เพาะลูกให้แกร่ง-อึด สไตล์ "ฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ"
2014-10-20 15:37:13
Advertisement
คลิก!!!

       เมื่อเอ่ยถึงประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่โดดเด่นเป็นอันดับต้น ๆ และทั่วโลกให้การยอมรับคือ "ระบบการศึกษา และการพัฒนาคน" จึงไม่น่าแปลกใจหากในหลายวิกฤติที่ประเทศนี้ต้องประสบพบเจอ รวมถึงการเกิดสึนามิในปีที่ผ่านมา ภาพของชาวญี่ปุ่นที่ถ่ายทอดไปทั่วโลกจึงไม่เคยหลุดไปจากกรอบแห่งความมีระเบียบวินัย ความอดทน และความฮึดสู้เลย
       
       นอกจากความอดทน และใจที่ฮึดสู้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มักสอดแทรกอยู่ในสังคมญี่ปุ่นเสมอ ๆ นั่นก็คือ การหาวิธีทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือการใช้ชีวิต เราจึงพบหนังสือแนวฮาวทู สำหรับให้คำแนะนำในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นออกมาจากแดนปลาดิบอยู่เป็นระยะ และในการแวดวงหนังสือแนวดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของ "ฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ" เป็นอีกหนึ่งชื่อที่ติดหูนักอ่านทั้งในประเทศไทย และอีกหลายประเทศที่มีการนำผลงานของเขาไปตีพิมพ์
       
       ฮาเซงาวะ เป็นนักบริหารที่เฉียบคม และเชี่ยวชาญในการวางแผนฟื้นฟู เขาได้รับการยกย่องให้เป็น "นักบริหารผู้กอบกู้" หลังจากสามารถกอบกู้บริษัท Nikon-Essilor บริษัทร่วมทุนระหว่างประเทศญี่ปุ่นและฝรั่งเศส ซึ่งครั้งหนึ่งเคยขาดทุนถึง 5,000 ล้านเยนให้กลับมาคืนทุนได้ภายในปีแรกที่เข้าดำรงตำแหน่งประธานบริษัทฯ และมีกำไรจนสามารถจ่ายปันผลในปีที่ 2 รวมถึงการกอบกู้บริษัทต่าง ๆ อีก 2,400 แห่งให้รอดพ้นจากการขาดทุนได้
       
       ด้วยความแข็งแกร่งและศักยภาพที่เขามี การย้อนกลับไปค้นหายังสถานที่ที่สร้างเขาขึ้นมาอย่าง "ครอบครัว" จึงเป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจว่า สภาพครอบครัวและการอบรมเลี้ยงดูแบบใดที่สามารถสร้างให้คน ๆ หนึ่งสามารถมายืนอยู่ได้ ณ จุดนี้
       
       "ผมเติบโตในครอบครัวที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม หรือหัวโบราณ คุณพ่อมีโรงฝึกสอนเคนโด้ ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของประเทศญี่ปุ่น และยังทำอาชีพช่างไม้ด้วย ดังนั้นความอดทน การเป็นนักสู้ ความมีระเบียบวินัย และการตรงต่อเวลา คือสิ่งที่ผมซึมซับจากครอบครัว" นักบริหารมือทองในวัย 72 ปีเล่าย้อนถึงวิธีการเลี้ยงลูกของพ่อแม่
       
       "ที่บ้านผมจะไม่ตามใจลูก ผิดคือผิด ตีคือตี เพราะท่านให้ความสำคัญที่ว่า ทำอย่างไรก็ได้อย่าให้คนอื่นมาว่าเราลับหลัง และต้องมีมารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วย เช่น ไม่รบกวน หรือสร้างความรำคาญใจให้กับคนอื่น พ่อแม่ผมมีความละเอียดในการเลี้ยงลูกมาก ทำให้ผมมีความละเอียดในการใช้ชีวิตตามไปด้วย อีกสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากครอบครัวก็คือ ความเป็นคนไม่ยอมแพ้ โดยเฉพาะเวลาที่มีปัญหาเข้ามา ผมจะสู้ และเผชิญหน้ากับมัน ที่สำคัญผมถูกหล่อหลอมให้เติบโตเป็นคนไม่หยิ่งทะนงตน หรือเหนือกว่าคนอื่น"
       
       ยิ่งไปกว่านั้น ความมุ่งมั่น และความพยายาม คือหัวข้อสำคัญในการเลี้ยงลูกของครอบครัวนี้ เพราะเป็นพื้นฐานอันนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต
       
