จับตาแมงกะพรุนพิษระบาด แตะโดนถึงตายร้ายกว่างูเห่า
2014-12-07 13:33:50
Advertisement
คลิก!!!

"ธรณ์"เตือน"แมงกะพรุนกล่อง"เริ่มระบาดทั่วทะเลไทย พิษร้ายกว่างูเห่า

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม รศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และโฆษกกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า เมื่อ 10 กว่าปีก่อนเคยมีความเชื่อกันว่า แมงกะพรุนกล่องซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตในทะเลชนิดหนึ่งที่มีพิษมากกว่างูเห่า ไม่มีในทะเลประเทศไทย อาจจะเป็นเพราะไม่ได้มีการสำรวจอย่างจริงจัง แต่ในระยะหลังช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ทั้งจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มก. ได้ออกสำรวจและเก็บข้อมูลของแมงกะพรุนชนิดนี้ พบว่ามีการกระจายตัวในน่านน้ำไทย และปัจจุบันเริ่มขยายมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวไทย 

สาเหตุที่แมงกะพรุนชนิดแพร่พันธุ์มากขึ้นมาจาก 3 ประการหลัก คือ 1.คนปล่อยของเสียลงในทะเลมาก ของเสียเหล่านั้นเป็นอาหารอย่างดีของแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารของแมงกะพรุน เมื่ออาหารเพิ่มขึ้น ปริมาณแมงกะพรุนทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษก็เพิ่มขึ้นตามมา 2.มีการจับปลามากขึ้น ปกติปลาจะเป็นสัตว์ผู้ล่า กินแมงกะพรุนเป็นอาหาร เมื่อสัตว์ผู้ล่าน้อย ปริมาณแมงกะพรุนก็เพิ่มขึ้นตามมา 3.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ น้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้แมงกะพรุนแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว

"เราค่อนข้างจะเป็นกังวล เพราะจากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่แมงกะพรุนชนิดนี้จะอยู่ใกล้ชายฝั่งบริเวณที่น้ำลึกตั้งแต่สะเอวเป็นต้นไป แมงกะพรุนกล่องตัวเล็กขนาดแค่กำปั้นผู้ใหญ่แต่จะมีหนวดยาวมาก ลักษณะตัวจะเป็นวุ้นใสๆ มองแทบจะไม่เห็น ถ้าลงทะเลแล้วเกิดโชคร้ายไปโดนกับหนวดของแมงกะพรุนกล่องเข้าจะสะดุ้งเฮือก เหมือนถูกไฟช็อตทันที ไม่ได้มีอาการแสบคันเหมือนถูกแมงกะพรุนหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ถ้าอาการเช่นนี้ให้รีบขึ้นจากน้ำทันที ตะโกนให้คนอื่นช่วยได้ ก็ตะโกนเดี๋ยวนั้นเลย วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือเอาน้ำทะเลราดหรือใช้น้ำทะเลฉีด เพื่อให้เศษหนวดออกจากผิวหนังให้เร็วที่สุด ห้ามใช้น้ำจืดเด็ดขาด เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นพิษให้รุนแรงยิ่งขึ้น ห้ามเอาทรายถูด้วย หากพบเศษหนวดยังติดอยู่ให้ใช้ไม้เขี่ยออก อย่าใช้มือเด็ดขาด จากนั้นให้ใช้น้ำส้มสายชูราดลงไปบริเวณแผล ราดให้หมดขวดเลย แล้วปฐมพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยที่ถูกพิษแมงกะพรุนกล่อง เริ่มแรกจะมีอาการหายใจไม่ออก ไม่สามารถควบคุมระบบกล้ามเนื้อได้ ถ้าอยู่ในน้ำก็จะทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้ หรือหากนำขึ้นฝั่งแล้วรักษาไม่ทันหรือไม่ถูกวิธีก็ทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นต้องรีบส่งโรงพยาบาลเร็วที่สุด" รศ.ธรณ์กล่าว

