รับมืออาการของเบบี๋ที่แม่กังวล
2012-06-29 20:30:45
Advertisement
คลิก!!!
แม่และเด็ก


รับมืออาการของเบบี๋ที่แม่กังวล (modernmom)

แม่ที่มีลูกเล็กมักขี้กังวลค่ะ ลูกมีอะไรที่ส่อแววผิดปกตินิดหน่อย ก็เริ่มจะเป็นกังวล เพื่อความสบายใจของคุณแม่ Modern Mom จึงรวบรวมอาการของเบบี๋ที่คุณแม่ ๆ เป็นกังวลพร้อมบอกการรับมือที่ถูกต้องและเหมาะสมค่ะ

แหวะนม

แหวะนม อาการแหวะนม เป็นหนึ่งในอาการของลูกเล็กที่คุณแม่เจอกันเป็นประจำหลังให้นมเสร็จ แม้ส่วนใหญ่ไม่มีอันตรายกับลูก แต่คนเป็นแม่ก็อดห่วงไม่ได้

สาเหตุ ลูกยังเล็กระบบย่อยอาหารจึงยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ หูรูดในกระเพาะอาหาร ยังไม่แข็งแรงพอ ลูกอาจดูดนมมากเกินไปดูดนมเร็วเกินไป หรือมีลมในท้องมาก

อาการ เหมือนการสำลักปกติ ส่วนใหญ่เบบี๋จะมีอาการนี้หลังกินนม เมื่อลูกเรอหรือน้ำลายไหล อาจมีน้ำนมไหลย้อนกลับจากหลอดอาหาร แต่หากน้ำนมไหลลงไปที่กระเพาะแล้วไหลย้อนกลับออกมา จะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวค่ะ

วิธีรับมือ

อุ้มลูกให้ถูกท่า หลังจากเจ้าตัวเล็กกินนมจนอิ่มให้แม่ๆ อุ้มลูกในท่านั่งหลังตรง ป้องกันการแหวะนม และช่วยเรื่องการย่อยของลูก

ให้ลูกดูดนมก่อนที่ลูกจะรู้สึกหิวจัด ป้องกันลูกดูดนมในปริมาณที่มากและเร็วจนเกินไป

จับลูกเรอหลังกินนมเพื่อขับลมในท้องที่เข้าไปขณะดูดนม

"สังเกตลูกหลังให้นมลดปริมาณนมแม่ลง ให้ลูกกินทีละน้อย ๆ แต่ให้กินบ่อย ๆ ลูกจะไม่แหวะนมค่ะ


แม่น้องเพิร์ธ

ร้องกลั้น

ร้องกลั้น นอกจากแม่มือใหม่แล้ว แม่ ๆ มือโปรก็อาจจะตกอกตกใจและทำอะไรไม่ถูก หากเจอกับสถานการณ์ที่เจ้าตัวน้อย ตั้งหน้าตั้งตาร้องไห้จนหน้าเขียว

สาเหตุ ลูกถูกขัดใจ เมื่ออยากทำบางสิ่งแล้วถูกพ่อแม่ห้ามไม่ให้ทำ เกิดจากการที่ลูกเรียนรู้ว่าการร้องแบบนี้ ทำให้พ่อแม่ยอมตามใจทุกครั้ง หรือลูกได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกประตูหนีบ ฯลฯ

อาการ ร้องไห้เสียงดังและหยุดหายใจไปชั่วขณะ จนหน้าเขียว ตัวเขียว และหมดสติไปไม่เกินหนึ่งนาที

วิธีรับมือ

สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำ คือการตั้งสติให้มั่น โอบกอดหรืออุ้มลูกให้แนบตัวคุณมากที่สุด แล้วลูบหลังอย่างแผ่วเบาพร้อมกับการโยกตัวไปมาช้า ๆ จะทำให้ลูกสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยนและอบอุ่น จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ด้วยค่ะ

หาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น หากของเล่นชิ้นโปรดมาหลอกล่อ เปลี่ยนบรรยากาศ ฯลฯ

หลีกเลี่ยงการเขย่าตัวเพื่อให้ลูกรู้สึกตัว เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกเจ็บและได้รับความกระทบกระเทือน

"ตอนลูกร้องไห้นาน ๆ จะใช้วิธีอุ้มค่ะ แล้วก็พยายามทำให้ท้องกับอกของลูกอุ่น โดยการพันผ้าห่มค่ะ"

