บงจุนโฮ ผู้กำกับ ‘Parasite’ พูดคุยเกี่ยวกับที่มาที่ไป รวมถึงการออกแบบบ้านที่ใช้เป็นฉากในภาพยนตร์
2019-11-11 09:47:24
Advertisement
คลิก!!!

 

คำเตือน: เนื้อหามีสปอยล์

นอกจากจะได้รับคำชื่นชมจากพล็อตเรื่องที่ถ่ายทอดเรื่องราวการแบ่งชั้นฐานะทางสังคมได้อย่างเข้าถึงใจผู้ชม อีกอย่างหนึ่งที่ผู้กำกับ บงจุนโฮ เจ้าของผลงานภาพยนตร์เรื่อง Parasite ได้รับการยอมรับคือการสร้างสรรค์ฉากบ้านที่ใช้ในเรื่อง เป็นองค์ประกอบที่รวมกันได้อย่างเหมาะเจาะ และทำให้เขาสามารถคว้ารางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) มาการันตีคุณภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อีกหนึ่งรางวัล 

เนื้อเรื่องของ Parasite เล่าถึงครอบครัวยากจนครอบครัวหนึ่งที่วางแผนใช้กลโกง จนสามารถนำสมาชิกทั้งหมดของครอบครัวเข้ามาอยู่ในบ้านของตระกูลพัค ผู้ร่ำรวยได้ ฉากในหนังประมาณ 60% ถ่ายทำในบ้านของตระกูลพัค และผู้ชมภาพยนตร์หลายคนคงยังไม่ทราบว่า บ้านหลังนี้เป็นฉากที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ภายในเรื่องได้เปิดเผยว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านของอาจารย์นัมกุง ฮยอนจา สถาปนิกชื่อดัง ซึ่งเป็นตัวละครที่ถูกสมมติขึ้นในเรื่อง แต่ในโลกแห่งความจริง อีฮาจุน ทีมงานดีไซน์ของหนังเรื่อง Parasite คือผู้ออกแบบบ้านหลังนี้

“โจทย์ที่บ้านของตระกูลพัคในเรื่องถูกดีไซน์โดยสถาปนิก เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากในการหาเหตุผลมารองรับว่าทำไมเราถึงออกแบบบ้านให้เป็นแบบนี้” อีฮาจุนอธิบายผ่านจดหมายที่ได้ร่วมพูดคุยกับ IndieWire “เราไม่ใช่สถาปนิก เราเลยรู้สึกว่ามันต้องมีความแตกต่างแน่ๆในมุมมองของการออกแบบระหว่างสถาปนิกและดีไซน์เนอร์ เราเลยใช้วิธีการกำหนดจุดวางกล้องว่าอยากได้มุมตรงไหน และให้เป็นหน้าที่ของสถาปนิกในการออกแบบบ้านเพื่อตอบโจทย์การอยู่อาศัยของผู้พัก เรื่องนี้ทำให้การออกแบบของเราแตกต่างออกไปจากเรื่องอื่น”

ผู้กำกับอย่าง บงจุนโฮ ก็เคยพูดถึงเรื่องฉากบ้านหลังนี้ว่า เขาได้มอบหมายงานให้กับทีมออกแบบของเขาว่า ต้องเป็นบ้านที่ดูสวยงาม ที่มาพร้อมกับสิ่งที่ตอบโจทย์เนื้อเรื่องของภาพยนตร์ ทั้งมุมกล้อง, องค์ประกอบ, ตัวละคร พร้อมทั้งดูหรูหรา บงจุนโฮให้คำนิยามบ้านหลังนี้ผ่านบทสัมภาษณ์กับ IndieWire ว่าเป็นบ้านที่เหมือนกับเป็น จักรวาลอีกจักรวาลหนึ่งเฉพาะสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ บงจุนโฮบอกว่าเขาพอใจมากตอนที่ได้ยินผู้กำกับชื่อดังอย่าง Alejandro Gonzalez Iñarritu, Alejandro Gonzalez Iñarritu และ Kelly Reichardt บอกว่าคิดว่าฉากในภาพยนตร์ถูกถ่ายทำในบ้านจริงๆ ทั้งที่ความจริงแล้วฉากบ้านดังกล่าวถูกสร้างขึ้น

บ้านของตระกูลพัคเป็นฉากในภาพยนตร์อีกฉากหนึ่งที่น่าประทับใจ และถือเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซอีกชิ้นหนึ่งของผู้กำกับบงจุนโฮ IndieWire ได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องขั้นตอนอย่างละเอียดในการเนรมิตฉากบ้านหลังนี้ขึ้นกับทั้ง บงจุนโฮ และ อีฮาจุน ลองไปทำความเข้าใจบ้านของตระกูลพัคในภาพยนตร์ Parasite กันดีกว่าว่าที่มาที่ไป กว่าจะออกมาเป็นผลงานให้เราได้เห็นกันทางหน้าจอภาพยนตร์ บ้านหลังนี้ผ่านกระบวนการอะไรกันมาบ้าง?

