Now, We Are Breaking Up ผลงานซีรีส์เรื่องใหม่ของซงฮเยคโย (Song Hye Kyo) เล่าเรื่องราวความรักของคนทำงานในวงการแฟชั่น ซึ่งเริ่มออกอากาศไปตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน เรื่องนี้ ซงฮเยคโย รับบทเป็น ฮายองอึน แฟชั่นดีไซน์เนอร์มากความสามารถจากแบรนด์ในประเทศ ที่ได้มาเจอกับ ยุนแจกุก (รับบทโดย จางกียง (Jang Ki Yong)) ช่างภาพชื่อดังจากตระกูลร่ำรวย เขาและเธอเริ่มรู้สึกดีให้แก่กันและกัน

คลิก!!!

ซีรีส์เล่าเรื่องความรักที่เกิดขึ้นบนโลกแห่งความเป็นจริง ประกอบไปด้วยความฝัน, ความล้มเหลว, ความรัก แลการจากลา

แน่นอนว่าด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวงการแฟชั่น เรื่องหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมพูดถึงคือ แฟชั่นของ ซงฮเยคโย ในซีรีส์เรื่องนี้ ที่ในชีวิตจริงเธอเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับแบรนด์หรูทั้ง Fendi และ Chaumet นอกจากนั้นซีรีส์ยังเล่าเรื่องเบื้องหลังที่ลึกลงไปในวงการแฟชั่นที่น่าสนใจ

ยกตัวอย่างฉากหนึ่งในตอนที่ 4 ที่ฮายองอึนต้องเจอวิกฤตหนักเมื่อเสื้อผ้าที่เธอออกแบบถูกขโมยแบบโดยบริษัทผู้ผลิตและวางขายตัดหน้าบริษัทเธอ และชุดนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่การตอบแทนความเหนื่อยล้าที่ออกแบบมัน ฉากที่ยองอึนมองผู้คนที่สวมใส่เสื้อผ้าที่ทีมของเธอออกแบบ ทุ่มเทแรงกายแรงใจลงไป แต่กลับต้องมาเจอการหักหลัง และชุดนั้นก็ถูกขายไปโดยไม่ได้นึกถึงคุณค่าของผู้สร้างสรรค์มันเลยในตลาดเสื้อผ้าทั่วไป แสดงถึงการไม่ได้รับความเคารพต่อผู้ที่ออกแบบเสื้อผ้าชุดนั้นขึ้นมา

ถึงแม้จะเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น แต่เธอก็ยืนยันว่าจะปล่อยชุดที่เธอออกแบบมาวางขาย ถึงแม้จะเป็นไปตามที่คาดว่าการตอบรับจะไม่ดีเท่าที่ควร เพราะมีชุดแบบเดียวกันวางขายไปก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม ความเสียหายทางการเงินนั้นเกิดขึ้นแน่นอน แต่อีกอย่างที่เสียหายคือความรู้สึกของทีมงานและบรรยากาศในการทำงานที่เคร่งเครียด

แล้วเรื่องนี้คล้ายกับโลกแฟชั่นจริงอย่างไร?

Business of Fashion เคยพูดถึงการลอกเลียนแบบผลงานว่าเป็นธุรกิจที่อยู่มาอย่างยาวนาน เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1903 ตอนที่แบรนด์กูตูเรียร์ร่วมสมัย Charles Frederick Worth ฟ้องร้องหลายบริษัท และเริ่มต้นลงลายเซ็นของตัวเองลงไปเพื่อให้รู้ว่านั่นคือของแท้ ขนาดตำนานอย่าง Coco Chanel ยังเคยบอกว่าการถูกลอกงานเหมือนเป็น ค่าไถ่ของความสำเร็จ โดยบอกว่าคนที่สำเร็จในโลกแฟชั่นคือคนที่จะถูกมองว่าเป็นเหยื่อของการลอกเลียนแบบ

เรื่องนี้ไม่ได้มีผลกระทบแค่แบรนด์ในประเทศขนาดใหญ่เหมือนที่ฮายองอึนทำงานให้ในซีรีส์ แต่ทุกระดับไม่ว่าจะเป็นดีไซน์เนอร์อายุน้อย, ดีไซน์เนอร์อิสระที่ยังไม่มีชื่อเสียงและเงินทุนมากนัก ก็ต้องระวังเรื่องนี้เพื่อไม่ให้ถูกทำลายในวงการที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด

ยุคของฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion)

แฟชั่นที่มาไวไปไวเติบโตมากขึ้นมหาศาลในยุคนี้ แบรนด์ใหญ่ระดับหลายพันล้านดอลลาร์ ตัวอย่างเช่น Zara และ Forever 21 ถูกฟ้องร้องโดยดีไซน์เนอร์และผู้ค้าปลีกนับไม่ถ้วนเรื่องการขโมยผลงาน แบรนด์ Shein ของ จีน ที่ได้กำไรจากธุรกิจแฟชั่นไปเกือบหมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020 ตอนนี้กำลังถูกสังคมโจมตีอย่างหนักในกรณีของการคัดลอกผลงานของดีไซน์เนอร์อิสระ

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการแฟชั่น เพียงแต่ทุกวันนี้การขโมยผลงานเกิดขึ้นและเผยแพร่ผลงานนั้นออกไปได้อย่างรวดเร็วกว่ายุคไหน โดยมองข้ามมาตรฐานการจ้างงาน และกฎหมายลิขสิทธิ์มากกว่ายุคใดใดเช่นกัน

แบรนด์จะอยู่รอดในสถานการณ์นี้ได้อย่างไร?