รศ.ธรณ์กล่าวว่า ที่ต้องออกมาเตือนกรณีนี้ ไม่อยากให้ทุกคนที่รับข่าวตื่นตระหนกจนเกินเหตุ แต่ต้องแจ้งเตือนเพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง เพราะเวลานี้ ทช.และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนเพื่อเตรียมการรับมือกับเรื่องนี้มาพอสมควรแล้ว ในส่วนของนักวิชาการทางทะเลอย่างตน นำเสนอว่าการแก้ปัญหาเรื่องการแพร่กระจายของแมงกะพรุนกล่องต้องแก้ที่ต้นเหตุคือ 1.การสกัดน้ำเสียลงทะเลให้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องเพิ่มอาหารให้กับแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของแมงกะพรุน 2.ต้องควบคุมสมดุลระหว่างสัตว์ผู้ล่าที่เป็นตัวกินแมงกะพรุนให้ดี กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ได้ภายใน 1-2 ปี 

"ในส่วนของประชาชนทั่วไป เราก็ต้องการให้รู้ว่า เวลานี้เกิดเหตุแบบนี้อยู่ก็ต้องดูแลตัวเอง หากจะลงเล่นน้ำก็ต้องใส่เสื้อผ้ามิดชิด ชุดว่ายน้ำแขนยาว หรือพวกเว็ทสูทนั้นก็สามารถป้องกันพิษแมงกะพรุนกล่องได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วน้อยคนมากที่ลงเล่นน้ำทะเลแล้วจะใส่เสื้อผ้ามิดชิด สิ่งสำคัญคือการเตรียมการรับมือกับเรื่องเหล่านี้สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ติดทะเล" รศ.ธรณ์กล่าว

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเล (ทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้เรื่องของภัยพิบัติทางทะเลเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อุณหภูมิโลกสูงขึ้น รวมไปถึงเรื่องแมงกะพรุนระบาด ในกรณีการระบาดของแมงกะพรุนนั้นมีทั้งแมงกะพรุนที่ไม่มีพิษ เมื่อระบาดแล้วย่อมส่งผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เช่น โรงงานอุตสาหกรรมไม่สามารถสูบน้ำเข้าไปใช้เป็นระบบหล่อเย็นได้ หรือเป็นกรณีของแมงกะพรุนมีพิษที่สำรวจพบว่า เวลานี้แมงกะพรุนกล่องเริ่มมีการกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ก็จะมีผลต่อความปลอดภัยต่อชีวิตของนักท่องเที่ยว โดยเวลานี้พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นเด็กเสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุนกล่องไปแล้ว 1 ราย แต่หากปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีและทันการณ์ก็ไม่น่าจะเสียชีวต

"ตอนนี้ทาง ทช.กับกรมควบคุมโรคได้ทำความร่วมมือเรื่องการเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแมงกะพรุนพิษ โดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่อง โดยการเข้าไปให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาล การเตรียมวัสดุป้องกันรักษาในพื้นที่ นั่นคือน้ำส้มสายชู ที่จะต้องเตรียมไว้ในบริเวณชายหาดต่างๆ และต้องเตรียมบริเวณที่มองหาง่าย หยิบสะดวกด้วย ที่สำคัญคือเตรียมพร้อมให้บุคลากรทางการแพทย์สำหรับการรักษาให้ทันท่วงที โดยพื้นที่นำร่องที่เตรียมการเรื่องนี้เต็มรูปแบบมี 3 แห่ง คือ เกาะลันตา จ.กระบี่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และหาดพัทยา-บางแสน จ.ชลบุรี ทั้งนี้ อย่าเข้าใจผิดว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ระบาดของแมงกระพรุนกล่อง แต่เป็นพื้นที่นำร่องการเตรียมการรับมือเรื่องนี้เท่านั้น ส่วนการแพร่กระจายของแมงกะพรุนกล่องนั้นพบได้ทั่วไปโดยเฉพาะพื้นที่อ่าวไทย" นายปิ่นสักก์กล่าว


ที่มา   มติชนออนไลน์

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X