เรียนรู้การเป็นสุดยอดพนักงานบริษัทจากละครญี่ปุ่น
2014-10-19 12:29:05
Advertisement
คลิก!!!

ทุกวันนี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังใช้ชีวิตในฐานะของมนุษย์เงินเดือน หลายคนคงอาจจะเหนื่อยล้า หรือท้อแท้กับงานที่กำลังเจอ ทั้งเนื้องาน ทั้งคนรอบข้าง วันนี้เลยอยากจะมาสร้างกำลังใจในการทำงานที่ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือไม่ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ค่ะ ซีรีส์ญี่ปุ่นที่จะมาเล่าในวันนี้ก็คือ เรื่อง “Haken no Hinkaku”

“Haken no Hinkaku” เป็นเรื่องราวของฮาเคนหรือพนักงานสัญญาจ้าง “โอมาเอะ ฮารุโกะ” ผู้หญิงที่มากความสามารถ แต่ไม่มีมนุษย์สัมพันธ์กับผู้ใด เป็นคนที่เลิกงานตรงเวลาทุกครั้ง ไม่มีคำว่า “ทำไม่ได้”และ “ล่วงเวลา” ในพจนานุกรมของเธอ เมื่อครบเวลา 3 เดือน เธอก็จะออกจากบริษัทนั้นๆ และหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย อยู่มาวันหนึ่งเธอถูกว่าจ้างให้มาทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง ต้องมาทำงานอยู่ในแผนกการตลาดที่มีหัวหน้ามือใหม่ ด้อยประสบการณ์ เพื่อนร่วมทำงานในบริษัทก็ทำงานกันอย่างเหยาะแหยะ แถมยังคอยพูดจาดูถูกเสียดสีพวกฮาเคนอยู่เป็นประจำ

อีกทั้งยังต้องทำงานร่วมกับ “ฮาเคน” น้องใหม่ “โมริ มิยูกิ” ที่ไม่ว่าจะไปสมัครงานที่ไหนก็ตกสัมภาษณ์ทุกครั้ง และด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง ทำให้เธอได้มาทำงานที่นี่  และได้เรียนรู้การทำงานจากซุปเปอร์ฮาเคน

ก่อนอื่นขออธิบายคำว่า “ฮาเคน” ศัพท์เฉพาะที่ใช้ในละครเรื่องนี้กันก่อนค่ะ “ฮาเคน” นั้นหมายถึงพนักงานชั่วคราว หรือพนักงานสัญญาจ้างในประเทศญี่ปุ่นค่ะ ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังตกต่ำ มีพนักงานประจำถูกไล่ออกกันเยอะ และหันมาจ้างพวก “ฮาเคน” กันมาก เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในบริษัท  พวกฮาเคนจะเซ็นสัญญาการทำงานกับบริษัทแต่ละที่เป็นเวลา 3 เดือน พอครบ 3 เดือนก็ต้องลาออก หรือถ้าบริษัทพึงพอใจในการทำงาน ก็ต้องลุ้นต่อไปว่าเขาจะจ้างต่อหรือไม่ เป็นอาชีพที่ค่อนข้างอิสระ ไม่ผูกมัดกับบริษัท แต่ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองใดใด และมักจะถูกพนักงานประจำดูถูกเหยียดหยาม เพราะคนจะมองว่าพวกฮาเคนทำงานไม่ดี พอเรียนรู้งานได้ก็ต้องลาออก ไม่ใช่คนจริงของบริษัท แต่ต้องมาทำงานระดับเดียวกัน

ละครเรื่องนี้จึงนำเสนอชีวิตของ “ฮาเคน” ให้คนญี่ปุ่นหันมาเห็นความสำคัญของพวกเขา รวมถึงอีกหนึ่งประเด็นหลักที่เห็นได้จากละครเรื่องนี้คือ “หลักการทำงาน” ไม่ว่าคุณจะเป็น “ฮาเคน” หรือ “ซาลารี่แมน” ก็ควรที่จะมีคุณสมบัติในการทำงานที่ดี ซึ่งเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดคุณสมบัติที่ดีของพนักงานในบริษัทออกมาผ่านตัว “โอมาเอะ ฮารุโกะ” ค่ะ ว่าแต่คุณสมบัติที่ดีนั้น เรื่องนี้ได้บอกอะไรไว้บ้าง ตามมาอ่านกันเลยค่ะ   


