และถ้าเครียดก็จะยิ่งเครียดมากขึ้น จึงควรหาวิธีคลายเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ไปในที่ที่มีอากาศเย็นสบาย ว่ายน้ำ เข้าสปา

ล้างมือ


วิธีป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร

ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร

รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และไม่รับประทานของดิบ รวมทั้งมีฝาปิดภาชนะใส่อาหาร

ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้ม

ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี

ข้อควรรู้ เหตุผลดี ๆ ที่ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะทานเอง

ทานยาปฏิชีวนะไม่ถูกชนิด

ทำให้โรคดื้อยาถ้าทานยาไม่ครบ

มีอาการแพ้ยาปฏิชีวนะ

อาจทานยาหมดอายุโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ


นอนหลับ


Tips : การดูแลสุขภาพในหน้าร้อนตามหลักการแพทย์แผนจีน

ในฤดูร้อนคนมักมีอาการเครียดและโมโหง่าย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกาย ดังนั้น ในหน้าร้อน เราจึงควรรักษาอารมณ์ให้สมดุลด้วยการเล่นกีฬาชนิดต่าง ๆ และร่วมสังสรรค์กับเพื่อนฝูง เพื่อจะได้มีอารมณ์ปลอดโปร่ง

ไม่ควรเข้านอนดึกเกินไป และควรตื่นนอนแต่เช้าตรู่ หลังตื่นนอนอาจออกไปเดินเล่น หรือออกกำลังกาย (หากเดินเล่นทุกวันจะดีมาก) และเพื่อสุขภาพที่ดีในหน้าร้อนก็ควรนอนหลับตอนกลางวันประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนนอนควรเปิดเครื่องปรับอากาศหรือเปิดพัดลม ที่สำคัญคือ ควรหลบแดดในที่ร่ม และอย่าลืมใส่หมวกหรือกางร่ม ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ และดื่มน้ำให้มาก หากต้องการความสดชื่น ก็ดื่มน้ำแตงโม

ออกกำลังกายพอสมควร ไม่หักโหม กีฬาที่เหมาะในฤดูร้อน คือ ยิมนาสติก ต่อยมวย เดินเล่น และว่ายน้ำ

อาหารสำหรับคลายร้อนคือ ฟักเขียว มะระ ข้าวแช่ เฉาก๊วย น้ำตะไคร้ น้ำมะนาว น้ำกระเจี๊ยบ


ข้อมูลจากกระปุกดอดคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X