ชวนครอบครัวรู้จัก 8 สถานการณ์การเงินเจ้าปัญหา
2014-09-20 13:18:47
Advertisement
คลิก!!!

 
        ในยุคที่คนไทยมีแต่รายจ่าย แต่รายได้ไม่ค่อยจะไหลเข้า แถมค่าครองชีพก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ครอบครัวไทยหลายครอบครัวอาจหนีไม่พ้นการทะเลาะเบาะแว้งกันในเรื่องเงินๆ ทองๆ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาในชีวิตสมรส และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งในวันนี้ เรามีหัวข้อด้านการเงินที่ทำให้คู่สามีภรรยามักทะเลาะกันบ่อยๆ มาฝากกัน จะมีอะไรบ้างนั้น ติดตามกันเลยค่ะ
       
       1.รูปแบบการใช้เงินแตกต่างกัน
       
       ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งมัธยัสถ์ ชอบทำอะไรด้วยตนเอง ไม่ชอบความหรูหรา ขณะที่อีกคนชอบชอปปิ้ง ใช้เงินซื้อความพอใจ รักความสะดวกสบาย หากคู่สมรสมีนิสัยแตกต่างกันสุดขั้วเช่นนี้ก็อาจทำให้การใช้ชีวิตคู่มีปัญหากันพอสมควร เพราะแนวความคิดและการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ รอบตัวมีความแตกต่างกัน เมื่อมาอยู่ร่วมกันจะยิ่งทำให้คนสองคนรู้สึกอึดอัดมากขึ้น และอาจมองคู่รักของตนเองในแง่ร้ายแทนก็เป็นได้ ทางที่ดี หากพบเจอสถานการณ์นี้ควรทำความเข้าใจ เรียนรู้กันและกัน และหาจุดกึ่งกลางในการใช้เงินที่คุณสองคนไม่ลำบากใจจนเกินไปก่อนจะสายเกินไป
       
       2.พึ่งพารายได้จากคนๆ เดียว
       
       การที่ครอบครัวต้องพึ่งพารายได้จากคนๆ เดียว ย่อมทำให้คนๆ นั้นเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ และต้องการเป็นคนออกกฎ หรือควบคุมการใช้เงินในบ้านแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งก็ทำได้หากอีกฝ่ายยินยอม แต่แน่นอนว่า การทำเช่นนี้อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่พอใจ น้อยใจขึ้นมาได้เช่นกัน และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ได้ในภายหลัง นอกจากนั้น การใช้ชีวิตคู่ร่วมกันควรจะตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ใช้รายได้เป็นตัวนำ ทางออกที่ดีหากมีการทะเลาะกันด้วยปัญหานี้ ทั้งสองฝ่ายควรหาเวลาพูดคุยกันและร่วมกันตั้งกฎการใช้จ่ายเงินของบ้านจะดีกว่าค่ะ
       
       3.มองค่าใช้จ่ายลูกคนละมุม
       
       เรื่องการมองค่าใช้จ่ายของลูกกันไปคนละมุมเป็นปัญหาไม่น้อย เพราะทั้งพ่อและแม่ต่างก็รักลูก และต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก แต่ถ้าพ่อและแม่มองกันไปคนละทาง ก็อาจเกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้ เช่น หากฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะให้กับโรงเรียนเพื่อลูกเป็นสิ่งที่ทำได้ เพื่อลูกจะได้มีที่นั่งในโรงเรียนดีๆ มีเพื่อนดีๆ มีสิ่งแวดล้อมดีๆ มีครูดีๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนดีกับลูกทั้งนั้นเลย แต่อีกฝ่ายกลับเห็นตรงข้ามและไม่สนับสนุน เพราะรู้สึกว่าถ้าต้องจ่ายสินบนให้กับคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษาเสียแล้ว จะไปหวังว่าจะได้รับอะไรดีๆ จากการศึกษานั้นก็คงยาก เรียนโรงเรียนวัดยังจะรู้สึกภูมิใจกว่า ฯลฯ เป็นต้น
       
       4.มีหนี้
       
       การมีหนี้สินนำมาซึ่งความเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณไม่มีความสามารถพอที่จะจ่ายชำระหนี้นั้นๆ ได้ และนั่นทำให้หลายคู่ทะเลาะกันมานักต่อนัก แต่ถ้าต้องการเลิกทะเลาะกัน และต้องการหลุดพ้นจากสถานะดังกล่าวโดยไว คนสองคนควรร่วมแรงร่วมใจกัน คุยกัน และวางแผนทางการเงินร่วมกันจะดีกว่า
       
