"โรคบาดทะยัก" คืออะไร และสำคัญอย่างไร
2015-06-29 20:03:42
Advertisement
คลิก!!!

บาดทะยัก
บาดทะยักเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะพิเศษเจริญได้ดีในสภาพไร้ออกซิเจน สร้างสปอร์หุ้มตัวเอง มีความคงทนต่อน้ำเดือด 100 องศา ได้นานถึง 1 ชั่วโมง อยู่ในสภาพที่ไร้แสงได้นานถึง 10 ปี เชื้อมักจะพบอยู่ตามดินและมูลสัตว์ เชื้อบาดทะยักเข้าทางบาดแผลมักจะเป็นบาดแผลสกปรก เช่น ถูกตะปูตำ เสี้ยนตำ หูน้ำหนวก ฟันผุ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะปล่อยสารพิษออกมาทำลายระบบประสาท

 

อาการ
จะมีอาการตัวร้อน ขากรรไกรแข็ง (อ้าปากไม่ค่อยขึ้น กลืนอาหารลำบาก) ต่อมาจะมีอาการชักเกร็งทั้งตัว บางครั้งมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ อาการชักหรือกระตุกจะเป็นมากขึ้นเมื่อถูกสัมผัส เห็นแสงสว่างหรือได้ยินเสียงดัง ต่อมาจะชักจนหลังแอ่นผู้ป่วยจะถึงแก่กรรมได้ อาการขากรรไกรแข็ง กล้ามเนื้อชักกระตุก อาจพบได้ในกลุ่มโรคติดเชื้อทางสมองและโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการกลัวน้ำชัดเจน และโรคในกลุ่มติดเชื้อระบบประสาทผู้ป่วยมักจะมีซึม เพ้อ

การป้องกัน บาดทะยักเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง และอาจถึงแก่ชีวิตภายในไม่กี่วันแต่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นหัวใจของการรักษาโรคบาดทะยัก

ข้อปฏิบัติตัว

1. เด็กทารกควรฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่อายุ 2 เดือน และฉีดให้ครบตามกำหนดที่แพทย์นัด
2. สำหรับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนควรฉีดให้ครบอย่างน้อย 3 ครั้ง
3. เมื่อมีบาดแผล เช่น บาดแผลจากตะปูตำ ไม้ตำ บาดแผลสกปรก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันเสียแต่เนิ่น ๆ
4. ถ้าอยู่ๆมีอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากค้างก็ควรปรึกษาแพทย์ทันที โดยเฉพาะถ้าหากมีตัวร้อน มีบาดแผลในร่างกายร่วมด้วย

การฉีดวัคซีน วัคซีนป้องกันบาดทะยักมักนิยมให้ดังนี้

เข็มแรก อายุ 2 เดือน
เข็มที่ 2 อายุ 4 เดือน
เข็มที่ 3 อายุ 6 เดือน
เข็มที่ 4 อายุ 1 ปี 6 เดือน
เข็มที่ 5 อายุ 4-6 ปีอีกครั้งหนึ่ง
ต่อไปควรมีการฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี

ในกรณีที่มีบาดแผลเกิดขึ้น ถ้าหากเคยฉีดวัคซีนครบ 3 ครั้ง มาภายใน 5 ปี ไม่ต้องฉีดกระตุ้น แต่ถ้าเกินกว่า 5 ปี ต้องฉีดกระตุ้น 1 ครั้ง ผู้ป่วยบาดทะยักและผู้ที่ได้รับบาดแผลสกปรกถ้าไม่เคยฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนแต่ไม่ครบจะต้องฉีดวัคซีนควบคู่กับการฉีดเซรุ่มต้านพิษบาดทะยัก ซึ่งเซรุ่มนี้อาจเกิดอาการแพ้ในบางคน ดังนั้นการฉีดวัคซีนไว้ล่วงหน้า นอกจากจะมีภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยักยังไม่ต้องเสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่มต้านพิษบาดทะยักอีกด้วย


เอกสารอ้างอิง

บุญเยี่ยม เกียรติวุฒิ และคณะ. (2527). โรคบาดทะยัก.ใน บุญเยี่ยม เกียรติวุฒิ และคนอื่นๆ (บรรณาธิการ), โรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ (หน้า 80-82). บัณฑิตการพิมพ์ : กรุงเทพมหานคร.

สมจิต หนุเจริญกุล. (2535). การพยาบาลผู้ป่วยบาดทะยัก.ในการพยาบาลอายุรศาสตร์ เล่ม 1 (หน้า 57-59). วี.เจ.พริ้นติ้ง : กรุงเทพมหานคร.

สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. บาดทะยัก หมอชาวบ้าน ปีที่ 17 ฉบับที่ 194 มิถุนายน 2538. หน้า 25-27

 

งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง จริยา วิรุฬราช
เมษายน 2543

 

จัดทำโดยหน่วยนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร. 0-2201-2520-1


ขอบคุณข้อมูล จาก http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/main/?q=node/72

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X