“หวัดยุคใหม่” หายได้ต้องใช้ยา?
2014-10-20 15:27:15
Advertisement
Pyramid Game

        ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยามที่ลูก หรือสมาชิกในครอบครัวไม่สบาย ปวดหัวตัวร้อน มีน้ำมูก รวมถึงมีอาการไอ คนเป็นหัวหน้าครอบครัวอย่างพ่อแม่มักไม่นิ่งนอนใจ ส่วนใหญ่จะรีบพาไปพบแพทย์แผนปัจจุบันโดยด่วน ซึ่งแน่นอนว่า กว่าจะได้กลับบ้าน หลายครอบครัวมักมีของแถมเป็นยาถุงใหญ่ ทั้งยาแก้ปวด ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ยาลดไข้
       ดีไม่ดียังได้รับยาแก้อักเสบมาด้วย

       
       นอกจากรับยาแล้ว คำถามว่าลูกเป็นอะไร ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามยอดฮิตที่คนเป็นพ่อแม่ต้องการทราบคำตอบ ซึ่งหากเป็นชื่อโรคที่ร้ายแรง คุณพ่อคุณแม่คงรู้สึกสบายใจมากขึ้นที่ลูกได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ถ้าหากคำตอบของโรคที่เด็กเป็นคือ “โรคหวัด” แล้วล่ะก็ การได้รับยาถุงใหญ่ที่มียาสารพัดชนิดตามที่ปรากฏข้างต้นอาจเป็นเรื่องน่ากังวลใจสำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในแวดวงสาธารณสุขเลยก็เป็นได้
       
       ที่รักษาโรค...ใช่ยาหรือเปล่านะ?
       
       ความจริงอีกด้านของกรณีนี้ คุณหมอทะสึโอะ โยชิซากิ กุมารแพทย์ชาวญี่ปุ่น โรงพยาบาลชินเซไคโทยามา ผู้เขียนหนังสือ “Happy Advice รู้ก่อนหายไว ฉบับโรคภัยไข้เจ็บในเด็ก” ได้กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “สิ่งที่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ทราบไว้แรกสุดคือ ยาจำพวก ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก ยาละลายเสมหะ ฯลฯ ไม่ได้รักษาโรคหวัดหรือย่นระยะเวลารักษาแต่อย่างใด เพียงบรรเทาอาการต่างๆ อย่างเช่น ไอ มีน้ำมูก หรือมีเสมหะ เท่านั้น” 
       
       อย่างไรก็ดี เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคหวัดจำนวนหนึ่งคุ้นเคยกับการไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และได้รับยาต่างๆ เช่น ยาแก้ไอ ยาลดไข้ ยาแก้หวัดคัดจมูก บางรายอาจได้รับยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบกลับมาเพื่อรักษาอาการต่างๆ โดยเชื่อว่าการทำเช่นนั้นคือการรักษาที่ถูกวิธีที่สุดแล้ว แต่ถ้าหากลองนึกย้อนถึงการป่วยด้วยโรคหวัดเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายคนรวมทั้งทีมงาน Life & Family หายจากไข้หวัดโดยการดื่มน้ำมากๆ นอนพักผ่อนเยอะๆ และมีคุณพ่อคุณแม่เช็ดตัวให้อย่างทะนุถนอม สอดคล้องกับคำตอบของคุณหมอทะสึโอะที่ระบุไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าวอย่างชัดเจนว่า ยาที่แก้หวัดโดยตรงนั้นไม่มี!
       
        “ยาที่แก้หวัดโดยตรงไม่มีหรอกครับ เพราะฉะนั้นถึงจะกินยาพวกนี้ก็ไม่ได้ทำให้หายไข้ หรือย่นระยะเวลารักษาลงครับ วิธีคิดที่ว่า “พอมีไข้ก็ให้ยาปฏิชีวนะ” เป็นแผลก็ต้องให้สารต้านจุลชีพนั้นไม่ค่อยจะมีผลดี กลับดูจะมีผลร้ายเสียมากกว่า ส่วนแนวคิดที่ว่า “เอาเป็นว่าจ่ายยาปฏิชีวนะไว้ก่อน” นั้นเป็นความคิดที่โบราณ สมัยนี้มีน้อยลงทุกที นอกจากนี้ สาเหตุของไข้หวัดกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ว่ากันว่ามาจากไวรัส และยาปฏิชีวนะนั้นก็ใช้ไม่ได้ผลกับไวรัส ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่ค่อยนิยมความคิดที่ว่า เป็นหวัดแล้วให้ยาปฏิชีวนะทันที” 
       
