กม.เครื่องสำอางใหม่ ปลดล็อกเติม “สารห้ามใช้” เพื่อส่งออกได้ โทษแรงขึ้น 10 เท่า
2015-01-15 12:27:33
Advertisement
คลิก!!!

        ครม. ไฟเขียว กม. เครื่องสำอางฉบับใหม่ ปลดล็อกเติมสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางเพื่อส่งออกได้ เว้นผลิตใช้ในประเทศ ช่วยเพิ่มมูลค่าส่งออกให้มากกว่า 1 แสนล้านบาท เผยเพิ่มโทษมากขึ้น 5 - 10 เท่า โยกอำนาจจาก สคบ. ให้เลขาธิการ อย. คุมโฆษณาโอ้อวด เรียกเก็บสินค้าคืน จ่อประกาศคำห้ามโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา 

 
        วานนี้ (14 ม.ค.) นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. แถลงข่าวความคืบหน้าการเสนอร่างกฎหมายของ สธ. ว่า กฎหมายที่ สธ.เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีทั้งหมด 28 ฉบับ แบ่งเป็น ร่าง พ.ร.บ.ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 8 ฉบับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 4 ฉบับ กรมควบคุมโรค 3 ฉบับ กรมอนามัย 3 ฉบับ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 1 ฉบับ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 ฉบับ และสภาวิชาชีพและสถาบันต่างๆ รวม 4 ฉบับ โดยร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ... เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ผ่าน ครม. เมื่อปี 2557 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบกฎหมายอีกฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. ... ตามที่ สธ. เสนอ
       
       ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 ถือว่าเป็นกฎหมายที่เก่าและล้าสมัยมากแล้ว ประกอบกับภูมิภาคอาเซียนมีข้อตกลงเรื่องเครื่องสำอางที่จะต้องมีระบบการควบคุมเหมือนกันทั้งหมด จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวระบบ โดยสาระสำคัญในกฎหมายฉบับใหม่นี้ที่เพิ่มขึ้นมามี 4 เรื่อง คือ 1. อนุญาตให้ผสมสารห้ามใช้ลงในเครื่องสำอางเฉพาะการส่งออกขายต่างประเทศได้เท่านั้น ซึ่งกฎหมายเดิมได้ห้ามไว้ ทำให้เกิดผลกระทบ เนื่องจากสารห้ามใช้ที่ประเทศไทยกำหนด บางประเทศอนุญาตให้ใช้ได้ ตรงนี้จึงเป็นการปลดล็อก โดย อย. จะอนุมัติเลขที่การจดแจ้งสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก ไม่รวมการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าเศรษฐกิจประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งแต่ละปีมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนการผลิตและจำหน่ายในไทยมีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
       
       ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า 2. หนังสือรับรองผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ เช่น มาตรฐานการผลิต เป็นต้น ก็จะกำหนดลงไปในกฎหมายชัดเจนว่าสามารถขอได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออก เมื่อ อย. หรือกระทรวงพาณิชย์ของประเทศคู่ค้าขอตรวจสอบสินค้า ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น 3. ให้ผู้ประกอบการสามารถอุทธรณ์ได้ หาก อย. ไม่ออกใบสำคัญหรือหนังสือรับรองต่างๆ ให้ ซึ่งกฎหมายเดิมไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ และ 4.การคุ้มครองผู้บริโภค จะให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตต้องส่งรายงานอาการที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการแพ้เครื่องสำอางเข้ามาด้วย ซึ่งจากเดิมไม่ต้องรายงาน ซึ่งหากพบว่าผลิตภัณฑ์มีปัญหาก็จะให้อำนาจเลขาธิการ อย. ในการสั่งเรียกเก็บคืนสินค้าที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงสั่งให้ปรับแก้ไขโฆษณาที่มีการโอ้อวดเกินจริงหรือเป็นเท็จ และเอาผิดโทษตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น
       
       “เดิมทีอำนาจในเรื่องนี้จะเป็นของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอบผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่จะเอาอำนาจเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งหมดมาให้ อย.ดูแล ซึ่งจะทำให้การตรวจจับโฆษณาโอ้อวดเกินจริง การลงโทษทำได้รวดเร็วขึ้น สามารถมอบอำนาจการลงไปตรวจให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้ ซึ่งแต่เดิมไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นอำนาจของ สคบ. ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่บทลงโทษจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น 5 - 10 เท่า เช่น กรณีไม่จดแจ้งเครื่องสำอางโทษจำคุกจากไม่เกิน 1 เดือน ก็เพิ่มเป็นไม่เกิน 6 เดือน ส่วนการเปรียบเทียบปรับก็จะแบ่งความผิดเป็นระยะ เช่น ระยะแรกปรับเท่านี้ ผิดครั้งที่ 2 ปรับเพิ่ม 2 เท่า ส่วนครั้งที่ 3 เพิ่มเป็น 2 เท่าของครั้งที่ 2 และหากยังทำผิดอีกก็อาจปรับเต็มเพดาน” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
       
       ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า สำหรับการเฝ้าระวังคำโฆษณาที่ห้ามใช้ในเครื่องสำอางนั้น ยังคงยึดหลักเกณฑ์เดิมคือไม่มีการตรวจสอบคำโฆษณาก่อน แต่ อย. เตรียมที่จะนำคำที่ห้ามโฆษณาทั้งหมด ซึ่งมีระบุไว้ในคู่มือสำหรับผู้ประกอบการที่มาจดแจ้งอยู่แล้วออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเข้าสู่คณะกรรมการเครื่องสำอางพิจารณา
 
ที่มา  http://www.manager.co.th/
.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X