       5.ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้เงินตามใจชอบ
       
       กรณีนี้มาจากการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้เงินได้ของตนเองตามใจชอบ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกลับต้องกุมขมับกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน และต้องพยายามประหยัดเพื่อให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ฝ่ายแรกมักเป็นภรรยา ส่วนฝ่ายหลังมักเป็นสามี
       
       หากสามีรายได้มากกว่า และต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในบ้านมากกว่า โดยต้องดูแลทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมัน ค่าอาหาร ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเทอมลูก ในขณะที่ภรรยาอาจร่วมแบ่งเบาค่าใช้จ่ายได้ไม่มากเท่า แถมยังมีการกันเงินบางส่วนไปชอปปิ้ง หรือเสริมสวย งานนี้ก็อาจทำให้สามีรู้สึกท้อใจ จนนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งได้เช่นกัน หรือในทางตรงกันข้าม หากสามีเป็นฝ่ายที่ไม่ค่อยนำเงินมาช่วยค่าใช้จ่ายในบ้าน แต่กลับไปลงขวดเหล้า เที่ยวบาร์ดูนารีหมด กรณีนี้ก็อาจทำให้แม่บ้านต้องลุกขึ้นมาทวงถามถึงความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าครอบครัวกันได้
       
       ทางที่ดี ควรพูดจากันถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่มีในแต่ละเดือน และคุยกันว่าจะใช้จ่ายอย่างไร เก็บเงินเพื่ออนาคตเท่าไร เพื่อให้ครอบครัวไปรอด ไม่ควรปล่อยให้อนาคตทางการเงินตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบกไว้เพียงลำพัง
       
       6.แอบมี “งบลับ”
       
       การใช้จ่ายเงินที่หามาได้แบบไม่เปิดเผย หาที่มาที่ไปไม่ได้ ทำให้คนสองคนทะเลาะกันมานักต่อนักแล้ว โดยเฉพาะในคนที่เคยมีวินัยทางการเงิน เป็นที่เชื่อใจของคู่ครอง การที่อยู่ดีๆ เงินหายไป หรือคู่ครองไปพบว่าคุณมีรายได้และการใช้จ่ายแบบลับๆ ซ่อนอยู่จะทำให้อีกฝ่ายเกิดความไม่พอใจขึ้นได้
       
       ดังนั้น จะเป็นการดีกว่า หากคุณมีพฤติกรรมการใช้เงินแบบเปิดเผยกับคนรักของตัวเอง และควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่สามารถอธิบายกับคู่ครองได้ ถ้าหากต้องการรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ให้ยืดยาว
       
       7.มักลืมจ่ายหนี้
       
       เช่น ชอบค้างค่าน้ำค่าไฟ ขี้เกียจไปจ่ายเงินให้ตรงเวลา นิสัยเช่นนี้ หากทำต่อเนื่องอาจส่งผลเสียต่อครอบครัว เพราะทันทีที่มีหนี้ ดอกเบี้ยจะเริ่มเดินโดยอัตโนมัติ ดังนั้น หากไม่ต้องการทะเลาะกันด้วยข้อหาดังกล่าว ควรจดบันทึกด้วยปากกาตัวโตๆ เอาไว้บนกระดาน หรือปฏิทินเลยว่า วันครบกำหนดชำระหนี้ของคุณคือวันที่เท่าไร เป็นจำนวนเท่าไร และเผื่อเวลาให้ตัวเองไปจ่ายหนี้ให้ทันด้วย
       
       นอกจากนั้น หากต้องการความสะดวกมากขึ้น อาจเลือกใช้บริการหักบัญชีอัตโนมัติ เพราะนั่นจะทำให้คุณไม่ต้องไปเสียเวลายืนต่อแถวเพื่อจ่ายเงินนานๆ นั่นเอง แต่ก็อย่าลืมเช็คยอดเงินที่หักจากบัญชีกับใบเสร็จที่หน่วยงานออกให้ด้วยว่าตรงกันหรือไม่นะคะ
       
       8.ขี้ยืมเงิน
       
       หากคุณกำลังมีปัญหาทางการเงิน และทราบว่า ทางครอบครัวเดิมของคุณสามารถให้การช่วยเหลือได้ ก่อนจะเอ่ยปากขอยืม ขอแนะนำว่า ควรปรึกษาคู่ครองของคุณเสียก่อน อย่าคิดง่ายๆ ว่า คุณเอ่ยปากขอยืมเงินจากพ่อแม่พี่น้องของคุณแท้ๆ ทำไมจะยืมไม่ได้ เพราะคู่ครองของคุณอาจไม่คิดเช่นเดียวกับคุณ และหากคุณทำลงไปโดยไม่ได้ปรึกษากันเสียแล้ว อาจนำไปสู่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน และสามารถทะเลาะเบาะแว้งกันได้นั่นเอง

ที่มา  http://www.manager.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X