สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
บัญญัติ วิเคราะห์ 4 ตัวแปร ทำการเมืองปี 56 วุ่นต่อ ทั้งอำนาจนิยม-แก้รัฐธรรมนูญสุมไฟเผชิญหน้า
เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรค กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2556 ว่า เชื่อว่าการเมืองปี 2556 จะไม่ค่อยดี เพราะวิเคราะห์จาก 4 ตัวแปรที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมาคือ
ตัวแปรที่ 1 คือรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีลักษณะการทำงานที่เป็นอำนาจนิยมมากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าการใช้อำนาจที่เด็ดขาดกระทำกับคู่ต่อสู้ทางการเมือง และคนที่มีความเห็นต่างจากตนเองและมั่นใจว่าจะเป็นวิธีการที่ได้ผล อย่างกรณีการตั้งข้อหากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่สั่งสลายการชุมนุมปี 53 ทั้งที่คนมีประสบการณ์ทางคดีต่างให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ไกลมาก ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าเป็นการทำให้คู่ต่อสู้ทางการเมือง และคนเห็นต่างได้รับความยุ่งยาก รวมถึงอย่างกรณีที่รัฐบาลชุดนี้สลายการ ชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็มีหลายฝ่ายมองว่าข้ามขั้นตอน และทำรุนแรงเกินไป ซึ่งกรณีนี้เห็นได้ชัดว่าหันมาใช้อำนาจมากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวแปรที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงได้
นายบัญญัติ กล่าวว่า ตัวแปรที่ 2 คือปัญหาของประชาชน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2555 ที่ผ่านมาหนักหนาสาหัส ทั้งเรื่องค่าครองชีพ ราคาสินค้า ราคาพลังงาน ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ จนทำให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องหลายครั้ง แต่รัฐบาลก็ใจเย็น หากในปีหน้ารัฐบาลยังนิ่งเฉย ก็เชื่อว่าจะมีการชุมนุมมากขึ้น และหากรัฐบาลมั่นใจกับการสลายการชุมนุมเหมือนม็อบ อพส. ก็จะเป็นปัญหา
ตัวแปรที่ 3 คือ การที่รัฐบาลจะทำเพื่อคนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากรากฐานของเผด็จการ จะต้องแก้ทั้งฉบับ ซึ่งรัฐบาลก็ประกาศเดินหน้าด้วยการทำประชามติ โดยตั้งเป้าว่าหากประชามติไม่ผ่านก็จะกลับมาแก้เป็นรายมาตรา ทั้งที่ความจริงแล้ว สามารถแก้เป็นรายมาตราได้ แต่ก็มีความพยายามแก้ทั้งฉบับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความมุ่งหมายที่แท้จริงคือต้องการแก้บางมาตรา ไม่ใช่เรื่องของรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ เพราะจะมีฝ่ายต่อต้านออกมา เนื่อง จากเห็นว่ามีวาระซ่อนเร้น และหากการทำประชามติผ่านได้ตามที่รัฐบาลต้องการ เชื่อว่าจะทำให้กระบวนการทางกฎหมายถูกบิดเบือน และหากรัฐบาลจำเป็นต้องหาทางสร้างแรงจูงใจให้คนออกมาใช้สิทธิ์ให้เกินกึ่ง หนึ่ง ก็เกรงว่าการให้ความเข้าใจประชาชนจากเวทีสานเสวนาต่าง ๆ นั้น อาจจะให้ข้อมูลที่เบี่ยงเบน และจะนำไปสู่ความขัดแย้ง
นายบัญญัติ กล่าวว่า สำหรับตัวแปรที่ 4 คือปฏิกิริยาคนเสื้อแดง โดยเฉพาะการชุมนุมครั้งสุดท้ายที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ที่มีการประกาศปฏิญญา 3 ข้อนั้น ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้การเมืองปี 2556 ไม่ราบรื่น และอาจมีความขัดแย้งมากขึ้น
"ตัวแปร 4 ตัว ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวเร่งที่จะกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะตัวอำนาจนิยมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลไม่ถอยแน่ ทั้ง 2 ตัวนี้จะเป็นตัวเร่งสำคัญให้เกิดความขัดแย้งสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล หากรัฐบาลไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขต มุ่งหน้าแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยไม่ให้ความสำคัญกับวาระซ่อนเร้นที่เป็นประโยชน์กับพวกพ้องมากเกินไป และพูดคุยกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้"
"หากรัฐบาลเดินหน้าทำ ประชามติแก้รัฐธรรมนูญและเกิดความไม่ชอบพามากล พยายามใช้อำนาจรัฐนำไปสู่ทิศทางที่ต้องการ โอกาสที่จะเกิดเวทีของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มีมาก และจะเกิดความขัดแย้งขึ้นทันที และจะเกิดการเมืองนอกสภาฯ อย่างแน่นอน เพราะ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเป้าหมายเพื่อคนคนเดียว และก่อนหน้านี้ก็มีความเห็นในเรื่องของการจัดการศาล จัดการองค์กรอิสระ ซึ่งแนวโน้มหากปล่อยให้มีการแก้ไขแบบนี้ ประเทศไทยจะกลายเป็นประชาธิปไตยรวมศูนย์ ซึ่งทุกวันนี้ที่บอกว่า อำนาจนิติบัญญัติถ่วงดุลอำนาจบริหารนั้นไม่ใช่ เพราะฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเป็นพวกเดียวกัน และยังมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สภาฯ เลือกประธานศาลฎีกา ก็เท่ากับดึงอำนาจศาลเข้ามาอยู่ภายใต้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ การรวมศูนย์อำนาจก็มากขึ้น" นายบัญญัติ วิเคราะห์
ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม