เฟซบุ๊กเริ่มใช้มาตรการขึ้นข้อความเตือนสำหรับวิดีโอที่มีเนื้อหารุนแรงก้าวร้าว
2015-01-15 09:27:29
Advertisement
คลิก!!!

เฟซบุ๊กเริ่มใช้มาตรการขึ้นข้อความเตือนสำหรับวิดีโอที่มีเนื้อหารุนแรงก้าวร้าว ซึ่งอาจทำให้ผู้ชมรู้สึกตกใจ ขุ่นเคืองใจหรือเสียใจได้ ด้านนักจิตวิทยาชี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด

โดยวิดีโอที่มีเนื้อหาในลักษณะดังกล่าวจะไม่ถูกเล่นเองโดยอัตโนมัติเหมือนที่ผ่านมา เว้นแต่ว่าผู้ใช้จะเลือกกดปุ่มดู นอกจากนี้มาตรการนี้ยังระงับการแสดงภาพหรือวิดีโอสำหรับผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีด้วย 

หนึ่งในวิดีโอที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้คือวิดีโอเหตุการณ์ขณะนายอาเหม็ด เมราเบ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกจ่อยิงอย่างเลือดเย็นในเหตุการณ์กราดยิงสำนักงานนิตยสารชาร์ลี เอ็บโดที่กรุงปารีสเมื่อวันพุธที่แล้ว (7 ม.ค.) 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงกรณีที่ปล่อยให้มีการโพสต์ภาพเหตุการณ์รุนแรงต่าง ๆ ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชนโดยไม่มีการตรวจสอบเนื้อหาหรือลบทิ้ง ถึงแม้ทางบริษัทได้ออกนโยบายสั่งห้ามการแชร์ภาพหรือวิดีโอในลักษณะที่เป็นการแสดงออกถึงการยกย่องชื่นชมการใช้ความรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันกลับอนุญาตให้มีการรายงานข่าวหรือสารคดีที่มีภาพการตัดหัวและการฆาตกรรมในรูปแบบอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ภาพเหล่านั้นก่อให้เกิดความไม่สบายใจต่อผู้ที่ได้เห็น นอกจากนี้ยังตั้งข้อจำกัดด้านอายุของผู้เปิดบัญชีเฟซบุ๊กไว้เพียงแค่ 13 ปี ซึ่งโดยมากก็พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีก็จะโกงข้อมูลเรื่องอายุเพื่อสมัครเปิดบัญชีเฟซบุ๊ก

สตีเฟน บาลแคม ผู้บริหารสูงสุดของสถาบันเพื่อความปลอดภัยทางออนไลน์ของสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยของเฟซบุ๊กบอกบีบีซีว่าเขาต้องการให้เฟซบุ๊กปกปิดภาพที่ส่อว่าจะทำให้ผู้พบเห็นเกิดความโศกเศร้าหรือรู้สึกรบกวนจิตใจ และควรมีมาตรการเพื่อให้ผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีค้นหาภาพเหล่านี้ได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม เขาดีใจที่เฟซบุ๊กเริ่มแสดงความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ และบอกว่าควรสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องผู้ใช้งานและการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก

ด้านโฆษกของเฟซบุ๊กบอกบีบีซีว่าได้เริ่มใช้มาตรการดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยเริ่มจากภาพหรือวิดีโอที่ผู้ใช้อื่น ๆ รายงานเข้ามา และทีมวิศวกรกำลังพยายามพัฒนาระบบเพื่อให้ป้องกันการเผยแพร่ภาพเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจรวมไปถึงการขึ้นข้อความเตือนลิงค์วิดีโอที่เกี่ยวข้องบนยูทูปที่ในขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ เฟซบุ๊กบอกว่าคนที่แชร์รูปภาพและวิดีโอต่าง ๆ บนเฟซบุ๊กควรต้องทำอย่างมีสติและมีความรับผิดชอบ ทั้งยังควรพิจารณาด้วยว่าใครควรได้เห็นข้อมูลเหล่านั้นบ้าง นอกจากนี้ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่แชร์ภาพหรือวิดีโอต่าง ๆ ควรขึ้นข้อความเตือนผู้ใช้คนอื่นด้วยเช่นกัน หากสิ่งที่จะแชร์นั้นมีเนื้อหาที่รุนแรงหรือมีภาพที่ไม่น่าดู 

ด้าน ดร. อาเธอร์ แคสซิดี้ ซึ่งกำกับดูแลโครงการเยลโลว์ริบบอน ซึ่งเป็นมูลนิธิช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายบอกว่า เฟซบุ๊กควรหาทางห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่ภาพเหล่านี้โดยเด็ดขาด การตั้งข้อจำกัดด้านอายุอาจยังไม่ได้ผล เพราะเป็นที่รู้กันว่าผู้สมัครเปิดบัญชีเฟซบุ๊กสามารถให้ข้อมูลเท็จได้ และสื่อที่มีเนื้อหาในลักษณะรุนแรงก้าวร้าวแบบนี้อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้เยาว์ได้

 
 
ที่มา  www.facebook.com/BBCThai
 
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X