ผู้คนหลายชีวิตที่อยู่ร่วมในบ้านหลังเดียวกัน (โดยที่เจ้าของบ้านไม่รู้)

บงจุนโฮ: ผมคิดว่าไอเดียที่เป็นเอกลักษณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ การแทรกซึมโดยที่ไม่ให้รู้ตัว โดยไอเดียบางอย่างผมได้แนวคิดมาจากตอนที่ผมทำงานเป็นติวเตอร์ ย้อนกลับไปตอนนั้น ผมรู้สึกจริงๆนะครับว่าตัวเองได้แทรกซึมเข้าไปในครอบครัวหนึ่ง และนี่เหมือนเป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำหนังเรื่องนี้ ผมอยากจะเล่าเรื่องของผู้คนรอบตัวผม ผู้คนที่ไม่ได้เป็นอาชญากรตั้งแต่ต้น แต่พวกเขาก็เริ่มก้าวเข้าไปในเส้นทางนั้นแบบไม่รู้ตัวด้วยการค่อยซึมซับเข้าไปในบ้านบางบ้าน ต่อจากนี้จะสปอยล์นะครับ คือพอลองคิดดู และหลายคนลงความเห็นกันว่า ในบ้านหลังหนึ่ง ถ้าจะพูดถึงพวกกาฝาก หรือปรสิต มันไม่ได้มีแค่ตัวเดียวหรอกครับ มันจะขยายพันธุ์มากขึ้นเรื่อยๆ หนังจึงหยิบเรื่องราวตรงจุดนี้ใส่เข้าไปอีก ต้องมีปรสิตตัวอื่นที่เข้ามาก่อนหน้า แต่ผมจะหยุดลงรายละเอียดแค่ตรงนี้นะครับ ผมอยากให้ผู้ชมไปติดตามเรื่องราวต่อเอาเองในภาพยนตร์

ผมจำเป็นต้องพิถีพิถันกับการสร้างฉากบ้านหลังนี้ครับ เพราะมันเหมือนเป็นใจความทั้งหมดของหนังเรื่องนี้ แต่ละตัวละคร มีพื้นที่ของตัวเองที่ถูกจับจองภายในบ้านหลังนี้ และมีพื้นที่ซึ่งไม่มีคนรู้ ความน่าสนใจของหนังเกิดจากการที่ตัวละครแต่ละตัวใช้พื้นที่ที่แตกต่างกันในการบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง และนั่นทำให้หนังมีจังหวะที่ชวนลุ้นน่าติดตาม

อีฮาจุน: ตอนออกแบบบ้านของตระกูลพัค สิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือตำแหน่งการถ่ายทำที่เป็นไปตามบทที่ผู้กำกับบงจุนโฮให้มา เราคุยกันเยอะมากเพื่อที่จะจัดพื้นที่ในแต่ละชั้นของบ้านจากภาพที่เขาร่างขึ้นมา ร่วมกับการเขียนบท 

ผู้กำกับบงจุนโฮ ที่ภาพฉากที่จะถ่ายทำชัดเจนอยู่ในหัวของเขาตั้งแต่ที่เขียนบท ทั้งการเคลื่อนที่ของตัวละคร จากห้องนั่งเล่นไปสวน จากชั้นล่างถึงชั้นบน จนมาถึงโต๊ะกินข้าว จากตำแหน่งโต๊ะทำให้ตัวละครมองไม่เห็นคนที่กำลังขึ้นบันได หรือตำแหน่งครัวที่สามารถเดินไปห้องใต้ดิน และทางจากห้องใต้ดินที่นำไปสู้หลุมหลบภัย รวมถึงเส้นทางจากในบ้านสู่โรงจอดรถ ทั้งหมดทั้งมวลถูกวางแผนไว้ตั้งแต่เขียนบท

บงจุนโฮ: เนื้อเรื่องทั้งหมดดำเนินไปด้วยการวางตำแหน่งตัวละครที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตัวละครนี้เดินมา อีกตัวละครต้องซ่อนที่ไหน นี่คือความสัมพันธ์ของตัวละครเรื่องนี้  และส่วนนี้เหมือนเป็นสิ่งพื้นฐานที่เราต้องคำนึงถึงในการออกแบบบ้าน

