Pop Cultures : เมื่อ “ความป๊อบ” สร้างชาติ
2014-10-13 15:36:39
Advertisement
คลิก!!!

สัปดาห์นี้ผมมีโอกาสเดินทางมาทำงานที่มหานครแฟรงค์เฟิร์ตประเทศเยอรมันครับ อยู่ที่นี่มาตลอดหนึ่งสัปดาห์เต็มเพื่อร่วมงานมหกรรมหนังสือซึ่งถือได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปกติแล้วงานนี้จะจัดทั้งหมด 7 วัน 

โดยวันที่ 1-5 จะเป็นการพบปะพูดคุยระหว่างผู้ทำธุรกิจหนังสือ (ซึ่งจะเข้างานได้ด้วยการนัดหมายเท่านั้นพร้อมกับจ่ายเงินประมาณ 3,000 บาท) โดยปกติแล้วงานจะเน้นแต่เรื่องของหนังสือและสื่อดิจิตอลจำพวกภาพถ่ายเท่านั้น

แต่ในช่วงหลายปีให้หลังมานี้ มีกระแสหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นในเยอรมันและถือเป็นไฮไลท์ของงานมหกรรมหนังสือแฟรงค์เฟิร์ต นั่นก็คือ “คอสเพลย์” และมหกรรมป๊อบ คัลเจอร์จากญี่ปุ่นซึ่งจะมีชาวเยอรมันแต่งตัวตลอดจนจัดกลุ่มพบปะสังสรรค์ระหว่างคนที่มีความชอบไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งงานนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 6-7 (เสาร์-อาทิตย์) ของงาน ถือว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากนะครับ นั่นเพราะผมมาอยู่ที่นี่เพียงสัปดาห์เดียว ต้องยอมรับว่ากระแส “เหยียดเอเชีย” มาแรงมากๆ ไปที่ไหนก็พร้อมจะมีสถานการณ์ให้ต้องหงุดหงิดและกลัวอยู่เรื่อยไป อย่างไรก็ตามกระแสป๊อบคัลเจอร์จากญี่ปุ่นกลับกลายเป็นสิ่งที่คนเยอรมันให้การยอมรับมากกว่า“คุณค่าของคนเอเชียโดยทั่วไป” อีกด้วยซ้ำ ดังนั้นนี่คือสิ่งที่ผมต้องการให้ความสนใจและมองมันในแง่มุมที่ว่า “หรือวัฒนธรรมญี่ปุ่นจะช่วยลดความต่างระหว่างชาติพันธ์ลงได้จริงๆ?”

เหตุนี้ผมจึงพยายามหาข้อมูลจากคนเยอรมันทั้งด้วยการสอบถามโดยตรงหรือพูดคุยกับสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นที่มาเปิดบูธในงาน ทั้งหมดเห็นพ้องตรงกันว่า “ป๊อบคัลเจอร์” คือวัฒนธรรมสากลที่จะสร้างมิตรภาพได้จริงๆ เราอาจไม่ได้ชอบกันในเชื้อชาติ แต่การ “รักในสิ่งเดียวกัน” คือพื้นฐานที่เราจะกลายเป็นเพื่อนกันได้ และนั่นคือพื้นฐานของความสุข

ดังนั้นวันนี้ผมจะมาสรุปในสิ่งที่ป๊อบคัลเจอร์ ได้มอบให้กับยุโรป (ผมขอใช้คำว่ายุโรปเพราะงานนี้ถือเป็นงานระดับโลกและรวมคนจากนานาประเทศในยุโรปรวมถึงอเมริกา) เขาทำได้อย่างไร และต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง? เรามาดูกันครับ

 

 

ความสนุกที่สวนทางกับการเข้าถึง

อันนี้ถือว่าน่าสนใจมากและถือเป็น “ราก” ของความสำเร็จแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน สาเหตุเกิดจากความสมบูรณ์แบบของสื่อบันเทิงญี่ปุ่นที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนานาประเทศทั่วโลก “แต่” ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการเข้าถึงซึ่งโดยปกติแล้วรายการเหล่านี้จะวนมาในทุกๆ 1 สัปดาห์ แต่มันกลายเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไปสำหรับคนที่รอ ดังนั้นแฟนๆ จึงต้องการ “enjoy กับมันด้วยวิธีการอื่น” ในยุโรปพวกเขาตั้ง community พูดคุยและแลกเปลี่ยนเรื่องราวตลอดจนทำการสปอยผิดกฏหมายไม่ต่างกับในไทย แต่ความล่าช้านี่แหละที่ทำให้คนต้องลุ้น... ที่ทำให้คนต้องรอว่าเรื่องจะดำเนินไปในทิศทางไหน และมันกลับกลายเป็นกระแสอย่างไม่รู้ตัว ถือเป็น “ความบังเอิญ” ที่ประสบความสำเร็จในยุโรปอย่างไม่น่าเชื่อ