1. มีความสามารถ อยู่ได้ทุกที่   
สิ่งสำคัญของการทำงานที่แท้จริงนั้น อาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าการเป็น “พนักงานประจำ” หรือ “ฮาเคน” เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร แต่ถ้าไร้ความสามารถ ก็จะถูกคัดออกจากบริษัทได้เช่นกัน ทั้ง “พนักงานประจำ” และ “ฮาเคน” ต่างก็เป็นพนักงานที่บริษัทจ้างให้มาทำงานให้ ดังนั้นคุณสมบัติที่คนทำงานควรมีก็คือ “ความสามารถ” อย่างเช่น “ฮารุโกะ” เธอมีความสามารถทำได้หลายอย่าง มีใบรับรองต่างๆ เยอะแยะมากมาย ไม่เว้นแม้แต่การทำคลอด หรือขับรถแทร็คเตอร์! เมื่อก่อนเธอเองก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกบริษัทไล่ออกในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่พอมาถึงวันนี้ ไม่ว่าใครต่างก็อยากจะรับเธอเข้าทำงาน ความสามารถเป็นสิ่งหนึ่งที่คุ้มครองเราให้ปลอดภัยในสังคมการทำงานจริงๆ ค่ะ

2. ต้องไม่ทิ้งเพื่อน
การทำงานที่ดี เราต้องรับผิดชอบงานตัวเองให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และการช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน ละครเรื่องนี้ได้สะท้อนเรื่องของมิตรภาพในการทำงานไว้เช่นกันค่ะ คำว่า “เพื่อน” ที่แท้จริงคืออะไร คนที่อยู่กับเราทุกที่ทุกเวลาเช่นนั้นหรือเปล่า เรื่องนี้ได้นำเสนอคำว่ามิตรภาพผ่านเนื้อเรื่องของตอนหนึ่ง ที่เล่าถึง “มิยูกิ” ฮาเคนน้องใหม่ที่อยากมีเพื่อนไปกินข้าวกลางวันด้วย! ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาของพนักงานบริษัทค่ะ 

ในสมัยเรียนเราก็จะมีกลุ่มที่ไปนั่งกินข้าวกลางวันด้วยใช่ไหมคะ แต่พอเข้าสู่โลกทำงาน วิถีชีวิตเราก็เปลี่ยนไป ยิ่งพนักงานที่เข้าไปใหม่ การหาเพื่อนไปกินข้าวไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยความที่ “มิยูกิ” ไม่อยากเหงาเปล่าเปลี่ยว เลยไปรวมกับแก๊งสาวฮาเคนผู้ฟู่ฟ่า ชอบแต่งตัว กินอาหารแพงๆ ด้วยรายได้อันน้อยนิดของฮาเคนไร้ประสบการณ์อย่างมิยูกิ ทำให้การอยู่กลุ่มนี้เป็นไปอย่างลำบาก เธอจึงไปขอคำปรึกษากับรุ่นพี่ “ฮารุโกะ” และขอไปกินข้าวด้วย แต่ฮารุโกะก็ใจร้ายค่ะ ไม่ยอมไปกินข้าวกับเธอ มิยูกิเลยได้แต่ต่อว่าว่า ฮารุโกะเป็นคนที่ไม่มีเพื่อน แต่พอถึงยามคับขัน ฮารุโกะที่ดูเหมือนจะไร้ญาติ ขาดมิตร ก็กลับมีคนเข้ามาช่วยเหลือ 

จากเรื่องราวตรงนี้ก็เป็นบทเรียนที่ฮารุโกะได้สอนมิยูกิค่ะว่า “เพื่อน” ไม่ใช่แค่คนที่ไปนั่งกินข้าวกับเราทุกมื้อ เขาอาจไม่จำเป็นต้องตัวติดกันกับเราตลอดเวลา อาจมีบ้างที่เราต้องถูกปล่อยให้อยู่คนเดียวอย่างลำพัง แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อเพื่อนเดือดร้อน เพื่อนต้องไม่ทิ้งเพื่อนค่ะ
 



ในสังคมการทำงานก็เช่นกัน เพื่อนร่วมงานก็เป็นเพื่อนคนหนึ่งที่เราควรให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพื่อให้งานที่รับผิดชอบร่วมกันออกมาได้ดี

3. เลิกงานตรงเวลาเป๊ะ!
มาถึงคุณสมบัติการทำงานอีกข้อค่ะ ถือว่าเป็นข้อสำคัญของคนทำงานเลยทีเดียว โดยปกติแล้วมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นจะเข้างานตรงเวลาค่ะ แต่เวลาเลิกงานจะไม่ตรงเวลา ต้องเลิกงานเลท กลับดึกค่ะ เหตุผลก็มีหลายอย่าง ก็มีทั้งงานเยอะ เลยต้องอยู่ต่อ แต่งานไม่เยอะ ก็ต้องอยู่ต่อก็มีค่ะ 
เอ๊ะ! งานไม่เยอะ แล้วอยู่ต่อทำไม? 

