H1N1...ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
2012-10-20 14:39:00
Advertisement
คลิก!!!

ไข้หวัดใหญ่ 2009



H1N1...ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด (Womenplus)

          ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ Swine Influenza เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่ติดต่อในหมู เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ซึ่งปกติมีการแพร่ระบาดอยู่ในฝูงหมู โดยไข้หวัดหมูมีเชื้อหลายประเภท ทั้ง H1N1 H1N2 และ H3N2 (สายพันธุ์ H3N2 มักจะเกิดจากการแพร่ระบาดจากคนสู่หมู) สำหรับโรคไข้หวัดหมูที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกานั้น เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์ เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ซึ่งเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของคน ซึ่งไม่เคยพบมาก่อน เนื่องจากเป็นการผสมกันของสารพันธุกรรมไข้หวัดใหญ่ ในมนุษย์ ไข้หวัดนกที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ และไข้หวัดหมูที่พบในทวีปเอเชีย และยุโรป 

          นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดใหม่นี้ว่า แม้จะมีเชื้อตั้งต้นมาจากหมู ด้วยที่มาของการเกิดสายพันธุ์ใหม่ใน หมู และพบเป็นครั้งแรกในประเทศเม็กซิโก ก่อนได้รับการเปลี่ยนชื่อมาเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์ เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) แต่ระยะแพร่ระบาดคือ ติดต่อจากคนสู่คน ดังนั้นการบริโภคผลิตภัณฑ์จากหมูไม่มีอันตรายแต่อย่างใด

          ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับ "ไข้หวัดนก" ที่เคยแพร่ระบาดในอดีต ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อจากสัตว์ปีกสู่คนได้นั้น จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผู้ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้ มีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 5-7 ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าอัตราของผู้เสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก

          ปกติแล้วไข้หวัดหมูจะติดต่อกันในกลุ่มหมูด้วยกันทางการหายใจ และสามารถติดต่อสู่คนได้โดยตรงจากหมูที่ป่วย หรือมีเชื้อไข้หวัดหมูอยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคนี้ ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู คนฆ่าหมูหรือชำแหละเนื้อหมู คนขายเนื้อหมู รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับหมู และผู้บริโภคเนื้อหมูที่ปรุงไม่สุก การแพร่กระจายเชื้อไข้หวัดหมูจากคนสู่คนนั้น มีลักษณะเดียวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ในคน ดังนั้น นอกจากจะต้องระวังการติดเชื้อจากหมูแล้ว ยังต้องระวังการแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนอีกด้วย

          เชื้อมีอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยแพร่ไปยังผู้อื่น โดยการไอหรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด หรือติดจากมือและสิ่งของที่มีเชื้อปนอยู่ และเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและตา เช่น การแคะจมูกการขยี้ตา ไม่ติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมูสุก ตั้งแต่เริ่มแสดงอาการจนถึง 7 วันหลังแสดงอาการ ผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการคล้ายคลึงไข้หวัดใหญ่คือ ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ไอ คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามร่างกายรุนแรง ท้องร่วง และปวดศีรษะรุนแรง อาการป่วยจะพัฒนารวดเร็ว และจะมีอาการหายใจลำบากอย่างรุนแรงภายใน 5 วัน

          ทั้งนี้อาจจะพบว่าผู้ที่รับเชื้อจะแสดงอาการไม่รุนแรง ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพแข็งแรงและอาการไม่รุนแรง สามารถรักษาหายได้ด้วยภูมิต้านทานของร่างกาย ทั้งนี้หากเป็นผู้สูงอายุหรือเด็กจะมีความเสี่ยงมากกว่า ส่วนในกรณีที่มีอาการรุนแรง เกิดจากมีการอักเสบที่ปอด จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

          ผลวิจัยพบว่า ยาในกลุ่มป้องกันเชื้อไวรัส Amantadine และ Rimantadine ยังไม่สามารถใช้ต้านเชื้อได้ เพราะไวรัสชนิดนี้ดื้อยาต้านไวรัส แต่ข่าวดีก็คือ ในเอกสารเรื่องการแพร่ระบาดของไข้หวัดชนิดนี้ กงสุลใหญ่ ในนครลอสแองเจลิสของสหรัฐ แสดงข้อมูลที่ระบุว่า สามารถใช้ยาชนิดเดียวกับยาไข้หวัดใหญ่ทั่วไปในการรักษาไข้หวัดชนิด A (H1N1) ได้คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) หรือ ทามิฟลู (Tamiflu) และยา Zanamivir ซึ่งเป็นยาชนิดพ่น นอกเหนือจากการรักษาหลังอาการ   โดยเฉพาะหากผู้ป่วยได้รับยาโอเซลทามิเวียร์ภายใน 48 ชั่วโมง ก็สามารถลดการติดเชื้อและอาการไม่รุนแรง

          โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เป็นยาต้านไวรัสในรูปแคปซูล 75 มก. และผงยาสำหรับละลาย 12 มก./มล. ที่ มีฤทธิ์เป็น Neuraminidase Inhibitor ใช้รักษาและป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด A และ B ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการติดต่อระหว่างคน เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกดูดซึมโดยตับเข้าต่อต้านทำลายเชื้อไวรัส

          คำแนะนำการใช้เพื่อรักษาและป้องกันไข้หวัดใหญ่ควรเป็นไปตามอาการและภายใต้การสั่งของแพทย์นับว่าปลอดภัยที่สุด ปริมาณ ที่ใช้โดยทั่วไป ทามิฟลู® ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไปคือ 75 มก. วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 5 วัน ขนาดการใช้สำหรับเด็กอายุต่างๆ คำนวณตามน้ำหนัก  และ ทามิฟลู® ใช้ป้องกันไข้หวัดใหญ่ มาตรฐานปริมาณการใช้สำหรับรักษาไข้หวัดใหญ่ในเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป 75 มก. วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์   

 

 

 

ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X