 

 

คุณต้องบอกว่าจะสนุกกับป๊อบคัลเจอร์อย่างไร

ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ทะนงตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาถูกสอนว่าอย่าลีลามากหากต้องการให้สิ่งที่ตัวเองรักถูกรักโดยคนรอบโลก แน่นอนว่าความสนุกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และวัฒนธรรมที่แตกต่างก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้แต่ละคนเข้าหากันได้ยากขึ้น ดังนั้นญี่ปุ่นพยายาม “โฆษณา” เองราวของประเทศตนเองโดยโฟกัสไปที่ “วิธีการ” มากกว่า “ผลลัพธ์” อย่างเช่น เวลามีโอกาสได้เขียนบทความลงนิตยสาร เขาจะไม่เขียนว่าตัวละครใดที่ได้รับการคอสเพลย์สูงสุด แต่เขาจะเลือกเขียนในมุมว่าสถานที่แบบไหนที่คนญี่ปุ่นชอบคอสเพลย์ที่สุด เพราะอะไรและมีเป้าหมายอย่างไร สิ่งที่ได้คืออะไร โดยความต้องการจริงๆ ก็คือการ “เนียนบอก” ให้ทำแบบนั้นในประเทศตัวเองบ้างนั่นเอง

 

 

คุณต้องเชื่อมั่นในความเป็นชาติของคุณ

คนญี่ปุ่นที่อยู่ต่างประเทศกว่า 90% ถูกสอนให้คลั่งชาติ คือผมอาจจะใช้คำแรงไปแต่มันจะอยู่ในกรอบประมาณนี้ล่ะครับ เขาจะคิดว่าอย่างน้อยการที่เขาให้ความสำคัญกับชาติตัวเองเป็นลำดับแรก ท่ามกลางความสงสัยหรือหมั่นไส้ต่างๆ มันจะยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่อยากจะพิสูจน์ว่า “มันดีจริงไหม” และคนญี่ปุ่นก็มั่นใจว่าวัฒนธรรมของตนเองนั้น “ตลาด” อย่างแรง ไล่มาตั้งแต่ดอกไม้อย่างซากุระหรือแม้แต่การสร้างคุณค่ากับสถานที่อย่างชินจูกุ ชิบูย่า ฮาราจุกุ (ซึ่งพูดตรงนี้เลยว่าคนญี่ปุ่นให้คุณค่ากับมันเกินกว่าความเป็นจริง “โคตรๆ”) 

แต่นั่นล่ะครับ ใครกันจะมีโอกาสได้ไปสัมผัสสถานที่จริงๆ ทุกวันนี้คนยุโรปมองฮาราจุกุเป็น “ดินแดนแห่งสันติภาพ” ที่คุณจะแต่งตัวอะไรไปก็ได้ จะทำอะไรได้ คนยุโรปพยายามหาทาง refer สถานที่ตัวเองว่าเป็น Harajuku หมายเลข 2 ผมพูดตรงๆ ว่ามันคือการสร้าง Propaganda ของญี่ปุ่นซึ่งมันอาจส่งผลแค่กับคนประมาณ 10% ในยุโรป แต่ใครจะไปรู้ว่ามันจะลามไปเป็นหลายๆ ของประเทศรึเปล่า นี่คือสิ่งที่เราต้องจับตามองมากๆ เลยนะครับ

 

 

สุดท้ายนี้ผมอยากบอกว่าชื่อ “ญี่ปุ่น” ไม่ใช่สิ่งไกลตัวสำหรับคนยุโรปเลยนะครับ ปัจจุบันการสร้างชาติมันไปไกลถึงขั้นการสร้างอานานิคมโดยนัยแล้ว จะเป็นอย่างไรถ้าเรามีฮิตเลอร์ที่ฟัง AKB48? ญี่ปุ่นเค้าคิดถึงขั้นนั้น เพราะการเติบโตของวัฒนธรรม และ “ความชอบของคน” กลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต่อต้านอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ ดังนั้นญี่ปุ่นจึงยังเป็นประเทศที่เราสามารถศึกษาและเรียนรู้จากเขาได้เสมอครับ

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าหรือคุยกันทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ



เรื่องโดย : ปูมิ www.marumura.com

ที่มา  http://www.marumura.com/

 

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X