ก็อยู่ไปเพื่อแสดงตัวตนให้หัวหน้าเห็นว่าเราตั้งใจทำงานค่ะ เลยทำให้กลายเป็นค่านิยมไปว่า การทำงานล่วงเวลาคือคนที่ขยันต่อหน้าที่การงาน อย่าว่าแต่สังคมญี่ปุ่นเลยค่ะ สังคมไทยเราเองก็เป็นเช่นกัน พอเข็มนาฬิกาเดินมาถึงจุดเวลาเลิกงาน ถ้าลุกปุ๊ปนี่ คนรอบข้างก็จะมองอย่าเคืองๆ เลยกลายเป็นว่า ทั้งๆ ที่เลิกงานตรงเวลาก็อาจจะเป็นความผิดอย่างหนึ่งได้
 



แต่ละครเรื่องนี้กลับสร้างค่านิยมใหม่ และเสนอแนวคิดใหม่ให้คนทำงานได้ลองปรับมุมมองค่ะ โดยถ่ายทอดผ่านพฤติกรรมของ “ฮารุโกะ” ฮาเคนที่ไม่เคยทำงานล่วงเวลา พอเข็มนาฬิกาถึงเวลาเลิกงานปุ๊ป นางก็จะหยุดทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำอยู่ตรงหน้า และลุกกลับบ้านทันที ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่คนในบริษัทไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่ถ้าลองมองย้อนกลับไป ตลอดทั้งวัน “ฮารุโกะ” เป็นคนที่ทำงานหนักกว่าคนอื่น ไม่มีการอู้งานให้เห็น แต่นางกลับปั่นงานอยู่ตลอดเวลา ดูเป็นคนที่ได้งานได้การมากที่สุด และทุกอย่างก็จะเสร็จสิ้นทันเวลางานทุกวัน พอถึงเสาร์-อาทิตย์นางก็จะพักผ่อน ไม่ว่าใครก็ตามห้ามโทรมาคุยเรื่องงานเด็ดขาด!

เรื่องนี้ได้เสนอแนวคิดในการทำงานให้เราเห็นค่ะ แท้จริงแล้วการทำงานล่วงเวลา หรืออยู่ทำงานดึกๆ ไม่ใช่สิ่งที่บอกได้ว่าคนคนนั้นเป็นคนตั้งใจทำงาน หรือขยันทำงาน แต่เป็นสิ่งที่บอกได้ว่า คนคนนั้นเป็นคนที่บริหารจัดการเวลาไม่เป็น!





เจอประโยคนี้ไป หัวหน้า “โชจิ” คู่อริของ “ฮารุโกะ” ถึงกับเงิบไปเลยค่ะ แต่ก็อย่างว่านะคะ การทำงานล่วงเวลาบางทีก็ขึ้นอยู่กับเนื้องานค่ะ ถ้ามันหนักมาก รายละเอียดเยอะ บางทีก็ต้องใช้เวลานอกงานมาทำ หรือบางทีก็เกิดจากเหตุการณ์จำเป็นบางอย่างเช่น ติดประชุม พอจะออกจากห้องประชุมก็ใกล้เวลาเลิกงานแล้ว ถ้าเจออย่างนี้ก็เป็นอุปสรรคการทำงานได้เช่นกันค่ะ แต่ถ้าไม่มีปัญหาอะไร การทำงานตรงตามเวลาก็เป็นเรื่องที่ดีค่ะ ตั้งใจทำงานในเวลางานให้เต็มที่ ถ้าเราทำงานเสร็จทุกอย่างแล้ว เลิกตรงตามเวลาก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเนอะ ชีวิตเราก็ต้องมีทั้งเวลางาน และเวลาพักผ่อนส่วนตัว