       "ผมโตในครอบครัวที่สอนให้ทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่ใช่คอยพึ่งแต่พ่อแม่ หรือคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผมเรียนรู้มาตลอดว่า ถ้าไม่ทำก็ไม่สำเร็จ" คุณฮาเซงาวะเผยสั้น ๆ


        เลี้ยงลูกฉบับคุณพ่อ "นักกอบกู้"
       
       นอกจากการเผยถึงการอบรมเลี้ยงดูภายในครอบครัวของเขาแล้ว เขายังมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญนั่นก็คือ "คุณพ่อ" ของลูกสองคน ซึ่งเขายังคงยึดหลักการเลี้ยงลูกบนพื้นฐาน "ความรัก" และพยายามสร้างเสริมคุณลักษณะที่จำเป็นในยุคสมัยใหม่ให้กับลูกสาวทั้งสองคนอยู่เสมอ
       
       "พ่อแม่ทุก ๆ คนมีความรัก และความหวังดีต่อลูกอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ชาวญี่ปุ่น รวมถึงผมให้ความสำคัญมาก ๆ ก็คือ มารยาททางสังคมที่จะเข้มงวดเป็นพิเศษ รวมไปถึงการให้เกียรติ รู้จักเกรงอกเกรงใจ ความผูกพัน การช่วยเหลือกัน ตลอดจนการตรงต่อเวลา อย่าให้คนอื่นต้องรอเรา" ฮาเซงาวะเผยถึงคุณลักษณะนิสัยที่จำเป็นในการอบรมสั่งสอนลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และไม่เป็นภาระของคนอื่น
       
       นอกจากนี้ เขายังเป็นคุณพ่อที่ไม่บูชาความคิดตะวันตกในเรื่องของการห้ามตีลูก เพราะ "การตี" ในมุมมองของเขา คือการสอนให้เด็กเรียนรู้ผิดชอบชั่วดี ไม่เอาแต่ใจตนเอง มีระเบียบวินัย แต่การตีต้องใช้ด้วยความเข้าใจด้วย ไม่ใช่ตีพร่ำเพรื่อ หรือใช้ความรุนแรงจนเข้าข่ายการทำร้ายร่างกาย
       
       "พ่อแม่ไม่ควรเบ่งอำนาจกับลูก และไม่ควรคิดว่า ฉันเป็นพ่อแม่ ฉันสามารถสั่ง หรือใช้กำลังที่เหนือกว่าลูกได้ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผิด แต่การสอนลูกด้วยการตีอย่างถูกจังหวะ และอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม คือสิ่งที่พ่อแม่ทำได้ แต่ไม่ใช่พร่ำเพรื่อจนเกินไป" คุณฮาเซงาวะให้ทัศนะ และสะกิดใจพ่อแม่ทุก ๆ ท่าน
       
       ปัจจุบันฮาเซงาวะเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจนานาชาติ และการวางแผนฟื้นฟูบริษัทที่กำลังเผชิญกับวิกฤต ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจระหว่างประเทศให้แก่บริษัทข้ามชาติหลายแห่ง เป็นวิทยากรในหลักสูตรของผู้บริหาร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจูโอ และยังได้รับเชิญให้เดินทางไปบรรยายตามองค์กรต่าง ๆ ในหลายประเทศด้วย สำหรับผลงานของเขาอย่าง "สมุดบันทึกของผม" (President's Notebooks) "พลิกวิกฤตเป็นกำไร" (The President’s Notebooks 2) "พลิก 8 จุดบอดสู่สุดยอดนักบริหาร" (Letter from President) และ "เคี่ยวคน 5 เปอร์เซ็นต์เห็นผลทั้งองค์กร" (5 % of people who control the whole org) แต่ละเล่มเป็นผลงานคัดสรรจากสมุดบันทึกกว่า 200 เล่มของเขาที่เริ่มต้นถ่ายทอดแนวคิดดี ๆ มาตั้งแต่อายุ 27 ปี และทำต่อเนื่องมานานถึง 45 ปีเลยทีเดียว
       
       ถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วที่เขาค่อย ๆ พัฒนาตัวเองมาสู่ความเป็นมืออาชีพ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ครอบครัวคือผู้อยู่เบื้องหลังทั้งวิธีคิด และทักษะการใช้ชีวิต โดยเฉพาะความมุ่งมั่น และการยืนหยัดต่อสู้กับปัญหาจนทำให้ผู้ชายที่ชื่อ "ฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ" กลายเป็นสุดยอดผู้บริหารนักกอบกู้และฟื้นฟูกิจการที่หลาย ๆ บริษัทต่างยกนิ้วให้
 


ที่มา  http://www.manager.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X