แต่งตั้งโยกย้าย สธ.ต้องเป็นธรรม ไม่ก่อขัดแย้งแบบยุคขิงแก่
2014-09-19 08:34:34
Advertisement
คลิก!!!

       ช่วงนี้หลายฝ่ายคงกำลังจับตาว่า ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ซึ่งขณะนี้ควบตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล จะตัดสินใจอย่างไร หลังจากสภามหาวิทยาลัยมหิดลมีมติให้ ศ.นพ.รัชตะ เลือกเพียงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ว่า ศ.นพ.รัชตะ จะตัดสินใจอย่างไร จะอยู่หรือจะไปจาก สธ.คงไม่มีผลกระทบใดต่อการดำเนินงานของ สธ.มากนัก
       
       โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ สธ. ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่ ศ.นพ.รัชตะ ประกาศไว้วันเข้ารับตำแหน่งคือจะต้องดำเนินการอย่างมีธรรมาภิบาล แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อออกมาก็ตามว่าจะมีการโยกย้ายใครไปนั่งในตำแหน่งใด โดยเฉพาะตำแหน่งรองปลัด สธ. ซึ่งจะว่างลงจากการเกษียณอายุราชการของ นพ.ทรงยศ ชัยชนะ เพราะมีข่าวลือว่ามีฝ่ายการเมืองต้องการแต่งตั้งรองอธิบดีซึ่งอยู่ระดับ ซี9 ขึ้นมานั่งในตำแหน่งรองปลัด สธ.ดังกล่าวซึ่งอยู่ระดับซี 10 ซึ่งผิดธรรมเนียมปฏิบัติ
       
       เพราะตามปกติจะต้องมีการเลื่อนผู้ตรวจราชการขึ้นมาเป็นแทน หรือบางครั้งก็อาจมีการเด้งอธิบดีกรมต่างๆ ที่อยู่ในระดับซี 10 เหมือนกันมารับในตำแหน่งนี้ เรียกได้ว่าก่อนที่รองอธิบดีกรมจะขึ้นมาเป็นรองปลัด สธ. ควรต้องผ่านตำแหน่งผู้ตรวจราชการก่อน ซึ่งครั้งนี้หากมีการโยกย้ายตามกระแสข่าวจริงก็เท่ากับเป็นการข้ามหัวรุ่นพี่ซี 10 อีกกว่า 20 คน ที่สามารถขึ้นมาดำรงตำแหน่งใด ตรงนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการโยกย้ายอย่างมีธรรมาภิบาล

        ซึ่งกรณีเช่นนี้เคยมีการเกิดขึ้นมาแล้วในยุคสมัย นพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สาธารณสุข เมื่อปี 2549-2551 หรือยุครัฐบาลขิงแก่ ที่มีการออกคำสั่ง สธ.ที่ 248/2550 ลงวันที่ 14 มี.ค. 2550 แต่งตั้งให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมควบคุมโรค (นักบริหาร 9) ไปดำรงตำแหน่งรองปลัด สธ. กลุ่มภารกิจด้านการพัฒนาการสาธารณสุข (นักบริหาร 10) ลงนามโดย นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัด สธ.ในยุคนั้น แต่เนื่องจาก นพ.ณรงค์ ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งโดยให้เหตุผลว่าผิดธรรมเนียมและข้ามรุ่น จึงยุติชนวนความขัดแย้งแตกแยกได้ โดยภายหลังมีการออกคำสั่งเลขที่ 370/2550 ลงนามโดย นพ.ปราชญ์ ให้ นพ.ณรงค์ ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการเขต 8 ในที่สุด
       
       โดยล่าสุด นพ.มงคล ณ สงขลา ได้มีการโพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะไม่เคยคิดให้ นพ.ณรงค์ ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมควบคุมโรคในสมัยนั้นไปเป็นรองปลัด สธ.แต่อย่างใด แต่แต่งตั้งให้ไปเป็นผู้ตรวจราชการ สธ.ที่ภาคใต้ เนื่องจากต้องการคนสู้งาน ทำงานยากๆ ซึ่งขณะนั้นตนได้ลงภาคใต้เป็นประจำ เพราะปัญหามีมากกว่าทุกภาค
       
       อย่างไรก็ตาม แม้กรณีดังกล่าว นพ.มงคล ไม่ได้เป็นคนสั่งแต่งตั้งโยกย้ายที่ผิดธรรมาภิบาล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นช่วงที่เกิดขึ้นในยุคที่ตนเองเป็น รมว.สาธารณสุข ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ในปี 2549 ยังมีการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นที่สุดคือ กรณีการแต่งตั้ง นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ให้มารับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งถือเป็นการข้ามห้วยและผิดธรรมเนียม เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงฯ เป็นเพียงรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เท่านั้น ยังไม่เคยแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจราชการ แต่กลับมีการแต่งตั้งให้มาเป็นเลขาธิการ อย. ซึ่งอยู่ในระดับซี 10 เทียบเท่าอธิบดีกรม
       
       เพราะตามธรรมเนียมของกระทรวงสาธารณสุขนั้นจะต้องไปเป็นผู้ตรวจราชการก่อน จึงจะมาเป็นอธิบดีกรม เนื่องจากมีการหารือและตั้งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมานานแล้วว่าควรไปเป็นผู้ตรวจราชการก่อน เพื่อรับรู้และเข้าใจปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ก่อนที่จะมาเป็นผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งหากมีการแต่งตั้งเช่นนี้ก็ถือว่าผิดหลักเกณฑ์ และเป็นการข้ามหัวรุ่นพี่จำนวนมาก และเป็นชนวนก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในกระทรวงฯ แม้สุดท้าย นพ.ศิริวัฒน์ จะแสดงความเก่งกาจ สามารถเป็นประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายาจำเป็นที่มีสิทธิบัตร ในการเจรจาลดราคายารักษาโรคมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งทางเดินอาหาร กับบริษัท ซาโนฟี บริษัท โนวาตีส และบริษัท โรช ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรได้ก็ตาม
       
       หากการแต่งตั้งครั้งนี้มีการข้ามหัวเช่นนี้อีกก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นเช่นในอดีต ซึ่งทางประชาคมสาธารณสุข มีการลงมติชัดเจนแล้วว่า 1. การแต่งตั้งโยกย้ายต้องดำเนินการตามกรอบกติกา ที่มีธรรมาภิบาลและระบบคุณธรรมตามระเบียบและประเพณีปฏิบัติของกระทรวง 2. กระบวนการคัดเลือกแต่งตั้งต้องเปิดเผยโปร่งใส เปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และ 3. ผลการแต่งตั้งโยกย้ายต้องเป็นไปเพื่อก่อให้เกิดเอกภาพ ในการอภิบาลงานสาธารณสุขให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน โดยไม่เลือกพวกพ้อง
       
       พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวไว้ว่า ขณะนี้ประชาคมมีความกังวลใจในการแต่งตั้งโยกย้ายทุกตำแหน่ง เพราะมีข่าวลือว่าจะมีการแต่งตั้งที่จะทำให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งในกระทรวง จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำตามกติกา!!

ที่มา  http://www.manager.co.th/

.



Latest





เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “นโยบายการใช้คุกกี้”   ยอมรับ   นโยบายการใช้คุกกี้ X