การมองเห็นกับการขับรถ
2012-09-21 11:24:14
Advertisement
คลิก!!!
ขับรถ
 


การมองเห็นกับการขับรถ (สภากาชาดไทย)

          สายตาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อการขับรถ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า คนที่จะขับรถจะต้องมองเห็น แต่เรามักให้ความสนใจกับเรื่องนี้น้อยมาก เพราะมีตาก็มองเห็น เมื่อมองเห็นก็ขับรถไปได้เป็นของธรรมดา แท้ที่จริงแล้วการมองเห็นมีหลายอย่างหลายระดับ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการขับรถอย่างมากซึ่งจะขอ กล่าวแต่เรื่องที่สำคัญ ๆ และโดยย่อที่สุด ดังนี้

          1.สายตา คือความสามารถในการเห็นว่าชัดเจนแค่ไหน ผู้ที่จะขับรถได้ดีควรจะมีสายตาดีพอที่จะเห็นสัญญาณ หรือป้ายเล็ก ๆ ข้างถนนได้ ซึ่งอย่างน้อยก็ต้องดีเท่ากับ 85 เปอร์เซ็นต์ของสายตาปกติ และเป็นที่น่าสังเกตว่าสายตาจะเลวลง 20 ฟุต ต่อการเพิ่มความเร็วของรถทุก ๆ 10 ไมล์ ต่อ 1 ชม.

          2.ลานสายตา ลานสายตาคือ บริเวณทั้งหมดที่เราเห็นเมื่อเราเพ่งอยู่จุดหนึ่งข้างหน้า นัยน์ตาที่ปกติจะมีลานสายตากว้างข้างละ ประมาณ 140 องศา และเมื่อมองสองตาพร้อมกันลานสายตาจะกว้าง 180 องศา เพื่อการขับรถที่ปลอดภัยควรมีลานสายตาอย่างน้อย 140 องศา ขณะจ้องมองไปข้างหน้า

          3.ความสัมพันธ์ระหว่างการมองเห็นกับเวลา และระยะทาง ถ้าเราเห็นของสิ่งหนึ่งทางหางตาเราจะรู้สึกถึงสิ่งนั้นใน เวลา 0.1 วินาที แล้วเราจะกลอกตาไปมอง ซึ่งจะเสียเวลาในการกลอกตาใน 0.2  วินาที จากนั้นประสาทตาจะใช้เวลาอีก 0.7 วินาทีในการรับภาพและกว่า จะดูออกว่าเป็นอะไรก็ต้องเสียเวลาไปอีก 0.65-15 วินาที รวมแล้วเราจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ถึง 2 วินาที ในการมองเห็นสิ่งของที่อยู่ทางหางตา แต่ในขณะขับรถ และต้องหลบของสิ่งนั้นเราจะต้องมีเวลาเพิ่มขึ้น เพื่อการตัดสินใจและการแก้ไขสถานการณ์ และที่สำคัญที่สุดคือ รถกำลังแล่นเข้าไปใกล้สิ่งกีดขวางนั้นมากขึ้นทุกที ถ้าจะเปรียบเทียบโดยใช้ความเร็ว และระยะทางเข้ามาร่วมด้วยก็จะเป็นดังนี้

          ถ้ารถวิ่งด้วยความเร็ว 60 ไมล์หรือ 90 กม.ต่อชั่วโมง คนขับบังเอิญเหลือบเห็นสิ่งที่กีดขวางอยู่ห่างออกไป  100 ฟุต  กว่าคนขับจะเห็นว่าอะไรเป็นอะไรขับเลยสิ่งนั้นไปแล้ว 12 ฟุต โดยที่ยังไม่ได้ทันตัดสินใจทำอะไรเลย

          4.ตาบอดสี คนที่ตาบอดสีเขียวหรือแดงก็จะมีปัญหาในการดูสัญญาณไฟเขียวไฟแดง

          5.การมองเห็นในเวลากลางคืน ในที่มืดสายตาจะเลวกว่าในที่สว่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ออกจากที่สว่างเข้าสู่ที่มืด จะต้องใช้เวลาในการปรับสายตาให้ชินกับความมืด ซึ่งจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสภาพของดวงตา เช่น  พวกที่ขาดวิตามินเอ  สายตาสั้น สายตาคนแก่ และตาเป็นโรคบางอย่างจะทำให้ปรับสายตาได้ช้า

          6.แสงเข้าตา เวลามีแสงที่สว่างมาก ๆ ส่องเข้าตาจะทำให้ตาพร่ามองอะไรไม่เห็นไปขณะหนึ่ง แสงที่ส่องเข้าตานี้อาจเป็นแสงโดยตรง เช่น แสงอาทิตย์ หรือจากไฟหน้ารถคันที่สวนมา หรืออาจเป็นแสงสะท้อนจากโลหะข้างถนนหรือเครื่องประดับรถ

เราจะช่วยทำให้การมองเห็นของเราในการขับรถดีขึ้นได้อย่างไร

          เรามีทางที่จะทำให้เราเห็นดีขึ้น ในขณะที่ขับรถได้คือ

          1.ฝึกตัวเองให้พยายามมองไกลที่สุดที่จะไกลได้ ทั้งกลางวันและกลางคืน เพิ่มลานสายตาให้กว้างขึ้น โดยระวังด้านข้างสองด้านและข้างหลังด้วยกระจกส่องหลัง

          2. ป้องกันสายตาใส่แว่นกันแดด เมื่อมีแสงแดดจ้ามาก

          3. กระจกรถไม่ควรเป็นสีมืด นอกจากส่วนบนของกระจกหน้ารถ เพราะความมืดทำให้สายตาเลวลง โดยเฉพาะเวลากลางคืนทัศนวิสัยจะเลวมาก

          4.ไม่ใส่แว่นสีขับรถตอนกลางคืน เพราะทำให้สายตาที่เลวอยู่ในที่มืดยิ่งเลวมากขึ้น

          5.เลือกขับรถที่มีสีที่เห็นได้ง่าย เช่น สีขาว ตามสถิติพบว่ารถสีขาวถูกชนน้อยที่สุด และรถสีเทาถูกชนบ่อยที่สุด

          6.หลีกเลี่ยงเครื่องประดับรถที่เป็นโลหะสะท้องแสง

          7.เมื่อจำเป็นต้องขับรถทางไกลในเวลากลางคืน ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกวิ่งในทางหลวงที่เป็นแยกออกจากกัน (Devided highway) แบบถนนสายบางนา–ตราด เพื่อแสงจากรถที่สวนมาจะอยู่ห่างทำให้แสงเข้าตาน้อย ตาไม่พร่า

          8.คนที่มีอายุมาก หรือคนที่เป็นโรคทางตา สายตาเลวลงต้องยอมรับความจริง ไม่ควรขับรถโดยเฉพาะเวลากลางคืน

 

 

ข้อมูลจากกระปุกดอดคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X