แม่อายุมากเสี่ยง"ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด"
2014-09-21 14:44:26
Advertisement
Pyramid Game

       ว่าที่คุณแม่ท่านใดที่มีลักษณะของ "สาวแกร่งแรงเกินร้อย" ทั้งการศึกษาสูง งานเด่น ครอบครัวพร้อม และอายุมาก ควรระวังการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเอาไว้ให้มาก ๆ ค่ะ เพราะมีการวิจัยพบว่า คุณแม่คนเก่งกลุ่มนี้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดสูงกว่าคุณแม่กลุ่มที่ใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ นั่นเอง
       
       งานวิจัยนี้มาจากมหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ ที่ระบุว่า ในกลุ่มคุณแม่มือใหม่ที่มีอายุมากนั้น เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดสูง เพราะพวกเธอเคยชินกับการควบคุมทุกอย่างในชีวิต พวกเธอมีระเบียบวินัย จบการศึกษาสูง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่เมื่อมีบุตร เมื่อนั้นเธอจะรู้ถึงความจริงว่า เธอไม่สามารถควบคุมชีวิตที่ให้กำเนิดขึ้นมาได้อย่างที่หวังไว้เลย เพราะเด็กทารกสามารถร้องลั่นได้ตลอดเวลา การจะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ก็ต้องปรับตัวให้สามารถยืดหยุ่นกับทุก ๆ อย่างเท่านั้นเอง
       
       นั่นจึงมีคุณแม่หลายคนที่ทีมวิจัยสำรวจพบว่า พวกเธอรู้สึกแย่อย่างมากเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้ ยกตัวอย่างการวางแผน และความผิดหวังที่ไม่ได้เป็นไปตามแผน เช่น แม่บางส่วนตั้งใจจะคลอดธรรมชาติ แต่สุดท้ายไม่สามารถคลอดเองได้ แพทย์จึงทำการผ่าตัดให้ นั่นทำให้พวกเธอรู้สึกว่าไม่เป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้ และรู้สึกแย่กับตัวเองที่ไม่สามารถให้กำเนิดลูกได้ดังหวัง เป็นต้น นอกจากนั้น การให้นมบุตรก็เช่นกัน เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่มองว่า การให้ลูกดูดนมจากเต้านั้นดีกว่าการให้ดื่มจากขวด แรงกดดันจึงตกที่แม่ที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ
       
       การวิจัยนี้มีแม่เข้าร่วมการทั้งสิ้น 350 ราย และมีการสัมภาษณ์เชิงลึกอีก 12 ราย ทั้งหมดเป็นแม่มือใหม่ โดยในจำนวนนี้พบว่ามี 16.5 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดภาวะซึมเศร้าภายใน 6 เดือนหลังให้กำเนิดทารกน้อย
       
       นอกจากนั้นงานวิจัยระบุว่า แม่ที่สามารถปรับเปลี่ยนอารมณ์ให้สบาย ๆ กับการเป็นแม่ได้นั้น จะสามารถรับมือกับความท้าทายในการเลี้ยงลูกได้ดีกว่า
       
       ดังนั้น ในกลุ่มแม่มือใหม่นี้ จึงต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งด้านอารมณ์และการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ รวมถึงการให้กำลังใจ การให้ความเข้าใจ กับสิ่งที่เธอเป็นจากคู่ชีวิต เช่น หากเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นมา (อยู่ดี ๆ ก็ร้องไห้ หรือรู้สึกสิ้นหวัง เศร้า) คุณพ่อควรให้ความเข้าใจ และเข้ามาช่วยเหลือ พูดคุย ให้กำลังใจ 
       
       นอกจากนั้น การวิจัยนี้ยังพบว่า ผู้หญิงกลุ่มนี้ก็มักไม่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเสียด้วย ดังนั้น หากว่าที่คุณแม่ท่านใดเข้าข่ายนี้ การปรับใจ เตรียมใจให้สบาย ๆ ไม่ตั้งความหวัง หรือเครียดเกินไปกับการเลี้ยงลูกก็สามารถช่วยได้ค่ะ เพราะการมีลูกต้องการการยืดหยุ่น และการทำใจให้มีความสุขไปแบบทีละวัน ๆ ไม่สามารถคาดหวังถึงความสุขแบบล่วงหน้าได้เลย


ที่มา  http://www.manager.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X