อีฮาจุน: การออกแบบพื้นที่ให้ตอบโจทย์กับตำแหน่งของตัวละครในเนื้องเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับมุมกล้อง แต่ตอนที่เราออกแบบเราได้คิดถึงมุมกล้องเช่นกัน เพื่อให้ได้เห็นภาพรวมของบ้านขณะถ่ายทำแต่ละฉากด้วย การดีไซน์บ้านหลังนี้จึงคำนึงถึงมุมกว้างและมุมที่ถ่ายเน้นเข้าไปในฉากหนึ่งมากกว่าความสูงต่ำของบ้าน เพราะฉะนั้นฉากในบ้านหลังนี้จะมีอัตราส่วนอยู่ที่ 2.35:1 

ภาพยนตร์เรื่อง “High and Low”

บงจุนโฮ : ฉากในเรื่องอาจทำให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Heaven and Hell ของ Akira Kurosawa แต่ความแตกต่างคือบ้านในเรื่องนั้นไม่ได้ซับซ้อนและแข็งแรงกว่า หนังเรื่องนั้นเล่าถึงบ้านของผู้ร่ำรวยที่ตั้งอยู่บนภูเขา ส่วนพวกอาชญากรก็อยู่ในส่วนด้านล่าง จริงๆแนวคิดในเรื่องคล้ายกับ Parasite เพราะเป็นการเล่าเรื่องระหว่างคนที่มีฐานะร่ำรวยและยากจน ยิ่งยากจนมากเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนจะได้เห็นแสงแดดส่องสว่างน้อยลงเท่านั้น เปรียบเทียบกับชีวิตของคนจนและคนรวยกับโอกาสทางสังคมก็คงเช่นเดียวกับโอกาสในการสัมผัสกับแสงแดดอันอบอุ่น เราเลยใช้การถ่ายทอดอารมณ์ผ่านมุมมองของแสงอาทิตย์ในการถ่ายทำหนังเรื่อง Parasite เราใช้แสงจริงในการถ่ายทำ ฉากทั้งบ้านของคนรวยคนจนในเรื่อง จึงถูกสร้างขึ้นมาในพื้นที่นอกอาคาร

อีฮาจุน : บ้านของตระกูลพัค เป็นฉากที่สร้างโดยคำนึงถึงทิศทางของแสงอาทิตย์ เราต้องทำฉากในพื้นที่โล่งนอกอาคาร และพิจารณาการวางหน้าต่าง ขนาดของหน้าต่าง เพื่อให้สอดรับกับทิศทางของแสงแดด และผู้กำกับภาพยังต้องการให้สอดรับกับสีภายในตัวบ้านอีกด้วย เขาต้องการให้มีแสงสาดส่อง รวมถึงรู้สึกอบอุ่นจากแสงไฟภายในบ้านจากหลอดไฟ ก่อนจะเริ่มสร้างฉาก ผมและผู้กำกับภาพไปเจอกันที่พื้นที่ถ่ายทำหลายครั้งมาก เพื่อเช็คตำแหน่งของพระอาทิตย์ในแต่ละช่วงเวลา และตัดสินใจว่าจะใช้พื้นที่ไหนในการถ่ายทำร่วมกัน

พื้นที่สวนภายในบ้านที่เหมือนกับหน้าจอโทรทัศน์ของครอบครัว

อีฮาจุน: เราไม่ได้แยกบริเวณถ่ายทำด้านนอกและด้านในออกจากกัน เราอยากทำให้บ้านออกมาดูสมบูรณ์แบบ โดยที่ทั้งสนามหญ้าหน้าบ้านและภายในบ้านสามารถมองเห็นเชื่อมต่อกัน สวนหน้าบ้านนี้เป็นเหมือนส่วนสำคัญมากอีกอย่างที่ทำให้ผู้กำกับตัดสินใจว่าต้องสร้างบ้านของตระกูลพัคขึ้นมาใหม่ ผู้กำกับบงมีตำแหน่งของตัวละครอยู่ในหัวของเขาอยู่แล้ว

บงจุนโฮ: สำหรับฉากสุดท้าย ตอนที่พ่อเดินออกไปที่สนามหญ้า ฉากนั้นเราถ่ายทำตอนแสงแดดเพียงพอ ทุกแสงในฉากคือแสดงธรรมชาติ ถ้าใช้แสงที่สร้างขึ้น มันยากมากที่จะได้อารมณ์เดียวกัน เรื่องนี้ทำให้เราพิถีพิถันในการสร้างฉากมาก เราถ่ายฉากนั้นในเวลาเช้า ตอนที่ยังมีแสงอาทิตย์มากมาย

