Review: The Hunger Games
2012-06-26 22:09:16
Advertisement
คลิก!!!

เกม(เรียลลิตี้โชว์)ล่าชีวิต

พวกเขาแค่ต้องการรายการทีวีที่สนุก แค่นั้น” เป็นประโยคที่เกล ฮอว์ธอร์น (เลียม เฮมสเวิร์ธ) บอกแก่แคทนิส เอเวอร์ดีน(เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) นางเอกของเรื่อง ก่อนที่จะจากไปแข่งขันเกมล่าชีวิต ในหนัง The Hunger Games และประโยคที่ว่านี้สะท้อนถึงภาพใหญ่ของตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างดี เพราะนี่เป็นเรื่องราวที่ได้รับอิทธิพลจากการโทรทัศน์แนวเรียลลิตี้โชว์ องค์ประกอบหลายอย่างในหนังเรื่องนี้ทั้งเรื่องราวและเทคนิคการถ่ายทำที่ผู้กำกับแกรี่ รอส เลือกใช้ ทำให้คุณรู้สึกเหมือนได้ดูรายการแนวเรียลลิตี้โชว์ใช้ได้รายการหนึ่งเลยครับ เพียงแต่ผมยังรู้สึกว่าถ้าครึ่งหลังของหนังน่าจะเข้มข้น หรือกดดันให้มากกว่านี้ The Hunger Games จะเป็นหนังที่ทำให้รู้สึกอิ่มเอมได้เปรมปรีดิ์จริงๆ

The Hunger Games ดัดแปลงจากนิยายแฟนตาซีผสมวิทยาศาสตร์ของซูแซน คอลลินส์ ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นผู้ใหญ่ เป็นภาคแรกของไตรภาคที่ยังมีอีกสองภาคต่อตามมาในชื่อ Catching Fire และ Mockingjay โดยเรื่องราวมีฉากหลังเป็นประเทศในโลกอนาคตที่ชื่อว่าพาเนมที่แบ่งเป็น 13 เขต และเมืองหลวงได้บังคับให้ 12 เขตที่อยู่ในอาณัติส่งวัยรุ่นหญิงชายมาเป็นบรรณาการเพื่อเข้าแข่งขันในเกมล่าชีวิต เพื่อลงทัณฑ์ที่เคยก่อกบฏ และเป็นการข่มขวัญไม่ให้ลุกฮือขึ้นใหม่ เกมที่ว่านี้จัดขึ้นในสนามประลองของเมืองหลวง ที่ถูกสร้างขึ้นให้มีลักษณะคล้ายป่า มีอันตรายอยู่รอบด้าน ผู้ชมทั้งประเทศจะได้ชมการแข่งขันสดๆ ผ่านการถ่ายทอดทางทีวีเหมือนรายการเรียลลิตี้โชว์

แคทนิส ตัวเอกของเรื่องเป็นเด็กสาววัย 16 ที่เก่งกาจเรื่องการใช้ธนูเพื่อล่าสัตว์และการเอาตัวรอดในป่า เธอกำพร้าพ่อ ต้องดูแลน้องสาวและแม่ โดยมีเกล ชายคนรักคอยให้การช่วยเหลือ เธอมาจากเขต 12 ที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนงานเหมือนแร่ เธออาสาสมัครลงแข่งขันในเกมเพื่อเป็นตัวแทนของพริมโรส (วิลโลว์ ชีลด์ส) น้องสาววัย 12 ที่ถูกจับฉลากเป็นเครื่องบรรณาการ การเสียสละตัวเองของแคทนิสกลายเป็นที่กล่าวถึง และทำให้เธอเป็นขวัญใจของผู้ชมการแข่งขันขึ้นมาทันที ส่วนผู้เข้าแข่งขันอีกคนของเขต 12 ก็คือพีตา เมลลาร์ก (จอช ฮัทเชอร์สัน) เด็กหนุ่มท่าทางซื่อๆ และนิสัยดีที่แอบหลงรักแคทนิสมานานแล้ว และเคยให้ขนมปังประทังความหิวแก่เธอ พีตาเป็นเด็กฉลาดและรู้ว่าการเป็นขวัญใจของผู้ชมนั้นเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้เขารอดตายจากเกมได้ เพราะผู้ชมเหล่านี้อาจเป็นสปอนเซอร์ส่งยาหรืออาหารมาให้เขาใช้ระหว่างที่อยู่ในป่า พีตาจึงพยายามทำตัวให้เป็นที่จดจำและเป็นที่รักของผู้ชม รวมถึงการบอกผ่านทางทีวีว่าเขาแอบรักแคทนิสอยู่ ทำให้ทั้งคู่โดดเด่นจากผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ขึ้นมาทันที แคทนิสนั้นไม่เล่นด้วยกับกลยุทธคู่รักของพีตาในทีแรก แต่เมื่อเธอพบว่ามันได้ช่วยเธอให้รอดชีวิตได้ เธอก็แสดงออกถึงความใกล้ชิดกับพีตามากขึ้น ทำให้เกิดความปวดร้าวใจแก่เกลที่ดูผ่านการถ่ายทอดสดอยู่ อย่างไรก็ดี เรื่องราวยังคงคลุมเครืออยู่ว่าแคทนิสเพียงแค่ห่วงใยพีตาในฐานะเพื่อน แต่แกล้งทำเป็นคู่รักเพื่อให้เกิดกระแส หรือว่าเธอเริ่มมีใจให้พีตาเกินเพื่อนแล้ว