       รู้จักยาปฏิชีวนะกันสักหน่อย
       
       อ้างอิงจากหนังสือ Happy Advice รู้ก่อนหายไว ฉบับโรคภัยไข้เจ็บในเด็ก คุณหมอทะสึโอะกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ยาปฏิชีวนะ=ยาต้านจุลชีพ=สารต้านจุลชีพ แม้คำศัพท์จะต่างกันแต่ก็คือสิ่งเดียวกัน แต่ถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่านั้น ยาปฏิชีวนะครอบคลุมกว้างกว่ายาต้านจุลชีพและสารต้านจุลชีพครับ ยาต้านจุลชีพเป็นยาที่ใช้ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย ซึ่งไม่เพียงฆ่าเชื้อแบคทีเรียฝ่ายร้ายเท่านั้น แต่มักฆ่าแบคทีเรียฝ่ายดีที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเราไปด้วย มีแบคทีเรียฝ่ายดีมากมายอาศัยอยู่ในจมูก คอ ผิวหนัง ลำไส้ ฯลฯ (เรียกว่าแบคทีเรียประจำถิ่น) คอยทำหน้าที่สำคัญ ป้องกันไม่ให้ไวรัสและแบคทีเรียบุกรุกเข้ามาได้ ยาต้านจุลชีพจะส่งผลกระทบถึงแบคทีเรียประจำถิ่นด้วย”
       
       ประโยคด้านบนอาจทำให้ผู้ที่พึ่งพิงการใช้ยาในการรักษาโรคห่อเหี่ยวใจ แต่อย่าลืมว่า สิ่งที่เรียกว่าร่างกายของมนุษย์นั้นก็มีพลังตามธรรมชาติที่สามารถต่อกรกับโรคหวัดได้เช่นกัน นั่นก็คือ อาการมีไข้ มีน้ำมูก ไอ ท้องเสีย อาเจียน นั่นเอง


       “การมีไข้ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายเพื่อจะได้ต่อสู้กับสาเหตุของโรค (ไวรัสและแบคทีเรีย) อย่างได้เปรียบ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ไวรัสและแบคทีเรียก็จะทำงานยากขึ้น”
       
       พร้อมกันนี้ คุณหมอยังได้ยกตัวอย่างกรณีการรักษาของประเทศญี่ปุ่นด้วยว่า “เทียบกับประเทศอื่นแล้ว ที่ญี่ปุ่น อะไรๆ ก็หันหน้าพึ่งยา หรือจะบอกว่าผู้คนมีแนวโน้มสูงที่หวังจะพึ่งพายามากจนเกินไปก็ได้ ถ้าเป็นผู้ใหญ่มีงานนอกบ้านในบ้านต้องทำ อาจจะต้องกินยาเพื่อจะให้ทำงานได้ แต่สำหรับเด็กเล็กให้นอนพักผ่อนที่บ้านคือวิธีที่ดีที่สุด กุมารแพทย์หลายคนพูดว่า เราไม่ได้รักษาเด็ก แค่ช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยเพื่อสนับสนุนพลังของเด็กที่พยายามจะหายด้วยตัวเอง (พลังรักษาตัวเองโดยธรรมชาติ) จึงอาจกล่าวได้ว่า พลังรักษาตัวเองโดยธรรมชาติต่อพลังจากยาคือ 9 ต่อ 1” 
       
       นอกจากนี้ นายแพทย์ทะสึโอะ โยชิซากิ ยังเผยกับทีมงาน Life & Family ด้วยว่า ความเข้าใจที่ผิดพลาดของพ่อแม่เกี่ยวกับการรักษาอาการหวัดในเด็กนั้นยังคงปรากฏอยู่ในญี่ปุ่น โดยความเชื่อว่าการรักษาโดยใช้ยานั้นยังคงมีอิทธิพลต่อพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมาก แต่ในฐานะแพทย์แล้ว เขาเชื่อว่า จำนวนของพ่อแม่ที่มีความเข้าใจ และตระหนักถึงความจริงที่ว่า การรักษาโรคหวัดนั้นสามารถรักษาได้ด้วยพลังของตัวเองตามธรรมชาติก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี
       
       “อยากให้คุณแม่เข้าใจว่า แผนกเด็กเป็นที่ตรวจเด็กๆ ดูว่ามีอาการอะไรของโรคที่รุนแรงหรือไม่น่ะครับ นอกจากนี้การให้เด็กเล็กกินยา ก็มีผลเสียมากกว่าผลดีเสียอีก ที่จริง เด็กๆ หายได้ด้วยพลังของตัวเอง เชื่อในพลังของเด็กๆ เถอะครับ”
       
       หันกลับมาที่ประเทศไทย แม้ว่าภาพของขวดยา 4 ขวดที่ปรากฏด้านบนของบทความอาจเป็นอีกหนึ่งคำตอบของการเดินทางไปพบกุมารแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อรับการรักษาอาการหวัดในเด็กเล็ก แต่จากความจริงอีกด้านที่วงการแพทย์ในญี่ปุ่นยอมรับ และมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางกับการเชื่อมั่นในพลังการฟื้นตัวตามธรรมชาติของเด็ก การค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับ “โรคหวัด” ให้มากขึ้น อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับพ่อแม่ชาวไทยยุคนี้ก็เป็นได้


ที่มา  http://www.manager.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X