อีฮาจุน: นี่คือเหตุผลว่าทำไมบ้านของตระกูลพัคจึงไม่มีโทรทัศน์วางไว้ที่ชั้นล่าง ผู้กำกับบงจุนโฮอธิบายว่า สถาปนิกนัมกุง ฮยอนจา เจ้าของบ้านคนก่อน สร้างชั้นล่างเพื่อที่เขาจะได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศในสวน เราเลยสร้างผนังกระจกในอัตราส่วน 2.35:1 เราอยากให้ฉากนี้ออกมาสวยงามระหว่างการถ่ายทำ

สำหรับสีภายในตัวบ้าน เราไม่ได้ใช้สีมากมายในการตกแต่งบ้านของตระกูลพัค เราเลือกใช้สีโทนเทา และสีไม้เข้ม เพื่อให้รู้สึกอบอุ่นและแตกต่างกับบรรยากาศภายนอก 

จากชั้นบนสู่เบื้องล่างที่แออัด

อีฮาจุน: บ้านของตระกูลพัคนั้นถูกตกแต่งสไตล์มินิมอล หรูหรา กว้างใหญ่ และเป็นระเบียบ ในขณะที่บ้านของกีทัก ตัวละครที่มาจากบ้านกึ่งใต้ดินซึ่งอยู่ตำกว่าระดับถนนนั้นเต็มไปด้วยของรกรุงรัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการวางโทนแสงของบ้านทั้ง 2 หลังใช้วิธีคล้ายกันคือไม่ทำให้สีใดสีหนึ่งโดดเด่นจนเกินไป ความแตกต่างของบ้านทั้ง 2 หลังใช้พื้นที่ ความกว้างและคับแคบเป็นตัวบอกสถานะ เราอยากใช้ความแตกต่าง แออัดของพื้นที่นี้ในการฉายภาพของความแตกต่างของฐานะทางสังคมของคนที่ร่ำรวยและยากจน

ถึงแม้เนื้อเรื่องจะถ่ายทอดถึงเรื่องจริงในสังคม ผู้คนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกัน แต่กลับมีสิ่งที่แตกต่างกัน เราใช้ตัวบ้านในการเล่าเรื่อง ให้ผู้ชมเห็นถึงบ้านที่ตั้งอยู่ชั้นบน และไล่ลงมาจนถึงบ้านที่อยู่ชั้นล่าง

บงจุนโฮ: ฉากที่ครอบครัวของกีทักเดินกลับบ้านท่ามกลางสายฝน พวกเขาค่อยๆเดินลงมาจากข้างบน น้ำก็ไหลลงมาจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง ในช่วงเวลาเดียวกันที่ฝนกำลังตก ผู้ร่ำรวยข้างบนไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่บ้านที่อยู่ข้างล่างนั้นกลับถูกนำท่วมไปแล้ว

อีฮาจุน: ผู้กำกับต้องการให้ผู้ชมรู้สึกถึงการเชื่อมโยงกันของผู้คนที่ร่ำรวยและยากจนผ่านการเชื่อมต่อของขั้นบันไดที่ไล่จากที่สูงลงที่ต่ำ ทิวทัศน์ของฉากในหนังค่อยๆเปลี่ยนไปเมื่อตัวละครออกจากบ้านหลังใหญ่ของตระกูลร่ำรวยสู่บ้านหลังเล็กที่น้ำฝนไหลมารวมกันในเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผมได้มีโอกาสสร้างฉากที่มีบันไดหลายขั้นมาก ระยะทางจากบ้านของพัคถึงบ้านของกีทักนั้นถือเป็นส่วนสำคัญในการเล่าเรื่องราว พวกเขาเดินลงมา ลงมาเรื่อยๆ ผมก็ต้องสร้างบันไดหลายขั้นมากสำหรับการถ่ายทำฉากนี้เช่นกัน

บงจุนโฮ: การที่ได้เห็นตัวละครก้าวเดินลงมาเรื่อยๆเป็นอีกส่วนสำคัญของหนัง และที่สำคัญกว่าคือการได้เห็นสายน้ำไหลตามมากับพวกเขาด้วย พวกคนยากจนไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย น้ำไหลมาเรื่อยๆจนท่วมบ้านของพวกเขา ผมว่าฉากนี้เป็นอีกฉากที่สะเทือนใจผู้ชม

