ถึงเวลาไทยห้ามโฆษณาเหล้าทุกรูปแบบหรือยัง?
2014-11-13 13:56:23
Advertisement
คลิก!!!

รศ.ดร.เดวิด เจอนิแกน ขอบคุณภาพจาก http://www.traumaf.org/D%20Jernigan.html
        โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
       
       เอ้า!!!...ชน ตามด้วยเสียงชนแก้วท่ามกลางความครึกครื้นในงานเลี้ยงสังสรรค์ เกินครึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่อยู่ในแก้วมักจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่พอน้ำเมาเข้าปากทีไรก็ชวนให้คนดื่มเปลี่ยนนิสัย หากเปลี่ยนให้บรรยากาศดีขึ้นก็ถือว่าดีไป แต่หากกลายเป็นขาดสติ เชื่อเถอะว่าบรรลัยแทบทุกงาน
       
       ทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ เจ็บ พิการ ตาย หลากสารพันปัญหาที่พร้อมจะถาโถมตามมา เมื่อขาดสติ ซึ่งแม้แต่คนที่ไม่ดื่มก็อาจพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
       
       หลายคนที่เป็นนักดื่มอาจแย้งว่าสามารถดื่มได้อย่างมีสติและรู้จักลิมิตในการดื่มที่ดีพอ แต่รู้หรือไม่ว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างปัญหากับไม่สร้างปัญหา สัดส่วนมันครึ่งต่อครึ่งกันเลยทีเดียว
       
       โดย รศ.ดร.เดวิด เจอนิแกน อาจารย์ประจำภาควิชาพฤติกรรมและสังคมสุขภาพ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการตลาดแอลกอฮอล์และเยาวชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮอพกินส์ เปิดเผยข้อมูลว่า จากการศึกษาแยกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่า 50% เป็นการดื่มในผู้ใหญ่ที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา และอีก 50% เป็นการดื่มที่ก่อให้เกิดปัญหา โดย 20% เป็นการดื่มในเยาวชน และอีก 30% คือกลุ่มติดเหล้า เท่ากับว่ากำไรของธุรกิจน้ำเมาครึ่งหนึ่งนั้นมาจากการดื่มที่ส่งผลปัญหาต่อสังคม นอกจากนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยตายในผู้ชายมากเป็นอันดับ 3 ที่น่าห่วงคือเป็นสาเหตุของปัญหาโรคภัยไข้เจ็บในเยาวชนเพิ่มขึ้น 
 
ถึงเวลาไทยห้ามโฆษณาเหล้าทุกรูปแบบหรือยัง?
        รศ.ดร.เดวิด จึงมองว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงจำเป็นที่ต้องมีการควบคุมการโฆษณา เพื่อลดการทำการตลาดเพื่อชักชวนให้เยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่น่ากังวล และเป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจน้ำเมาให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง
       
       สำหรับประเทศไทยขณะนี้เมื่อดูจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พบว่า มีการควบคุมการโฆษณาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่ได้ควบคุมเบ็ดเสร็จทั้งหมดว่าห้ามโฆษณาเลย แต่ควบคุมเพียงเนื้อหา เช่น ไม่แสดงภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือบรรจุภัณฑ์ ไม่มีข้อความอวดอ้างสรรพคุณ ต้องแสดงข้อความเตือน ควบคุมเวลา เช่น โฆษณาได้ตั้งแต่ 22.00 - 05.00 น. เป็นต้น ซึ่ง รศ.ดร.เดวิด มองว่า ยิ่งมีรายละเอียดการควบคุมการโฆษณามาก ก็ยิ่งควบคุมได้ยาก
       
       “ธุรกิจน้ำเมาพยายามแหกกฎตลอดเวลา เพราะค่าปรับการกระทำผิดไม่มาก เมื่อเทียบกับการสื่อสารออกไปถึงผู้บริโภค แต่หากควบคุมการโฆษณาทั้งหมดคือห้ามการโฆษณาเลยหรือ Total Ban ก็จะช่วยให้การควบคุมง่ายขึ้น ไม่ต้องมาพิจารณาว่าโฆษณาได้หรือไม่ได้ เพราะห้ามการโฆษณาทั้งหมด ช่วยให้ประหยัดต้นทุน และได้ประสิทธิผลดีกว่า” รศ.ดร.เดวิด กล่าว
       
       อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจน้ำเมาพยายามออกมาส่งสัญญาณว่า การห้ามโฆษณาทั้งหมดนั้นจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันน้อยลง เป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรม แต่จากการศึกษา รศ.ดร.เดวิด พบว่า จริงๆ แล้วการแข่งขันทางการตลาดของอุตสาหกรรมน้ำเมานั้นน้อยมากอยู่แล้ว เรียกว่าแทบไม่ได้แข่งขันกัน เพราะบริษัทเหล่านี้มีวิธีทำให้บริษัทใหม่ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นในท้องตลาด จึงมีแต่บริษัทรายเดิม การอ้างเช่นนี้จึงไม่เป็นความจริง
       
       “ที่น่าห่วงคือบริษัทน้ำเมามีการทำการตลาดที่หลากหลาย โดยมักอ้างว่าดีต่อสุขภาพ เข้าไปให้ทุนกับการกีฬา อ้างความเป็นชาตินิยม กระตุ้นให้บริโภคมากๆ สร้างเรื่องทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศเริ่มหันมาห้ามการโฆษณาและการทำการตลาดทั้งหมดแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศที่ทำคือประเทศกลุ่มมุสลิม และรัสเซีย ที่เกิดปัญหาการบริโภคหนักจนต้องมีมาตรการควบคุม”
       
       ส่วนประเทศไทยจะถึงเวลายกระดับจากการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แค่บางประเด็น ไปสู่การห้ามโฆษณาทุกรูปแบบทั้งหมดหรือยังนั้น รศ.ดร.เดวิด ก็ไม่สามารถตอบได้ เพราะอยู่ที่การขับเคลื่อนของประเทศไทยเอง แต่ที่แนะนำคือ จากประสบการณ์จากการศึกษาการคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่า ยิ่งห้ามโฆษณาเท่าไรก็จะเป็นผลดีและป้องกันเยาวชนได้มากขึ้นเท่านั้น
       แต่สิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วยนั้น ก็คือ ทำอย่างไรให้การดื่มควรอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม และดื่มอย่างถูกที่ถูกทางถูกกาลเทศะ เพราะแม้แต่นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อทดแทนธุรกิจแอลกอฮอล์ด้านประเพณีวัฒนธรรมและการส่งเสริมนโยบายสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังยอมรับว่า อย่างไรเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ยังคงต้องอยู่คู่สังคมไทยและโลกต่อไป การลดการบริโภคเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ แต่คนที่ยังดื่มอยู่และหากจะยังดื่มต่อไป ก็จะต้องทำให้ดื่มอย่างเหมาะสม และถูกกาลเทศะด้วย



ที่มา  http://www.manager.co.th/

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X