ทั้งแคทนิสกับพีตายังได้รับการช่วยเหลือจาก เฮย์มิทช์ เอเบอร์นาตี (วู้ดดี้ ฮาร์เลนสัน) อดีตผู้ชนะเกมล่าชีวิต มาทำหน้าที่เป็นครูฝึกและสอนกลเม็ดการเอาตัวรอดในป่า และก็คอยล็อบบี้ซีเนคา เครน (เวส เบนท์ลี่) ผู้ควบคุมการแข่งขันให้มีการเปลี่ยนกฎเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ทั้งคู่ และเหมือนเกมเรียลลิตี้โชว์หลายๆ เกมที่มักมีเซอร์ไพรส์หรือด่านอุปสรรคให้เกมเข้มข้นและเดินหน้าไวขึ้น ซีเนคาจึงได้ส่งทั้งลูกไฟ ระเบิด และฝูงสุนัขกลายพันธ์ มาให้ผู้เข้าแข่งขันต้องเอาตัวรอด นอกเหนือจากการที่ต้องสู้กันโดยทั่วไป

เรื่องราวในหนังไม่ใช่ของใหม่อะไร เห็นได้ชัดว่ารายการแนวเรียลลิตี้โชว์จะเป็นอิทธิพลหลักต่อ The Hunger Games เพราะมีองค์ประกอบหลักที่คล้ายกันอยู่มาก โดยเฉพาะ Survivor ที่ให้ผู้เข้าแข่งไปใช้ชีวิตในป่าเพื่อเอาตัวรอด เพียงแต่การเอาชนะกันนั้นไม่ใช่การโหวตออก แต่เป็นการสู้กันจนตายและเหลือผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายเป็นผู้ชนะแบบเดียวกับเนื้อเรื่องในหนัง Series 7: The Contendersหรือ Battle Royale และมีการถ่ายทอดให้ชมกันแบบเรียลไทม์คล้ายหนัง The Truman Show และต้องคอยทำให้ตัวเองเป็นกระแสเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์อย่างที่ผู้เข้าแข่งขัน American Idol ต้องทำเพื่อให้มีคนโหวต การคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันในเกมใช้วิธีจับฉลากในฤดูเก็บเกี่ยวอันเป็นเรื่องราวในช่วงต้นของหนังก็ยังให้อารมณ์คล้ายกับ The Lottery งานเรื่องสั้นของเชอรี่ แจ็คสัน ที่เคยถูกดัดแปลงเป็นหนังทีวีในปี 1996 ส่วนท้ายเรื่องของหนังก็ยังมีอารมณ์คล้ายกับนิยายชุด Twilight ที่ตัวเอกของเรื่องที่เป็นวัยรุ่นผู้หญิงอยู่ท่ามกลางรักสามเส้าที่เธอต้องเลือกระหว่างคนรักในชีวิตจริงกับคนรักในเกม

แม้ว่าองค์ประกอบทางเรื่องราวของหนังจะยืมหรือคล้ายคลึงหนังที่เคยมีมาก่อน แต่ผู้กำกับแกรี่ รอส ก็เล่าเรื่องราวได้สนุกและลื่นไหล ยิ่งเมื่อรู้ว่าหนังยาวเกือบ 2 ชั่วโมงครึ่งแล้วยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเก่งของผู้กำกับ เพราะเราไม่รู้สึกว่ามีช่วงไหนในหนังที่เนือยหรือน่าเบื่อเลย แถมยังมีบางช่วงในหนังที่ทำออกมาได้ดีเป็นพิเศษ เพราะสามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้สะเทือนใจจนร้องไห้ตามได้ เทคนิคการเล่าเรื่องที่ถ่ายทำให้ออกมาดูเหมือนใช้กล้องแฮนด์เฮลด์ก็ได้อารมณ์แบบดูสารคดีแนวเรียลลิตี้ทีวี และก็ยังทำให้เราเข้าถึงจิตใจของแคทนิสได้ดีโดยไม่ต้องบอกออกมาเป็นคำพูดแบบในหนังสือ ช่วงที่แคทนิสรู้สึกมึนงงสับสน เทคนิคการถ่ายภาพที่สั่นไหวก็ทำให้เรารู้สึกมึนงงได้พอกัน ซึ่งผมคิดว่าเป็นการใช้เทคนิคนี้ได้เหมาะสมกับสิ่งที่หนังต้องการจะบอกมากๆ ครับ

