แม่ท้อง...ระวังกล้ามเนื้ออ่อนแรง
2014-04-17 05:16:20
Advertisement
คลิก!!!


แม่ท้อง...ระวังกล้ามเนื้ออ่อนแรง (รักลูก)
เรื่อง : เกื้อกูล

ไม่นานมานี้เราได้ยินเกี่ยวกับข่าวนักแสดงท่านหนึ่งป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งคุณแม่หลายคนคงสงสัยและกังวลกันอยู่ไม่น้อย ว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และตนเองจะมีโอกาสเสี่ยงมั้ย

กล้ามเนื้ออ่อนแรงคือ...

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ Myasthenia gravis เป็นโรคที่มักเกิดกับกล้ามเนื้อเล็ก ๆ บริเวณใบหน้า โดยมีการทำงานสื่อสารกันระหว่างเส้นประสาท และกล้ามเนื้อลายผิดปกติ อันเนื่องมาจากภาวะที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายตัวรับสัญญาณเส้นประสาทบนกล้ามเนื้อ ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้ จึงส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ในที่สุด

โดยอาการเริ่มต้นที่สามารถสังเกตได้คือ หนังตาตกกลืนอาหารลำบาก พูดไม่ชัดไปจนถึงยกแขนขาไม่ขึ้นและกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วร่างกาย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เมื่อเกิดอาการรุนแรงมาก ๆ ก็อาจส่งผลต่อการหายใจและทรวงอกได้

โดยอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยมักเป็น ๆ หาย ๆ และอาการจะแสดงออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของผู้ป่วยด้วย ขณะเดียวกันปัจจัยที่ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อ เป็นไข้ อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป ความเครียด การออกกำลังกายหรือการออกแรงที่มากเกินพอดี มีโรคเกี่ยวกับไทรอยด์ หรือการตั้งครรภ์ เป็นต้น

กล้ามเนื้ออ่อนแรงกับการตั้งครรภ์

โดยทั่วไปอัตราการเกิดของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Myasthenia gravis นี้ จะมีไม่มากนัก พบได้ตั้งแต่เด็กเล็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ และในวัยทำงานช่วง 20-40 ปี จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 3:2 เท่า ดังนั้นถ้าหากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของคุณแม่ไม่มีความผิดปกติ และญาติพี่น้องไม่ได้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โอกาสที่จะเกิดกับคุณแม่นั้นก็มีน้อยมากเช่นกันค่ะ

แต่ในทางกลับกัน เมื่อใดก็ตามที่แพทย์วินิจฉัยว่าคุณแม่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อนั้นคุณแม่จะต้องระมัดระวังและดูแลตนเองเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากคุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้นมักจะมีโอกาสอ่อนเพลียและเหน็ดเหนื่อยง่ายกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ตั้งครรภ์เป็นเท่าตัว

เพราะฉะนั้น จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ค่อย ๆ กิน เพราะการเคี้ยวอาหารคำโตอาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อปากได้ ไม่ควรออกกำลังกายหนัก ๆ หรือทำงานหักโหมจนเกินไป หรือแม้แต่ในบริเวณบ้านก็ควรมีที่ให้ยึดจับ เพื่อช่วยพยุงตัวคุณแม่และจะได้ไม่ต้องออกแรงมากเกินไป ที่สำคัญต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัดด้วยค่ะ

เพราะในการรักษาโรคนั้น คุณหมอจะใช้ยาด้านการทำลายตัวรับสัญญาณเส้นประสาทเป็นหลัก ซึ่งจะไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อลูก แต่คุณแม่ต้องกินยาอยู่ไม่ขาด เพื่อลดความรุนแรงของอาการที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากคุณแม่อาจช็อก หมดสติ เพราะหัวใจล้มเหลวก็เป็นได้

และถึงแม้ว่าโรคนี้จะป้องกันไม่ได้ แต่ถ้าคุณแม่รู้ตัวก่อนตั้งครรภ์ก็จะช่วยเตรียมความพร้อมและรับมือกับโรค เมื่อเกิดอาการได้ทันท่วงที

แม่ป่วย ลูกจะป่วยด้วย ?

เนื่องจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Myasthenia gravis เป็นแอนติบอดี้ที่ไม่ดีในร่างกาย เมื่อคุณแม่ป่วยลูกก็จะได้แอนติบอดี้จากแม่ด้วย แม้ว่าลูกจะไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้ก็ตาม แต่ก็จะได้รับผลกระทบเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อ และระบบหายใจที่อาจมีปัญหาหลังคลอดซึ่งแพทย์จะเฝ้าระวังและดูแลอาการอย่างใกล้ชิด ประมาณ 3-4 สัปดาห์ อาการที่เป็นก็จะค่อย ๆ หายขาดไปเองค่ะ

ทราบอย่างนี้แล้ว ก็ต้องหมั่นดูแลตัวเองให้ดี กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่เครียดจนเกินไป พักผ่อนให้เพียงพอ และไปพบคุณหมอตามนัดทุกครั้งนะคะ

ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X