ผลตรวจ “ส้มตำถาด” ปนเปื้อนแคดเมียมจริง เว้นมีใบตอง-พลาสติก รองมิดชิด
2014-09-10 12:18:55
Advertisement
คลิก!!!

       ผลตรวจโลหะหนักใน “ส้มตำถาด” พบ มีใบตอง หรือพลาสติก รองมิดชิด “แคดเมียม-ตะกั่ว” ไม่ปนเปื้อนในส้มตำ เตือนประชาชนเลือกรับประทานระมัดระวัง ส่วนผู้ประกอบการควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน มอก.

       นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมฯ​ ได้เก็บตัวอย่างของส้มตำถาด เพื่อพิสูจน์สารโลหะหนัก เบื้องต้นทดสอบด้วยการใส่กรดอะซิติก หรือกรดน้ำส้มสายชู พบว่ามีการปนเปื้อนของสารแคดเมียมเกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่ค่าที่ได้อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะเป็นการหยดสารโดยตรงลงบนถาด จึงทำการเก็บส้มตำถาด 10 ตัวอย่าง นำมาแบ่งทดสอบโดยหยดสารอะซิติก แช่ไว้ตามมาตรฐาน 24 ชั่วโมง ในอุณหภูมิ 12 องศา ​เซลเซียส ​พบว่า มีสารแคดเมียม 2.6 มิลลิกรัมต่อลิตร ​เกินกว่ามาตรฐานกำหนดคือ ไม่เกิน 0.25 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้ง 10 ตัวอย่าง เป็น 10 เท่า ส่วนสารตะกั่วพบเพียง 3 ถาด แต่ไม่เกินมาตรฐาน
       
       นพ.อภิชัย กล่าวว่า ส่วนอีกวิธีคือ การหาปริมาณสารละลายที่ออกมาปนเปื้อนส้มตำในถาดโดยตรง ซึ่งจะทำให้ทราบคำตอบว่า การรับประทานจริงๆ จะได้รับการปนเปื้อนหรือไม่ โดยได้สุ่มตัวอย่างส้มตำ 10 ตัวอย่าง ทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง 3 ชั่วโมงแล้วนำมาหาการปนเปื้อน โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. ส้มตำที่ใส่กับถาดโดยตรงไม่มีอะไรรอง พบว่า มีสารแคดเมียมปนเปื้อนในส้มตำ 0.875 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม 2. ส้มตำถาดแบบมีใบตองรองมิดชิด ไม่พบการปนเปื้อนของแคดเมียม 3. ส้มตำถาดแบบที่มีใบตองรองไม่มิดชิด พบการปนเปื้อนแคดเมียม 0.127 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 4. นำส้มตำใส่ถุงพลาสติกวางบนถาด ทั้งนี้ จากการทดสอบทุกแบบไม่พบการปนเปื้อนของสารตะกั่ว 
       
       “ผลการตรวจดังกล่าว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน ADI หรือปริมาณที่ไม่ควรบริโภคเกินในแต่ละวันอยู่ที่ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัวต่อเดือน ประกอบกับข้อมูลการเก็บตัวเลขการบริโภคอาหารของคนไทย ปริมาณแคดเมียมที่พบในการทดสอบครั้งนี้โดยเฉพาะเมื่อใส่ส้มตำในถาดสีโดยตรง ถือว่าเกินปริมาณที่แนะนำ 1.4 เท่า ซึ่งหากมีการบริโภคอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะได้รับสารแคดเมียมเกินมาตรฐาน และสะสมในร่างกายไปเรื่อยๆ ก็มีสูง ซึ่งผู้บริโภคควรเลือกร้านที่ใช้ภาชนะที่ปลอดภัย” นพ.อภิชัย กล่าว
       
       นพ.อภิชัย กล่าวว่า อันตรายจากการสารแคดเมียม คือ หากได้รับในปริมาณมาก หรือสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดพิษต่อไต และกระดูก หากกินต่อเนื่องในระยะยาวก็จะทำให้เสี่ยงไตวาย เกิดโรคปวดกระดูก หรือ โรคอีไตอีไต ได้ นอกจากนี้ องค์กรด้านมะเร็ง ยังกำหนดให้แคดเมียมเป็นสารชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การทดสอบในครั้งนี้ได้พยายามหาคำตอบที่ประชาชนสงสัย และตอบคำถามเรื่องความปลอดภัยเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค สำหรับผู้ประกอบการร้านค้านั้น สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยได้ โดยดูที่มาตรฐาน มอก. ซึ่งจะกำหนดมาตรฐานของสีที่ใช้กับภาชนะสำหรับครัวเรือน ซึ่งสารแคดเมียม และตะกั่ว เป็นส่วนประกอบสำคัญของสี หากเลือกใช้ภาชนะที่ได้มาตรฐานก็จะปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ที่มา  http://www.manager.co.th/






เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X