หมอเด็กห่วงครอบครัวยุคไอทีขึ้นเสียงกันง่าย!
2014-11-27 15:06:48
Advertisement
คลิก!!!

        เป็นเรื่องเดิมๆ ที่มีการพูดถึงกันบ่อยถึงพิษสงของเทคโนโลยีที่ถึงแม้จะมีประโยชน์ แต่ก็อาจเกิดโทษได้ หากใช้ไม่เป็น ไม่แปลกที่จะมีนักวิชาการ และคุณหมอหลายๆ ท่านออกโรงกระตุกต่อมคิดให้สังคมตระหนักถึงเรื่องนี้กันพอสมควร 
       
       เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเลี้ยงลูก ได้ออกมาตอกย้ำให้ระวังอาการติดเทคโนโลยีของครองครัวยุคใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นไอโฟน ไอแพด หรืออื่นๆ เพราะอาจส่งผลให้คนในครอบครัวพูดคุยกันน้อยลง ขาดทักษะการสื่อสารร่วมกัน เวลาเกิดปัญหามักจะขึ้นเสียงกันได้ง่าย เนื่องจากฟังไม่เป็น พูดไม่เป็น
       
       "ปัญหาใหม่ของครอบครัวไทยตอนนี้ คือ ขาดการสื่อสารซึ่งกันและกัน ไม่มีการพูดคุยภายในครอบครัว ทุกคนจะเข้าไปในโลกของเทคโนโลยี ทำให้ครอบครัวไม่มีการพูดคุยกัน มีโทรศัพท์คนละเครื่อง ต่างคนต่างกด หากเกิดการเถียงกันก็จะขึ้นเสียงได้ง่าย เพราะไม่เคยมีการพูดคุยกันมาก่อน" กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเลี้ยงลูกเผย
       
       ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กยุคใหม่ยังมีแนวโน้มที่จะเล่น และติดของเล่นไฮเทคมากขึ้นโดยส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่มักจะซื้อให้ลูกเล่นเพราะอยากให้ลูกทันเทคโนโลยี แต่ในความจริงแล้ว ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเด็กเล็ก หากเล่นบ่อยๆ จะทำให้จินตนาการ และสมาธิของเด็กลดลง
       
       ส่วนปัญหาต่อมา กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเลี้ยงลูกท่านนี้ แสดงความเป็นห่วงถึงการเลี้ยงลูกด้วยวัตถุ เลี้ยงลูกด้วยเงิน และไม่ค่อยมีเวลาให้แก่กัน ทำให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น เด็กไม่มีที่ปรึกษาในบ้าน ต้องออกไปหาสิ่งที่ขาดหายเพื่อเติมเต็มสิ่งเหล่านั้น ถูกบ้าง ผิดบ้าง และนำมาซึ่งปัญหาสังคมมากมาย เช่น การใช้ความรุนแรง ติดเกม ติดอบายมุข เป็นต้น
       
       ฉะนั้น "พ่อแม่" ถือต้นแบบสำคัญของลูกที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลย ดังคำกล่าวที่ว่า อยากให้ลูกเป็นอะไร พ่อแม่ต้องทำเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็น เช่น อยากให้ลูกเป็นคนดี พ่อแม่ก็ต้องเป็นคนดีให้ลูกดู
       
       "ช่วงก่อน 10 ขวบ เป็นช่วงที่เหมาะจะปูพื้นฐานให้ลูกมากที่สุด หากเราดูแลเอาใจใส่ ให้ความรัก และความเข้าใจกับเด็ก ตลอดจนหากิจกรรมให้ลูกได้ใช้ความคิด และเหตุผล เช่น อ่านหนังสือ เล่นดนตรี นั่นจะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ก้าวหน้า หากเรามีเวลาน้อยจริงๆ อาจหาเวลาในแต่ละวันแบ่งมาให้ลูก เมื่อถึงบ้านเราต้องเอาคราบผู้บริหารหรือการทำงานตัดออกไป กลับมาให้ความสำคัญกับลูก หรือในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่เองควรรู้จักเพื่อนของลูกไว้บ้าง เพื่อจะได้สร้างความใกล้ชิด และความคุ้นเคยกับลูกให้มากที่สุด" กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเลี้ยงลูกรายนี้ทิ้งท้าย


ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X