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่งานที่โดดเด่นเป็นพิเศษอย่าง Pleasantville งานเก่าของรอสก่อนหน้านี้ อาจเป็นด้วยเพราะต้องคงเนื้อเรื่องหลายอย่างของต้นฉบับเอาไว้ ทำให้รอสไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ นอกจากนี้การที่ต้องทำให้หนังออกมาเป็นเรต PG 13 ก็ทำให้ขาดซึ่งด้านมืดที่จะทำให้เข้มข้นจนเป็นที่จดจำได้อย่าง Battle Royale โดยเฉพาะในครึ่งหลังของเรื่องที่ตัวละครได้เข้าไปสู่ในเกมแล้ว นี่เป็นเกมที่ตัวละครต้องฆ่ากันจนเหลือรอดเพียงคนเดียวเป็นผู้ชนะ แต่ยังไม่ทำให้เรารู้สึกกดดันหรือความหวาดกลัวของตัวเอกได้มากพอ เมื่อบางตัวละครที่ใกล้ชิดกับตัวเอกต้องพบจุดจบ หนังก็เล่าเรื่องโดยให้รายละเอียดของความสัมพันธ์น้อยเกินไป หรือเร่งเกินไป ทำให้ความสะเทือนใจในฉากเหล่านั้นไม่ถึงจุดที่เราจะสงสารในชะตากรรมได้

ปัจจัยที่มาช่วยกอบกู้ให้ลืมจุดบกพร่องบางอย่างของหนังไปได้ก็คือการแสดงอันยอดเยี่ยมของเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ นักแสดงหญิงผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์จาก Winter’s Bone ซึ่งมารับบทเป็นแคทนิสได้อย่างมีมิติ และแสดงความลึกด้านอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม เธอส่งบทบาทการแสดงอันน่าติดตามและพาเรื่องราวให้น่าสนใจไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบแบบที่หานักแสดงในวัยเดียวกันทำได้อย่างนี้น้อยมาก ฉากสำคัญที่เธอได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์และผมก็ชื่นชอบเป็นพิเศษก็คือฉากที่เธอให้สัมภาษณ์แก่ซีซาร์ ฟลิคเกอร์แมน (สแตนลี ทุชชี) พิธีกรรายการทีวี ทั้งก่อนและหลังเกมการแข่งขัน ตอนก่อนแข่งนั้น เธอแสดงออกถึงคนที่ยังใหม่ต่อชื่อเสียง ยังสับสนต่อสิ่งรอบข้าง การแสดงออกเหมือนคนขาดความมั่นใจ แต่ต้องพยายามปั้นหน้าให้ดูฉลาด และเธอก็แสดงออกมาได้ให้เรารู้สึกถึงความสับสนผ่านสีหน้าและแววตาในฉากนั้นได้อย่างน่าทึ่ง ส่วนฉากการสัมภาษณ์หลังเกมที่เธอเริ่มเก๋ากับเวทีแล้ว เธอรู้แล้วว่าผู้ชมทางทีวีต้องการอะไร เธอก็เสแสร้งแกล้งทำได้อย่างมั่นใจ เพียงแต่ยังคงแววตาของความรู้สึกผิดลึกๆ เอาไว้ เป็นฉากที่เล่นยากมากเพราะต้องแสดงออกถึงหลากหลายความรู้สึกไปพร้อมๆ กัน แต่ลอว์เรนซ์ก็ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

มีตอนหนึ่งในหนัง ที่พีตาคุยกับแคทนิสแล้วทำให้ผมนึกถึงรายการเรียลลิตี้ทีวีในบ้านเราอย่าง AF และ The Star มากๆ ครับ พีตาบอกว่า “ฉันเอาแต่ภาวนาว่าฉันจะหาทางแสดงให้พวกเขาเห็นว่าไม่ได้เป็นเจ้าของตัวฉันได้ไหม ถ้าฉันจะต้องตาย ฉันก็ยังอยากเป็นตัวฉันอยู่” ในเกมพวกนี้ บางครั้งผู้เล่นต้องยอมลดศักดิ์ศรีตัวเอง เสแสร้งเป็นคนอื่นที่ผู้ชมอยากเห็นหรืออยากดู เพื่อให้พวกเขาได้อยู่ในเกมต่อไป บางครั้งความสามารถอย่างเดียวไม่อาจทำให้คุณได้เป็นแชมป์ได้ คุณต้องทำตัวให้มีกระแสเพื่ออยู่ในเกมไปได้นานๆ หนทางหนึ่งก็คือการเสแสร้งเป็นคู่รักกัน แคทนิสเป็นตัวละครที่มีความเก่งกาจเรื่องการล่าสัตว์และการเอาตัวรอดในป่า แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าเธอจะเป็นผู้ชนะ เธอไม่ได้มีนิสัยที่จะเป็นหวานใจของผู้ชมได้ แต่เพื่อให้รอด เธอก็ยอมเล่นละครเอาใจคนดู และเธอออกมาสู่โลกนอกจอทีวี ความเป็นจริงก็ทำให้เธอต้องเลือกว่าเธอควรจะต้องเป็นใคร

jediyuth.wordpress.com

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X