วัฒนธรรมการออกมาเรียกร้องสิทธิ ทำให้ทุกวันนี้เราเห็นการวิจารณ์แฟชั่นได้ง่ายขึ้น แล้วเรื่องนี้จะทำให้การฟ้องร้องเกี่ยวกับการลอกเลียนแบบลิขสิทธิ์ได้รับความยุติธรรมในการตัดสินหรือไม่ คำตอบคือต้องพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ และปัจจัยอีกอย่างที่สำคัญคือพฤติกรรมของผู้บริโภค

สำหรับกฎหมายในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น อเมริกา ให้การปกป้องแฟชั่นดีไซน์น้อยมาก สิ่งของทั้งเสื้อผ้า, รองเท้า และเครื่องประดับ ถูกจัดให้อยู่ในหมวด ‘รายการใช้งาน’ ไม่เหมือนกับ ภาพยนตร์ หรืองานเขียน เพราะฉะนั้นสินค้าในหมวดแฟชั่นจะสามารถทำซ้ำได้ หากไม่ใส่โลโก้ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ, ชื่อแบรนด์ หรือลายพิมพ์ต้นฉบับ

ในหลายประเทศในฝั่งยุโรป มีกฎหมายปกป้องผลงานการออกแบบเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมแฟชั่น แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ทำให้เป็นความท้าทายของแบรนด์ที่จะปกป้องลิขสิทธิ์สินค้าของตนในตลาดต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเงินในการดำเนินคดีเกี่ยวกับกฎหมาย เรื่องนี้มักเป็นปัญหาของดีไซน์เนอร์อิสระที่ไม่มีเงินทุนมากพอในการดำเนินการทางกฎหมาย

สนับสนุนการบริโภคอย่างมีสติ

ปัจจุบัน ดีไซเนอร์พึ่งพาความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลอกเลียนแบบผลงาน ยกตัวอย่าง Mary Katrantzou ดีไซน์เนอร์ชาวอังกฤษทำเสื้อผ้าด้วยผ้าแจ็คการ์ดและใช้การปักเพื่อทำให้ตลาดเสื้อผ้าขนาดใหญ่ลอกเลียนแบบผลงานได้ยาก

นอกจากนี้ยังมีโซเชียลมีเดียที่ใช้สำหรับแสดงผลงานและเรียกร้องให้กลุ่มผู้บริโภคได้รับรู้โดยตรงเมื่อพวกเขาถูกขโมยลิขสิทธิ์

Feanne ดีไซน์เนอร์ที่อัพเดทผลงานของเธอผ่านโซเชียลมีเดีย สามารถเจรตาประนีประนอมกับยักษ์ใหญ่อย่าง Rixo ได้สำเร็จหลังจากเธอออกมาประจารณ์ว่าบริษัทแฟชั่นยักษ์ใหญ่ขโมยผลงานเธอ เธอใช้พื้นที่บนอินสตาแกรมประกาศจุดยืน และบอกกับแบรนด์ว่า “เลือกที่จะทำในสิ่งที่ควรทำและสร้างสรรค์” จากนั้นได้ส่งข้อความถึงศิลปินคนอื่นที่เป็นเหยื่อจากการถูกลอกเลียนแบบผลงานว่า “ความรู้สึกของคุณยังคงอยู่ และเป็นสิทธิของคุณที่จะเลือกผลลัพธ์ของความคิดของคุณ และเลือกการรับมือการสถานกาณ์ที่เกิดขึ้น”

แน่นอนว่าเมื่อผู้บริโภคอย่างเราที่ทำให้วงการแฟชั่นคงอยู่, ทำให้ทั้งศิลปินเจ้าของผลงานและคนที่ลอกเลียนแบบคงอยู่ เมื่อเห็นข้อความนี้เราควรมีความรับผิดชอบเช่นกัน

ทุกวันนี้ผู้บริโภคมี Brand loyalty ต่อตัวสินค้าในช่วงขาลง เพราะเลือกที่จะซื้อสินค้าที่กำลังอยู่ในเทรนด์และราคาถูกกว่ามากกว่า ยิ่งสินค้าในแวดวงแฟชั่นที่มาไวไปไวด้วยแล้วนั้น การสร้างความภักดีต่อสินค้าถือเป็นงานท้าทายอย่างมากของหลายแบรนด์ อย่างไรก็ตามสินค้าราคาสบายกระเป๋าเหล่านี้ อาจทำให้คุณเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายความตั้งใจและทุ่มเทของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกขโมยผลงานโดยไม่รู้ตัว บางครั้งเราควรจะหยุดถามตัวเองว่า แท้จริงแล้ว สิ่งที่เราซื้อนั้นมีราคาเท่าไหร่กันแน่?