สารก่อสิวและยารักษา
2012-06-23 16:09:01
Advertisement
คลิก!!!

ผิวสวย



สารก่อสิวและยารักษา (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)

เขียนโดย รศ.ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล

สารก่อสิว (Comedogenic agents) พบได้จากส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น

1.เครื่องสำอางที่มีไขมันและน้ำมันชนิดหนัก (heavy oils) เป็นองค์ประกอบ สามารถก่อให้เกิดสิวได้ง่าย ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยง ตัวอย่าง เช่น น้ำมันมะพร้าว, น้ำมันมะกอก, น้ำมันข้าวโพด, น้ำมันถั่ว, Cocoa butter, Lanolin (จากขนแกะ), Myristyl myristate, Isopropyl myristate, Isopropyl palmitate เป็นต้น

2.ผลิตภัณฑ์สเปรย์สำหรับเส้นผม มีองค์ประกอบที่สำคัญที่ก่อสิว คือ ไอโซโพรพิวแอลกอฮอล โพลีเมอร์ในกลุ่ม PVA/PVP ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เส้นผมอยู่ทรงได้ดี สารชนิดนี้หากหายใจเข้าไปสะสมในปอดก่อให้เกิดปัญหาโรคปอดได้ง่าย

3.ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว สารก่อสิวที่สำคัญได้แก่ สารให้ฟองมาก Sodium lauryl sulfate (SLS), Ammonium lauryl sulfate (ALS) และสารปรับแต่งความเป็นกรด-ด่าง(พีเอช) เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NoaH), Triethanolamine (TEA)

4. สารกันเสียในผลิตภัณฑ์ทุกชนิด เช่น โพรพิวเมททิว พาราเบน (Propylmethyl Parabens) และอนุพันธ์ของสารพาราเบนอีกหลายชนิด

5.สีสังเคราะห์ สีสังเคราะห์ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เตรียมมาจาก coal tar จะมีส่วนผสมของโลหะหนัก นอกจากเป็นสารก่อสิวแล้วยังเป็นสารก่อมะเร็งผิวหนังอีกด้วย

6.แสงแดดและฝุ่นละออง รังสีดวงอาทิตย์มีผลต่อผู้ที่ผิวแพ้ง่ายก่อให้เกิดสิวได้ ฝุ่นละอองและควันเสียจากท่อไอเสียของรถยนต์ทำให้สิวเพิ่มความรุนแรงได้

7.ยารักษาโรค บางชนิดกระตุ้นการเกิดสิว เช่น ยาสเตียรอยด์

ยารักษาสิว

ซาลิไซลิคแอซิด (Salicylic acid) และ เรตินเอ (Retin-A) ครีมหรือโลชั่น จะช่วยให้หัวสิวนุ่มลงและหลุดลอก

ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เบนโซอิว เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide), อีริโทรไมซิน ขี้ผึ้งหรือเจล, ครินดาไมซินด์โลชั่น

ซัลเฟอร์ (Sulfur) และ รีซอร์ซินอล (Resorcinol) ทำหน้าที่ทั้งต้านเชื้อแบคทีเรีย และช่วยให้หัวสิวนุ่มลงและหลุดลอกง่าย

ยารักษาสิว บางชนิดอาจมีส่วนผสมของตัวยาหลายชนิดผสมกัน ระยะเวลาการรักษาและเห็นผล อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ถึง 3 เดือนแล้วแต่ความรุนแรงของสิว ยาบางชนิดได้ผลดีแต่อาจทำให้ผิวหน้าแพ้ง่ายเมื่อโดนแสงแดด เช่น เรตินเอ จึงควรใช้ร่วมกับครีมกันแดดและควรทาก่อนนอนเท่านั้นจะปลอดภัยกว่า อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังหรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเหล่านี้

ข้อสังเกต

เครื่องสำอางที่มีฉลากคำว่า "Oil free" หรือปราศจากน้ำมัน ความจริงยังคงมีน้ำมันเป็นองค์ประกอบตามปกติ แต่เป็นน้ำมันชนิดพิเศษที่ให้ความรู้สึกไม่เหนอะหนะเท่านั้นเอง และ เครื่องสำอางธรรมชาติจากสมุนไพร ก็ยังคงมีส่วนผสมของสารต่าง ๆ ที่อาจเป็นสารก่อสิวได้มากมายตามที่ยกตัวอย่างข้างต้น ผู้บริโภคจึงควรพิจารณาจากฉลาก และค่อย ๆ ศึกษาหรือทำความคุ้นเคยกับชื่อเคมีเหล่านี้

ข้อมูลจากกระปุกดอดคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X