น้ำท่วมชั้นใต้ดิน

อีฮาจุน: และนี่คือเหตุผลว่าทำไมตัวละครหลักถึงไปอาศัยอยู่บ้านใต้กิน มันมีความหมายอยู่เบื้องหลัง การอาศัยอยู่ในบ้านกึ่งใต้ดินเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตอยู่ระหว่างชั้นสูงและต่ำ การอาศัยอยู่จุดนี้ทำให้คุณมีความกลัวว่าจะตกต่ำลงไปอีก แต่อีกมุมหนึ่งก็มีกำลังใจเพราะอย่างน้อยก็ไม่ได้อยู่ในจุดต่ำสุด เป็นการแสดงถึงการแบ่งฐานะในตัวภาพยนตร์ซึ่งคนแต่ละชนชั้นแยกกันไม่ได้หรอก สุดท้ายเราจะขึ้นมาปะปนกันด้วยบันไดที่ซับซ้อนซึ่งปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เช่นกัน

ฉากในภาพยนตร์นั้นถูกทำขึ้น ถึงแม้จะมีโลเคชั่นในเกาหลีที่คล้ายคลึงกับในเรื่อง แต่เราก็ตัดสินใจสร้างฉากนี้ขึ้นเพื่อรองรับฉากน้ำท่วม และเราไม่อยากให้ผู้ชมรู้สึกว่านี่คือฉากที่สร้างขึ้น เราคิดเวลาสร้างฉากแต่ละฉากว่านี่คือตัวละครตัวหนึ่ง ตอนที่ทำบ้านกึ่งใต้ดินของกีทัก ผมบอกทีมงานว่าอย่าคิดว่าเรากำลังสร้างบ้านอยู่ แต่ให้คิดว่าทำอย่างไรบ้านหลังนี้ถึงมีเส้นเรื่องของตัวเอง

เราได้ไอเดียมากมายจากสถานที่จริงที่กำลังถูกพัฒนา และนำมาสร้างก้อนอิฐในการทำฉากของเราเอง ในการสร้างฉาก เราต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆมากมาย ทำงานร่วมกับฝ่านศิลป์, ฉาก และอุปกรณ์ตกแต่งฉาก เราเดินทางไปทั่วเพื่อประตู, หน้าต่างบานเลื่อน, หน้าต่าง, ท่อดูดควัน สายไฟ และใช้เวลาเยอะมากในการขออนุญาต เพื่อที่จะได้ใช้มัน และพอเราวางมันลงไปในฉาก มันก็คืองานดีไซน์อีกผลงานหนึ่ง

มีเหตุการณ์หนึ่งที่เราต้องปรับเปลี่ยนดีไซน์ เพราะขนาดประตูไม่เหมือนที่วางไว้ในตอนแรก และผลลัพธ์จากเรื่องนี้คือเราต้องสร้างฉากใหม่ทั้งหมดในพื้นที่อื่น ลองคิดว่าถ้าคุณอยู่บ้านหลังเดิมมาเป็น 10 ปี บ้านก็จะถูกต่อเติม และเปลี่ยนไปไม่เหมือนกับที่เคยเป็น เพราะฉะนั้นฉากนี้จึงได้ถูกสร้างเพิ่มขึ้นตลอด จนสุดท้ายกลายมาเป็นอีกฉากที่เต็มไปด้วยรายละเอียดของภาพยนตร์เรื่องนี้

...และห้องน้ำ

อีฮาจุน: ห้องน้ำเป็นไปตามที่เขียนในบทของผู้กำกับบงจุนโฮเลย ผมจำได้เลยว่าในสคริปต์เขียนว่า วิหารโถส้วม ในเกาหลีเราเรียกห้องน้ำในบ้านที่อยู่ชั้นกึ่งใต้ดินว่าแบบนั้น เมื่อพิจารณารวมกับมุมกล้องและขนาดของสัดส่วนของฉากในเรื่อง เราเลยคิดว่าโถส้วมควรอยู่ติดกับเพดานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมเคยอาศัยอยู่ในบ้านกึ่งชั้นใต้ดินอยู่ช่วงหนึ่ง ผมคิดถึงช่วงเวลานั้นตอนร่างฉาก ผมยังจำได้เลยว่าเคยบ่นเรื่องรา และห้องน้ำว่ายังไง และผมพบว่าผมได้ดีไซน์ฉากในหนังออกมาเหมือนกับสถานที่ที่ผมเคยอยู่ในตอนนั้นเลย

 

ที่มา  https://www.indiewire.com

แปลโดย  http://popcornfor2.com

 

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X