4. จิตใจที่ดีก็เป็นสิ่งสำคัญ
 


แม้ว่าสังคมการทำงานจะเต็มไปด้วยอุปสรรค ต้องเจอกับคนมากมายหลายประเภท เสนอไอเดียไป ก็ไม่มีใครเห็นด้วย เราอาจจะต้องถูกใครทำร้าย จนต้องแอบวิ่งไปร้องไห้ในห้องน้ำของบริษัท แต่ไม่ว่าเราจะเจออะไรมา ถูกใครทำร้ายมาขนาดไหน ก็ขอให้รักษาจิตใจที่ดีเอาไว้ค่ะ แม้ว่า “ความใจดี” ในบางครั้งจะปกป้องคุ้มครองทั้งตัวเรา และเพื่อนร่วมงานไว้ไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเป็นคนไม่ดี หรือต้องคอยเอาแต่ทำร้ายคนอื่น เพื่อชัยชนะ การเป็นคนจิตใจดี อาจจะเป็นช่องโหว่ที่ทำให้คนอื่นเดินเข้ามาทำร้ายได้ง่าย แต่ก็มีอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้มีคนดีดีเดินเข้ามาหาเราได้เช่นกัน เหมือนกับหัวหน้า “ซาโตนากะ เคนจิ” หัวหน้าผู้ใจดี ใสซื่อ มีอุดมการณ์ที่แสนจะอุดมคติ แต่ด้วยความที่เป็นคนมีจิตใจดี ทำให้ลูกน้องทุกคนรักเขา และร่วมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน แม้แต่ “ฮารุโกะ” เองก็ยังออกปากชมถึงความใจดีของเขา 

5. ความมุ่งมั่นและตั้งใจ
 


แม้ว่าเรื่องนี้จะนำเสนอความสามารถในด้านการทำงานอันน่าทึ่งของ “โอมาเอะ ฮารุโกะ” แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เสนอออกมาเช่นกันว่า สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าความเก่ง หรือความสามารถ ก็คือ “ความตั้งใจ” ค่ะ ฮารุโกะเองก็ไม่ใช่คนที่เก่งมาตั้งแต่เกิด เคยผ่านช่วงเวลาอันยากลำบาก ทำอะไรก็ไม่ได้เรื่อง ก่อนที่จะมีคนต้องการให้มาทำงาน เมื่อก่อนก็เป็นพนักงานคนหนึ่งที่ถูกบริษัทเขี่ยทิ้ง เพื่อไม่ให้กลับไปมีชีวิตเช่นนั้นอีก ก็ต้องสะสมประสบการณ์ และฝึกความสามารถ ฮารุโกะดูเหมือนจะทำได้ทุกอย่าง แต่เธอเองก็มีเรื่องที่ทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเช่นกัน แต่โชคดีที่ว่าเธอได้งัดจุดเด่น และจุดแข็งออกมาให้คนอื่นได้มองเห็นมากกว่า แม้แต่ “มิยูกิ” ฮาเคนน้องใหม่ ที่ทำอะไรก็ไม่ค่อยได้เรื่องได้ราว แต่ข้อดีของเธอคือ การเข้ากับคนง่าย มนุษย์สัมพันธ์ดี และมีความตั้งใจ มุ่งมั่นพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น จึงทำให้เธอได้รับโอกาส และอยู่เรียนรู้งานในบริษัท
 


“จากนี้ไปจงเดินไปตามทางของตัวเอง 
การจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้นต้องมีความกล้าหาญ...
รวบรวมความกล้า แล้วเดินไปข้างหน้า
เพราะว่าการทำงาน ก็คือการมีชีวิต”


เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในด้านการทำงานที่ได้จากละครญี่ปุ่นค่ะ ซึ่งแนวละครเกี่ยวกับอาชีพ การทำงานเป็นแนวที่แพร่หลายในละครญี่ปุ่นอย่างมาก ใครที่กำลังท้อแท้ เหนื่อยยากกับสิ่งที่กำลังทำหรือกำลังเจอ เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่จะมาเพิ่งพลัง และก้าวต่อไปสู่ความสำเร็จในแบบของเราค่ะ



งานอาจไม่ใช่ทุกสิ่งในชีวิต 
แต่งานก็เป็นจุดเริ่มต้นของอนาคตที่ดีในอนาคต
แม้ว่ามันจะไม่ใช่ทุกสิ่ง แต่ก็ขาดไปไม่ได้...
ต้องอย่างนี้สิ ละครญี่ปุ่นของแท้!



เรื่องโดย : ChaMaNow www.marumura.com

ที่มา  http://www.marumura.com/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X