เพิ่มเตียง ไอ.ซี.ยู.เด็ก ลดทารกตาย
2014-09-12 09:24:52
Advertisement
คลิก!!!

      เขตสุขภาพภาคเหนือตอนบน จัดระบบดูแลรักษาทารกแรกเกิดอาการวิกฤติ เพิ่มเตียงไอ.ซี.ยู.เด็กในโรงพยาบาลชุมชนรวมกว่า 40 เตียง ลดอัตราการเสียชีวิตเด็กได้
       
       นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในเวทีอภิปรายเรื่อง "การจัดบริการที่ดีกว่า (The Better Service) ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2557 ว่า การปฏิรูปเขตสุขภาพเพื่อจัดบริการที่ดีกว่าของแต่ละพื้นที่นั้น จะมีความหลากหลาย แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งจะกำกับโดยทีมบริหารเขตสุขภาพ โดยโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดจะต้องร่วมกันบริหารจัดการ เพื่อให้ปรากฏผลต่อผู้รับบริการตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข 3 เรื่องหลัก คือ 1.ผู้ป่วยฉุกเฉินทุกรายได้พบหมอในโรงพยาบาลทุกระดับ ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในและนอกเวลาราชการ 2.เวลารอรับบริการไม่นาน อาจมีการปฏิบัติแตกต่างกัน เช่นเพิ่มเวลาให้บริการ เพิ่มจุดให้บริการใน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือจัดบริการร่วมในชุมชน เพื่อลดความแออัดที่ต้องไปรอตรวจในโรงพยาบาล และ3.อยู่ใกล้ไกล ได้ยาเดียวกัน เพื่อความมั่นคงของระบบยา โดยเฉพาะยารักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นยาจิตเวช ยาเบาหวาน ยาโรคความดันโลหิตสูง สามารถรับได้ที่รพช. หรือที่รพ.สต. โดยทุกแห่งจะใช้ยาตัวเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นประชาชน และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การจัดซื้อยาร่วมกันในระดับเขต เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ ให้ประชาชนได้รับยารักษาโรคที่มีคุณภาพดี 
       
       ด้าน พญ.ปัฐมาลักษณ์ เผือกผ่อง แพทย์ประจำ รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ ได้นำเสนอเรื่อง การจัดระบบการส่งต่อทารกแรกเกิดที่มีอาการวิกฤติ ในเขตสุขภาพที่ 1 ว่า ภาคเหนือตอนบนซึ่งมี 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน มีรพ.ในเขต 100 แห่ง รพ.สต. 1,096 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชน 17 แห่ง และสำนักงานสาธารณสุขชุมชนที่ตั้งบนพื้นที่ป่าเขาห่างไกล 129 แห่ง ได้วางระบบการดูแลทารกแรกเกิดในภาวะวิกฤติที่มีอาการซับซ้อน เช่นเด็กคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กทารกแรกเกิดอันดับ 1 เพื่อการส่งต่อ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 โดยมีรพ.นครพิงค์ เป็นแม่ข่าย และรพ.แม่และเด็ก จ.เชียงใหม่ มาร่วมให้บริการกรณีที่มีอาการไม่หนักมาก และสร้างมาตรฐานการดูแลระหว่างนำส่งรักษาต่อในพื้นที่ป่าเขา ใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยมีศูนย์กลางประสานส่งต่อโรงพยาบาลในเขตบริการ และเพิ่มเตียงไอซียูเด็กในโรงพยาบาลชุมชนต่างๆอีก 40 เตียง เพิ่มความคล่องตัวตั้งแต่ต้นทางไปยังรพ.ที่จะรับผู้ป่วย โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา
       
       "ผลสำเร็จของการปฏิรูปเขตสุขภาพ ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มศักยภาพให้โรงพยาบาลชุมชนในการดูแลเด็ก เช่นเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีความผิดปกติระบบการหายใจได้ปีละ 500 กว่าราย ลดการเสียชีวิตจากอัตรา 4.7 ต่อ 1,000 คน เหลือ 4.0 ต่อ 1,000 คนในปี 2557 ไม่ต้องส่งไปรักษาที่จังหวัดหรือเขตสุขภาพอื่น ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูแลของผู้ปกครองเด็กได้" พญ.ปัฐมาลักษณ์ กล่าว

ที่มา  http://www.manager.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X