Peepee

ร้องโคลิก

ร้องโคลิก อาการนี้คุ้นหูแม่ ๆ เป็นอย่างดี หลายคนภาวนาขอให้ลูกอย่าเป็น เพราะทำให้เครียดทั้งลูกทั้งแม่ แต่บางคนอาจเลี่ยงไม่ได้ แต่บรรเทาอาการร้องแบบนี้ได้ค่ะ

สาเหตุ มีอยู่หลายสาเหตุแต่ส่วนใหญ่เกิดจากอาหารไม่ย่อย ทำให้ลูกปวดท้อง เพราะเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร อาจเกิดจากการที่เด็กหิวหรืออิ่มเกินไป หรือเด็กยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมนอกท้องแม่ได้

อาการ เบบี๋จะร้องสั้น ๆ อย่างมีจังหวะจนหน้าตาแดงก่ำ ตัวเกร็ง มักจะร้องในช่วงเวลาเดิม โดยเฉพาะช่วงเย็น กลางคืน หรือกลางดึก ติดต่อกัน 3-4 ชั่วโมงทุกวันตลอด 3 เดือน

วิธีรับมือ

อุ้มลูกเดินรอบ ๆ บ้าน พร้อมกับลูบหลังลูกเบา ๆ เพื่อปลอบโยน

ห่อตัวลูกด้วยผ้า ทำให้ลกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยเหมือนอยู่ในท้องแม่

วางลูกนอนหงาย แล้วจับเข่าลูกงอจนสุด เพื่อไล่ลมและขับแก๊สในท้อง

เด็กบางคนต้องการความเงียบสงบ ควรพาไปอยู่ในห้องที่ไร้เสียงรบกวน เพื่อให้ลูกผ่อนคลาย

เปิดเพลงที่มีจังหวะช้า ๆ ให้ฟังสบาย ๆ อาจจะเป็นเพลงที่ลูกฟังบ่อย ๆ ก็ช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายได้มากขึ้นค่ะ

"ลูกเคยเป็นโคลิกค่ะ ใช้วิธีการพาลูกไปสูดอากาศนอกบ้านค่ะ เดินเที่ยวในที่โล่งและอากาศดีค่ะ"

แม่ขิม

ไอ

ไอ ภูมิต้านทานในร่างกายของเด็กเล็กนั้น เรียกได้ว่ายังมีไม่มากพอที่จะปกป้องตัวเองจากโรคต่างๆ ได้มากนัก นอกจากนี้ หวัดยังเป็นโรคฮิตอีกโรคที่เด็กวัยขวบปีแรกเป็นกันอยู่บ่อย ๆ

สาเหตุ ติดเชื้อไวรัสหลากหลายชนิด โรคภูมิแพ้ มลภาวะทางอากาศ

อาการ ไอ มีเสมหะ อาจมีไข้ น้ำมูกไหล คัดจมูก

วิธีรับมือ

เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้ และใส่เสื้อผ้ามิดชิดเพื่อให้ร่างกายของลูกอบอุ่นอยู่เสมอ

ให้ลูกดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ และบ่อยครั้ง เพื่อลดเสมหะตัวกระตุ้นการไอ

ใช้ลูกยางสำหรับดูดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนให้นมและก่อนนอน หรือใช้หัวหอมแดงบุบวางใส่ถ้วยไว้ ตรงหัวเตียง น้ำมันหอมระเหยในหัวหอมแดง ทำให้เจ้าตัวเล็กหายใจได้สะดวกขึ้นค่ะ

พาไปสูดอากาศบริสุทธิ์บ่อย ๆ ออกกำลังกายให้ปอดแข็งแรง

หลีกเลี่ยงอากาศเย็น เพราะจะทำให้ลูกหายใจลำบากและระคายคอมากยิ่งขึ้น

"เวลาที่ลูกเป็นหวัด ดิฉันใช้ผ้านุ่ม ๆ พันคอลูกไว้ ทำให้คอลูกไม่เย็น"

แม่กอล์ฟ

เลี้ยงลูกไม่ยากอย่างที่คิด หากคุณมีความเข้าใจในอาการต่าง ๆ ของลูก และหมั่นเติมความรู้ในเรื่องเหล่านี้อยู่เสมอ เพื่อให้เป็นแม่มือใหม่ที่รู้รอบด้านและพร้อมเสมอกับทุกอาการของลูก

ข้อมูลจากกระปุกดอดคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X